
โรงแรมเถื่อน 4 หมื่นแห่งป่วน ชี้แม้มหาดไทยเตรียมยืดระยะเวลาให้ปรับปรุงแก้ไขอาคารก่อนนำมาขึ้นทะเบียนโรงแรมอีก 1 ปี หลังกฎกระทรวง 2 ฉบับสิ้นสุดอายุ 18 ส.ค.นี้ แต่ติดล็อกกฎหมายผังเมืองที่ผ่อนผันโดยคำสั่ง คสช. กฎหมายไม่เปิดช่องให้ต่ออายุ หน่วยงานท้องถิ่นต้องตามแก้วุ่น ใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภทมีโทษทางอาญา
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร รวม 2 ฉบับ ได้แก่
กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
ซึ่งจะหมดอายุพร้อมกันวันที่ 18 ส.ค. 2564 โดยจะต่ออายุโดยขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 17 ส.ค. 2565 ทั้งนี้ หากกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวล่าช้า
ไม่สามารถประกาศบังคับใช้ได้ทันวันที่ 18 ส.ค. ก็จะบังคับใช้โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 18 ส.ค. 2564
เท่ากับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่อยู่นอกระบบทั้งหมดทั่วประเทศจะได้รับประโยชน์จากการยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับนี้ออกไป
จากเดิมจะต้องปรับเปลี่ยน ปรับปรุงรูปแบบอาคารซึ่งใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมให้เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547
อาทิ ต้องมีที่ว่างของอาคารไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร การกำหนดเงื่อนไขช่องทางเดินในอาคารต้องกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร บันไดกว้างไม่น้อยกว่า 0.90 เมตร ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิง ฯลฯ บันไดหนีไฟ เป็นต้น
จากนั้นให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมนอกระบบที่นำอาคารประเภทอื่นมาให้บริการที่พักแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป และได้ปรับปรุงแก้ไขอาคารให้มีลักษณะหรือมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารตามที่กฎหมายกำหนด
สามารถขออนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมได้ อย่างไรก็ตามได้กำหนดเงื่อนเวลาให้ผู้ประกอบการกลุ่มที่อยู่นอกระบบทำการปรับปรุงแก้ไขอาคาร ก่อนยื่นขออนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร และใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ภายใต้ พ.ร.บ.โรงแรมฯ
แหลงข่าวกล่าวว่า แม้ผู้ประกอบการโรงแรมนอกระบบจะไม่ได้รับผลกระทบจากที่กฎกระทรวง 2 ฉบับดังกล่าวจะหมดอายุลงวันที่ 18 ส.ค.นี้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยเตรียมออกกฎกระทรวงใหม่รองรับ
และแม้การประกาศใช้กฎกระทรวงใหม่จะล่าช้าก็จะให้มีผลย้อนหลัง แต่ที่อาจมีปัญหาคือมาตรการผ่อนปรนด้านผังเมืองสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมนอกระบบที่สถานที่ตั้งอาคารซึ่งใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ในพื้นที่ที่ขัดต่อกฎหมายผังเมือง
ซึ่งก่อนหน้านี้ผ่อนปรนโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท ซึ่งจะหมดอายุวันที่ 18 ส.ค. 2564 เช่นเดียวกัน
เนื่องจากไม่สามารถต่ออายุหรือขยายเวลาออกไปอีกได้ เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดวาระไปแล้ว
ผลที่ตามมาคือโรงแรมนอกระบบที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ขัดกับการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมืองจะมีความผิดในทางอาญา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)
ในแต่ละพื้นที่จึงต้องดำเนินการกับผู้กระทำความผิด หรือฝ่าฝืน ตามบทบัญญัติกฎหมาย ส่วนนี้จะมีความยุ่งยากตามมา เนื่องจากปัญหาจะแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่
ขึ้นอยู่กับ อปท.ในแต่ละจังหวัดว่าจะมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายผังเมืองอย่างไร
แต่ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจมีปัญหา ผู้ประกอบการโรงแรมได้ัรับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รุนแรง รัฐน่าจะมีนโนบายผ่อนปรนเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะตามมา
ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ เพื่อประกาศบังคับใช้กับอาคารประเภทอื่นที่ถูกนำมาใช้ประกอบกิจการโรงแรมควบคู่กันไปด้วย
สาระสำคัญของกฎกระทรวงใหม่จะกำหนดลักษณะอาคารสำหรับใช้ประกอบกิจการโรงแรมแต่ละประเภทให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งโรงแรมขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ตลอดจนอาคารรูปแบบอื่นที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม
ทั้งนี้ ขณะนี้กฎกระทรวงฉบับนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง คาดว่าจะประกาศบังคับใช้หลังการขยายอายุกฎกระทรวง 2 ฉบับไปอีกอย่างน้อย 1 ปีข้างหน้าสิ้นสุดลง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงแรมที่นำอาคารประเภทอื่นมาใช้ประโยชน์และประกอบธุรกิจในลักษณะเป็นการให้บริการที่พักเหมือนโรงแรม หรืออีกนัยหนึ่งเป็นโรงแรมนอกระบบ
ทั่วประเทศรวมทั้งหมดกว่า 4 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้มีบางส่วนที่ปรับปรุงแก้ไขอาคารและยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมและได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายไม่ถึง 2 หมื่นแห่ง
หลังรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรน เพราะต้องการดึงให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นโรงแรมอยู่ในระบบ ที่เหลืออีกเกินครึ่ง หรือกว่า 2 หมื่นแห่ง ยังประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาต