3 กูรูเศรษฐกิจฟันธง ปี’63 ‘วิบากกรรม’ ท่องเที่ยวไทย

ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ยากที่จะคาดการณ์ได้จริง ๆ สำหรับปรากฏการณ์ของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ แต่ที่แน่นอนคือ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากทั้งระบบ 

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมความเห็นจาก 3 กูรูด้านเศรษฐกิจการเงินถึงผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า รวมถึงชี้ทางออกให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวไว้ดังนี้ 

โคโรน่าทุบ GDP เหลือ 1.3%

“ดร.ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า หลายฝ่ายมองว่า ปีนี้จะเป็นปีแห่ง “วิบากกรรม” ของเศรษฐกิจไทย และทำให้โอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่คาดว่าจะมีผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือ วิกฤตภัยแล้ง ที่กระทบภาคการเกษตร และความล่าช้าของงบประมาณภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม มองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไวรัสไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับการประมาณการของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่คาดว่าผลกระทบไทยจะสูญเสียนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน และรายได้หายไป 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 1.5% ของ GDP และอาจจะทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ไทยลดจากที่คาดไว้ 2.8% เมื่อตอนต้นปี เหลือ 1.3% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ของ ธปท.ไม่ร้ายแรงเท่ากับตัวเลขของกระทรวง

หนักกว่าโรคซาร์ส

“ดร.ดอน” บอกด้วยว่า หากดูจากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงต้นปีเห็นชัดเจนว่า ก่อนจะเข้าสู่ช่วงตรุษจีนจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเติบโตจากปีก่อนอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากสถานการณ์ไวรัสในจีนเริ่มรุนแรงขึ้น ไทยก็ได้รับผลกระทบทันที

“ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวจีนราว 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และจีนยังครองตำแหน่งคู่ค้าอันดับ 1 ของภาคการส่งออกไทยอีกด้วย โดยที่ผ่านมารายได้จากการท่องเที่ยวไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.9 ล้านล้านบาท และสร้างการจ้างงานมากกว่า 19.1% ของการจ้างงานทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ หากเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับวิกฤตโรคซาร์ส เมื่อปี 2546 ถือว่ามีข้อแตกต่างค่อนข้างมาก เนื่องจากขณะนี้ไทยมีหนี้ครัวเรือนสะสมมากกว่า 80% ของ GDP ทำให้ภาคครัวเรือนมีกันชนน้อยมาก ในขณะที่ภาครัฐมีหนี้สาธารณะต่ำกว่าในอดีตก็จริง แต่ภาครัฐที่มีกำลังในการส่งความช่วยเหลือไปยังภาคส่วนอื่นได้มากที่สุดกลับไม่สามารถนำงบประมาณออกมาใช้ได้

รักษาสภาพคล่องเอกชน

ดังนั้นจึงมองว่าการรักษาสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากพร้อมทั้งย้ำว่า การก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้จำเป็นจะต้องอาศัยนโยบายหลายด้าน ทั้งนโยบายการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประกอบการ มาตรการด้านการคลัง อย่างการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เลื่อนการจ่ายภาษีและประกันสังคม รวมถึง
กระตุ้นการออกเดินทางสัมมนาของภาครัฐ รวมถึงมาตรการสถาบันการเงินให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยพักชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนั้นยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยมาตรการด้านสาธารณสุข สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศด้วย

แนะทบทวนอนาคตเที่ยวไทย

“ดร.ดอน” กล่าวว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้อาจจะถึงเวลาที่ไทยจะต้องพิจารณาเรื่องสำคัญ 2-3 เรื่อง คือ 1.ประเมินว่าไทยพึ่งพาตลาดจีนมากเกินไปหรือไม่ และถึงเวลาที่จะต้องเพิ่มความยั่งยืนให้การท่องเที่ยวด้วยการปรับสมดุลความหลากหลายของสัญชาตินักท่องเที่ยวหรือยัง

2.ควรใช้เวลานี้ทำการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และ 3.กระจายแหล่งท่องเที่ยวออกไปสู่เมืองรองอื่น ๆ

“ผมมองว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหนักจากผลกระทบของไวรัส เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย และเรายังไม่ทราบว่าสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไร” ดร.ดอนย้ำ

เชื่อจีนพยุง GDP ได้เกิน 5%

 “สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิชาการอิสระ ระบุว่า ในช่วงเริ่มต้นปี 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของ GDP ในหลายประเทศ อาทิ จีน เติบโต 6% อเมริกา เติบโต 1-2% ฯลฯ แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกเผชิญกับวิกฤตไวรัสโคโรน่า ทำให้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกต่อไปจะเป็นอย่างไร แม้ว่าหลายภาคส่วนคาดว่าน่าจะยุติไวรัสได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และกลับเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด

“ผลกระทบของไวรัสส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าในปีที่มีการแพร่ระบาดของซาร์ส เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนใน GDP โลกเพิ่มจาก 4.2% มาเป็น 14.3% อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะพยุง GDP ในปีนี้ให้ขยายตัวได้กว่า 5%”

หวังงบประมาณรัฐหนุน

สำหรับเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาจีนอย่างมากจะได้รับผลกระทบทั้งภาคการ
ท่องเที่ยวและการส่งออก โดยคาดว่าภาคการส่งออกของไทยน่าจะติดลบ 2-4% และภาคการท่องเที่ยวของไทยก็อาจจะติดลบราว 9% ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐที่เตรียมจะปล่อยออกมามากกว่า 3.2 ล้านล้านบาท ทำให้คาดว่าปี 2563 นี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวราว 2-2.2%

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวนั้นประเมินว่า เหตุการณ์น่าจะคลี่คลายภายในเดือนมิถุนายนนี้ สิ่งสำคัญคือต้องปรับมุมมองของนักท่องเที่ยวให้เห็นว่าสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ

โดยคาดว่าประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ อาทิ อินเดีย รัสเซีย บราซิล ฯลฯ และกลุ่มประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าอย่าง ตะวันออกกลาง อเมริกา และยุโรป จะเป็นตลาดศักยภาพที่ช่วยหนุนภาคท่องเที่ยวของไทยได้ 

ชี้ “ช็อปปิ้ง-โรงแรม” หนัก

ด้าน “รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า สูงที่สุดเคียงข้างสิงคโปร์ เนื่องจากไทยพึ่งพาทั้งนักท่องเที่ยวจีนและตลาดส่งออกจีน จึงฟันธงว่าไวรัสโคโรน่านี้จะส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าโรคซาร์ส ในปี 2546 ที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจและสัดส่วนต่อ GDP โลก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกน้อยกว่านี้

“คาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวโดยรวมหายไปอย่างน้อย 0.5-1% ส่งผลให้รายได้ทางการท่องเที่ยวไทยหดตัวประมาณ 4.1-8.2% คิดเป็นมูลค่าราว 75,000-150,000 ล้านบาท โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคใต้ และภาคตะวันออก”

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากที่สุด คือ ธุรกิจช็อปปิ้ง โรงแรม และอาหารเครื่องดื่ม รวมถึงจะทำให้การจ้างงานหายไป ประมาณ 0.5-1% ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ประมาณ 180,000-500,000 คน


และเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะกระทบต่อ GDP ราว 0.5-1% คิดเป็นมูลค่า 79,300-238,000 ล้านบาท และกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมตั้งแต่กลุ่มท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคการเกษตรด้วย