การบินไทย ยื่นแผนฟื้นฟูไม่แฮร์คัตหนี้ ตั้ง “ปิยสวัสดิ์-จักรกฤศฎิ์” บริหารแผน

การบินไทย-คน

เปิดแผน “การบินไทย” เตรียมระดมทุนเพิ่ม 5 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่องภายในปี’65  เผยมูลหนี้ยื่นขอชำระทั้งหมด 4.1 แสนล้าน ยันไม่แฮร์คัตหนี้   ใช้วิธียืดหนี้ พร้อมพักชำระหนี้3ปีแรก ส่วนเจ้าหนี้เช่าเครื่องบินขอจ่ายแค่เงินต้น  นัดประชุมเจ้าหนี้โหวตแผน12พ.ค.นี้   พร้อมเดินหน้าสร้างรายได้-ลดค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง พร้อมเตรียมกลับมาให้บริการเส้นทางบินทั้งยุโรป-เอเชียไตรมาส 3 ปีนี้

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 นั้น

ในวันนี้ (2 มีนาคม 2564) การบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย และมีกำหนดจะเรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อลงมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูในวันที่12 พ.ค.นี้   โดยในแผนฟื้นฟูดังกล่าวเป็นแผนการดำเนินงาน 5 ปี (2564-2568) บริษัทต้องการระดมทุนเข้ามาเป็นทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่อง 50,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปีนี้ โดยมาจากหลายช่องทาง อาทิ การเพิ่มทุน, เงินกู้, พันธมิตรใหม่ โดย 30,000 หมื่นล้านจะต้องเข้ามากลางปีนี้

สำหรับมูลหนี้ที่ยื่นขอชำระมีมูลค่ารวม 4.1 แสนล้านบาท  ส่วนมูลหนี้ที่การบินไทยยอมรับและกำหนดไว้ในแผนประมาณ 1.8-1.9 แสนล้านบาท โดยหลักการขอชำระหนี้นั้น บริษัทไม่ได้ขอตัดลดมูลค่าหนี้ (แฮร์คัต) เจ้าหนี้แต่อย่างใด โดยเลือกใช้วิธียืดหนี้ทยอยจ่ายคืน  ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน

เช่น กลุ่มหุ้นกู้ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่จะเฉลี่ยจ่ายคืน 6 ปี นับจากวันที่ครบกำหนดชำระ หรือกลุ่มผู้ให้เช่าเครื่องบิน บริษัทเจรจาขอผ่อนชำระเงินต้น และขอพักชำระหนี้ช่วง 3 ปีแรก นอกจากนี้ยังได้เปิดออปชั่นให้เจ้าหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ด้วย

“แผนที่เรายื่นวันนี้พวกเราร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา ทำกันมา 7-8 เดือน แม้รายละเอียดทั้งหมดจะไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้เป็น เพราะเราต้องเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้เยอะมาก แต่เชื่อว่าจะเป็นแผนที่ได้รับการโหวตจากเจ้าหนี้ให้ผ่านและเดินหน้าต่อได้”

นายชาญศิลป์กล่าวว่า บริษัทนับตั้งแต่การบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการทำให้ธุรกิจของการบินไทยอยู่รอด จึงมีมาตรการในการหารายได้และลดค่าใช้จ่าย อย่างเต็มศักยภาพ อาทิ การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน และธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนกลับมาให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศอีกครั้งในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยจะเปิดให้บริการทั้งเส้นทางบินสู่ภูมิภาคยุโรป อาทิ แฟรงก์เฟิร์ต, ลอนดอน, ปารีส, ซูริก, โคเปนเฮเกน และเส้นทางในภูมิภาคเอเชีย เช่น โอซากา, ฮาเนดะ, นาริตะ, โซล เป็นต้น ส่วนเส้นทางสู่จีนมีเป้าหมายที่ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้ อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งแผนดังกล่าวจะทำให้บริษัทเริ่มมีรายได้จากการให้บริการการบินในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป

ส่วนแผนการลดค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาได้เจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบินลดค่าใช้จ่ายได้ราว 40% รวมทั้งปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งมีเป้าหมายที่จะปรับลดพนักงานจากปี 2562 ที่มีประมาณ 29,000 คน ให้เหลือประมาณ 13,000-15,000 คน

รวมทั้ง ยังมีแผนในการลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจากปัจจุบันที่มี 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ และปรับลดจำนวนเครื่องบินจากปัจจุบัน 103 ลำ เหลือ 85 ลำ ภายในปี 2568

“แนวทางการปรับลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวคาดว่าจากแผนที่มีอยู่จะทำให้บริษัทสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานได้ประมาณ 50,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปีนี้ คาดจะสามารถกลับมาทำกำไรได้ภายในปี 2567”

นายชาญศิลป์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การบินไทยได้พยายามอย่างเต็มที่ในการจัดเตรียมแผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมกับเจ้าหนี้โดยในเบื้องต้น คณะผู้ทำแผนเสนอให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป