ดุสิตธานี ปรับแผนลงทุนโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ตอบโจทย์วิถีนิวนอร์มัล

“ดุสิตธานี” ประกาศเพิ่มเงินทุนในโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” อีก 4.3 พันล้าน หลังเจรจาซีพีเอ็นขยายมูลค่าโครการเป็น 4.6 หมื่นล้าน พร้อมยกระดับให้เป็นหมุดหมายของกรุงเทพฯ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่ของคนเมืองที่ต้องการความสะดวกสบาย มีความเป็นส่วนตัว ตามเป้าหมายสร้างคุณค่าเพิ่มในการใช้ชีวิตกับโครงการที่จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ใจกลางเมือง

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่มดุสิตธานี ได้ร่วมกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสมผสาน (Mixed-Use) ภายใต้ชื่อ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ล่าสุดกลุ่มดุสิตธานี และบมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ตัดสินใจร่วมกันในการเพิ่มเงินลงทุนโครงการดังกล่าวเพิ่มจากเดิม 36,700 ล้านบาทอีก 9,300 ล้านบาทเป็น 46,000 ล้านบาท

โดยกลุ่มดุสิตธานีจะเพิ่มเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการนี้จากเดิม 12,915 ล้านบาท อีก 4,335 ล้านบาทเป็น 17,250 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯได้เตรียมเงินลงทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้นและวงเงินจากสถาบันการเงินไว้เรียบร้อยแล้ว

นางศุภจีกล่าวว่าเงินทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้จะนำไปพัฒนาโครงสร้างและพื้นที่โดยรวมของโรงแรม อาคารที่พักอาศัย และโครงสร้างศูนย์การค้า ส่งผลให้พื้นที่ใช้งานโดยรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 หรือคิดเป็นพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นกว่า 70,000 ตารางเมตร ซึ่งบริษัทฯได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบและเชื่อมั่นว่าการเพื่มเงินลงทุนในครั้งนี้จะทำให้โครงการมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเสนอวาระดังกล่าวเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นจากผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 75 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

นางศุภจีกล่าวด้วยว่า การตัดสินใจเพิ่มเงินทุนครั้งนี้มาจากสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ 1. ต้องการดึงศักยภาพของสถานที่ตั้งโครงการให้ออกมาได้สูงสุด เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในย่าน Super Core CBD การเพิ่มเงินทุนจะทำให้เราสามารถลงรายละเอียดในแต่ละส่วนเพิ่มขึ้น 2.กลุ่มดุสิตธานีต้องการสร้างจุดเด่นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ให้สามารถสานต่อวิสัยทัศน์ในการเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก

และ 3.ความคาดหวังรายได้ที่สูงขึ้นจากการปรับโครงการที่พักอาศัยที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมือง เป็น 2 แบรนด์ คือ ในระดับลักชัวรีสำหรับแบรนด์ดุสิต เรสซิเดนเซส และระดับไฮเอนด์สำหรับแบรนด์ดุสิต พาร์คไซด์
“วิกฤตโควิดทำให้เราได้บทเรียนและตัดสินใจพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในวิถีใหม่ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เราคิดอย่างรอบคอบและประเมินอย่างรอบด้านแล้วว่านี่เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันภายใต้สภาวะอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป” นางศุภจีกล่าว


และว่า นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการรับรู้รายได้ที่สูงขึ้นจากการดึงศักยภาพของโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ให้กลายเป็นโครงการระดับโลกบนมาตรฐานใหม่ที่มีคุณค่ามากขึ้นใน 4 ด้าน คือ 1. การผสานนวัตกรรมเข้ากับมรดกและเรื่องราวทางประวัติศาสาตร์ 2. การเชื่อมโยงทุกย่านสำคัญด้วยระบบคมนาคมทุกระนาบ 3. การสร้างคุณภาพชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และ 4. การใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันพร้อมกับเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชุมชน เพื่อทำให้โครงการแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางและหมุดหมายใหม่ของกรุงเทพฯ