ท่องเที่ยวอันดามันร้อง‘บิ๊กตู่’ ขอ75,000ล้านเยียวยาโควิดเพิ่มเติม

ทะเลกระบี่
Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP

12 องค์กรท่องเที่ยวอันดามัน-อ่าวไทย ร้อง “บิ๊กตู่” ยื่นมาตรการเยี่ยวยาผลกระทบโควิด-19 เป็นการเพิ่มเติม ชูขอขยายจ่ายเงินประกันสังคมจากเหตุสุดวิสัยเป็น 200 วัน พร้อมขอสินเชื่อท่องเที่ยวเพิ่ม 75,000 ล้านบาท ยกเว้นเก็บภาษีที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างออกไปอีก 2 ปี ด้านผู้ประกอบการภูเก็ตคาดถึงสิ้นปีท่องเที่ยวภูเก็ตเสียหาย 160,000 ล้านบาท วอนรีบเปิดสนามบินพร้อมขอซอฟต์โลนเป็นการเฉพาะอีก 15,000 ล้านบาท

นางสาววิชุพรรณ ภูเก้าล้วน ศรีสัญญา นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอันดามัน-อ่าวไทย 4 จังหวัด 12 องค์กร ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งสำเนาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเสนอมาตรการเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มเติม หลังจากที่มีการประเมินกันแล้วว่า นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศน่าจะกลับเข้ามาในช่วงเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอันดามัน-อ่าวไทยทั้ง 12 องค์กร ประกอบไปด้วย สภาอุตสาหกรรม
ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต-สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา-สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่-สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี-สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต-สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้-สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา-สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ฝั่งตะวันออก-สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย-สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่-สมาคมโรงแรมและการท่องเที่ยวเกาะพะงัน และสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่

สำหรับมาตรการเยี่ยวยาเพิ่มเติมจะแบ่งออกเป็น 3 มาตรการ คือ 1) ด้านแรงงานในธุรกิจโรงแรมและนำเที่ยว ขอให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินประกันสังคมร้อยละ 62% ของค่าจ้างรายวันอันเกิดจากเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19 จากไม่เกิน 90 วัน เป็นไม่เกิน 200 วัน 2) การเยียวยาด้านการเงินเพิ่มเติม ประกอบด้วย การขอขยายวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จาก 10,000 ล้านบาท เป็น 75,000 ล้านบาท, การเร่งรัดการปล่อยกู้ซอฟต์โลนของธนาคารออมสินที่ล่าช้า, การขอผ่อนปรนให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มท่องเที่ยว 100% ของวงเงินกู้, ให้ ธปท.ช่วยเหลือสินเชื่อซอฟต์โลนเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เดิมโดยมีตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้ประกอบการเป็นหลักประกัน อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 2% และมีระยะเวลาปลอดเงินต้น 12 เดือน ให้กับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบผ่านธนาคารพาณิชย์, ให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้ามาสนับสนุนทางการเงินผ่านวิธีการธุรกิจร่วมลงทุนเป็นเวลา 3 ปี ในวงเงินไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท  และขอ “ยกเว้น” การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกไป 2 ปี คือ ในปี 2563 และ 2564

ด้านนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา 11 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือขอมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเพิ่มเติม หลังจากที่มีการประเมินกันแล้วว่า ใน 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ภาคท่องเที่ยวภูเก็ตได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เกิดความเสียหายรวม 120,000 ล้านบาท และคาดว่าถึงสิ้นปี 2563 จะเกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 160,000 ล้านบาท


โดยข้อเสนอหลัก ๆ ที่ยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อาทิ ขอให้เปิดบริการท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต สำหรับเที่ยวบินในประเทศตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายนเป็นต้นไป, ค่าใช้จ่ายที่พัก อาหาร นักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ รวมไปถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ เช่น ขอวงเงินซอฟต์โลนเป็นการเฉพาะให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ภายใน 24 เดือน โดยให้ บสย.ค้ำประกันตลอดสัญญา, การขอผ่อนผันการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ออกไปถึงเดือนธันวาคม 2563, การขอยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกไป 2 ปี (2563 และ 2564) นอกจากนี้ ยังเสนอให้ใช้ “ภูเก็ตโมเดล” เป็นการบริหารจัดการคัดกรอง จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าภูเก็ต ตามความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขในจังหวัดภูเก็ตด้วย