แผนฟื้นฟูการบินไทยสะดุด ศาลนัดไต่สวนอีก 2 นัด เจ้าหนี้ทุบอีวายอ่วม

ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวน “การบินไทย” เพิ่มอีก 2 นัด วันที่ 20 และ 25 สิงหาฯ นี้ หลังเจ้าหนี้รายย่อยขยี้ “อีวาย” ขาดความน่าเชื่อถือ ด้าน “ปิยสวัสดิ์” มั่นใจอีวายมีความสามารถ แม้ไม่เคยบริหารบริษัทใหญ่ ผลตอบแทนเกิน 37 ล้านเหมาะสมแล้ว

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานจากศาลล้มละลายกลาง แจ้งวัฒนะว่าในการไต่สวนเรื่องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มต้นเมื่อเวลา 10.15 น. วานนี้ เพื่อขออนุมัติใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การบินไทยควรได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ 2.ควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอหรือไม่ ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยในเวลาราว 14.00 น. โดยศาลได้นัดไต่สวนพยานฝั่งลูกหนี้เพิ่มเติมอีก 2 ปากในวันที่ 20 และ 25 สิงหาคม 2563 นี้

โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ นายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสาเหตุที่ศาลต้องนัดไต่สวนเพิ่มเติมอีก 2 วันเนื่องจากพยานฝั่งลูกหนี้อีกสองปากยังไม่ได้ให้การต่อศาลและตอบข้อซักค้านฝั่งเจ้าหนี้ โดยนายชายจะเป็นผู้ให้ข้อมูลในส่วนของงบการเงินที่พึ่งสรุปเสร็จสิ้นในวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา

ด้านรายละเอียดการไต่สวนในวานนี้ (17 สิงหาคม 2563) มีจำนวนพยานฝั่งลูกหนี้ 3 ปาก ได้แก่ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ คณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟู และนางชุติมา ปัญจโภคากิจ กรรมการ บริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้จัดจ้างทำแผนฟื้นฟูให้กับการบินไทยฯ

ส่วนฝั่งเจ้าหนี้มีจำนวนเจ้าหนี้ผู้คัดค้านการจัดทำแผนฟื้นฟูทั้งหมด 16 ราย แบ่งเป็นเจ้าหนี้รายย่อยบัตรโดยสาร 10 ราย เจ้าหนี้บริษัทเอกชน 1 ราย เจ้าหนี้สหกรณ์วชิรพยาบาล 1 ราย เจ้าหนี้อื่นๆ อีก 3 ราย และมีบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) อีก 1 ราย 

โดยในการซักค้านพยานได้เริ่มต้นพยานปากแรกที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกรก่อน โดยคำถามซักค้านส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือ และกระบวนการในการประกวดงานของบริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้จัดจ้างทำแผนฟื้นฟูให้กับการบินไทยฯ โดยส่วนใหญ่นายชาญศิลป์ตอบว่า ไม่ทราบ ด้วยตนพึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่ง พร้อมเผยว่าอาจมีการยื่นขอฟื้นฟูใหม่อีกตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากการฟื้นฟูไม่เสร็จสิ้นตามแผนฯ

ในขณะที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หนึ่งในคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ชี้แจงว่า บริษัท อีวายฯ มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกและมีความเหมาะสมที่จะเป็นหนึ่งในผู้จัดทำแผน เนื่องด้วยมีความรู้ความสามารถแตกต่างกับคณะผู้จัดทำแผนทั้ง 6 ท่านของการบินไทยฯ แม้ไม่เคยบริหารงานหรือจัดทำแผนให้กับรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่มีรายได้หลักแสนล้านมาก่อน ส่วนตอบแทนที่จะต้องจ่ายให้บริษัท อีวายฯ นั้นแบ่งเป็นค่าจัดทำแผนฟื้นฟู 22 ล้านบาท แบ่งจ่ายเป็นงวดๆ และค่าดำเนินการเดือนละ 15 ล้านบาทที่จะต้องชำระทุกเดือนจนกว่าศาลจะเห็นชอบด้วยแผน

อย่างไรก็ตาม นายปิยสวัสดิ์ ยืนยันว่า หากแผนฟื้นฟูได้รับการเห็นชอบจะสามารถเดินหน้าได้ตามที่กำหนดไว้ ช่วยลดต้นทุนให้การบินไทย เดินหน้าเจรจาเจ้าหนี้เรื่องการชำระหนี้ซึ่งจะทำให้เราสามารถหาเงินเข้ามาบริหารจัดการได้ โดยมั่นใจว่าแผนจะสำเร็จตามที่วางไว้

เช่นเดียวกัน นางชุติมา ปัญจโภคากิจ กรรมการ บริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้จัดจ้างทำแผนฟื้นฟูให้กับการบินไทยฯ ชี้แจงว่า บริษัทฯ ผ่านการประกวดราคามาอย่างถูกต้อง รวมถึง ได้แจ้งรายละเอียดไว้ในเงื่อนไขตั้งแต่ขั้นต้นแล้วว่าจะต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน (airline expert) และบริษัทลูกหนี้ และระบุว่าประเด็นของการจัดทำแผนฟื้นฟูบริษัท สหฟาร์มฯ มีการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามที่ระบุเอาไว้ในแผนและแจ้งต่อศาลมาโดยตลอด