“สุรัตน์ พาชู” พลิกตำรา บริหาร “โกลเด้น ทิวลิปฯ” ฝ่าวิกฤต

โกลเด้น ทิวลิปฯ
สัมภาษณ์พิเศษ

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการบริหารธุรกิจโรงแรมให้อยู่รอดในท่ามกลางวิกฤต “โควิด” ภาวะที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามานานถึง 18-19 เดือนเช่นนี้ โดยเฉพาะโรงแรมในระดับ 4 ดาวที่ถูกทุบราคาอย่างหนักจากกลุ่มโรงแรมระดับ 5 ดาวอย่างหนักในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

เรียกว่า ในภาวะเศรษฐกิจดี ไม่มีโควิด ธุรกิจโรงแรมก็แข่งขันกันอัดสงครามราคากันท่วมตลาดอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ยังมีทุนใหม่โดยเฉพาะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่โหมลงทุนในธุรกิจโรงแรมอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมรายเดิมที่อยู่ในตลาดปรับตัวรับมือทุนใหญ่กันอุตลุดอยู่แล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “สุรัตน์ พาชู” ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพ โรงแรมระดับ 4 ดาว ที่เปิดดำเนินงานมานานกว่า 20 ปี ถึงแนวทางการบริหาร การปรับตัว รวมถึงแผนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่องไว้ดังนี้

สุรัตน์ พาชู
สุรัตน์ พาชู ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพ

พลิกตำราบริหารรับธุรกิจเปลี่ยน

“สุรัตน์” บอกว่า วันนี้โลกของธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบการบริหารถูกปรับเปลี่ยนทุกวัน โดยยอมรับว่าตลอดการทำงานในธุรกิจโรงแรมมามากกว่า 30 ปีวิกฤตโควิดรอบนี้ทำให้ตัวเองพลิกตำรารับมือไม่ทันเหมือนกัน เพราะไม่เหมือนกับวิกฤตโรคซาร์ส หรือโศกนาฏกรรมไนน์วันวัน (911)

ดังนั้น ประเด็นสำคัญและถือเป็นความท้าทายใหม่ของผู้ประกอบการโรงแรม คือ เรื่องของสุขอนามัย หรือ hygienc ที่ต้องได้มาตรฐาน เนื่องจาก “ความปลอดภัย” ของโปรดักต์คือ ความน่าเชื่อถือ ซึ่งทางโรงแรมโกเด้น ทิวลิปฯก็ปรับให้ได้ตามมาตรฐานอยู่เช่นกัน

ปรับรับ ASQ ตั้งแต่ปีที่แล้ว

ในส่วนของโรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพ นั้น “สุรัตน์” บอกว่า ได้ปรับตัวอย่างหนักมาเป็นระยะตั้งแต่ไวรัสโควิดเริ่มระบาด ด้วยการศึกษาของการทำโรงแรมสำหรับกักตัวผู้ป่วยในรูปแบบ ASQ และ AQ โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลปิยะเวท พระราม 9 โดยเริ่มปรับเป็นโรงแรม ASQ เมื่อเดือนกันยายน 2563

โดยปรับห้องพักมาเป็น ASQ จำนวน 150 ห้อง จากจำนวนห้องพักทั้งหมด 448 ห้อง ส่วนที่เหลืออีก 298 ห้องยังคงขายเป็นห้องพักปกติควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมาโรงแรมโกลเด้น ทิวลิปฯได้ลูกค้าที่เป็น ASQ รวม 99 ห้อง ถือว่าได้รับการตอบรับพอสมควร ส่วนปี 2564 นี้นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคมได้ลูกค้าส่วนที่เป็น ASQ แล้วประมาณ 600 ห้อง

“ตอนนี้รัฐบาลยกเลิกโรงแรมที่เป็น AQ หมดแล้ว เราจึงเปลี่ยนโรงแรม ASQ เป็น AQ โดยคนไทยที่เดินทางเข้ามาต้องจ่ายค่ากักตัวเอง รัฐบาลสนับสนุนแค่ค่าทำสวอบเทสต์เท่านั้น แต่ก็ยังมีลูกค้าบุ๊กกิ้งเข้ามาเป็นระยะ ซึ่งทางโรงแรมได้กำหนดมาตรฐานราคาที่ไม่สูงนักคือประมาณ 35,000 บาทต่อการกักตัว 14 วัน รวมอาหาร 3 มื้อต่อวัน และค่าทำสวอบเทสต์รวม 3 ครั้งด้วย”

ไล่เก็บลูกค้าแอร์ไลน์คืนพอร์ต

“สุรัตน์” บอกด้วยว่า นอกจากการขายลูกค้า AQ และขายห้องพักปกติแล้ว ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุขยังได้อนุญาตให้โรงแรมสามารถรับลูกเรือของสายการบินได้แล้ว ทางโรงแรมจึงได้แบ่งห้องพักที่มีอยู่ให้เป็นห้องพักสำหรับรองรับลูกเรือจำนวน 30 ห้อง

ขณะนี้ลูกค้ากลุ่มลูกเรือสายการบินก็จะทยอยกลับมาแล้ว โดยมีลูกเรือของกาตาร์ แอร์เวย์สกลับมาใช้บริการเป็นสายการบินแรก และคาดว่าหากสายการบินต่างชาติเริ่มกลับมาบินเข้ากรุงเทพฯได้มากขึ้น ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวนี้น่าจะกลับมาใช้บริการเหมือนเดิม

“สุรัตน์” ย้อนความให้ฟังด้วยว่า ในช่วงก่อนวิกฤตโควิดโรงแรมโกลเด้น ทิวลิปฯมีลูกค้ากลุ่มลูกเรือสายการบินต่าง ๆ จำนวนมากเป็นตลาดหลัก อาทิ กาตาร์ แอร์เวย์ส, ไชน่า แอร์ไลน์, เวียดนาม แอร์ไลน์, เอส-7 (รัสเซีย) ฯลฯ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีประมาณ 40% ของจำนวนห้องทั้งหมด ทำให้กลายเป็นจุดขายที่ชัดเจนอีกเซ็กเตอร์หนึ่งของโรงแรม

“ก่อนหน้านี้ลูกเรือสายการบินต่าง ๆ ที่ทำการบินเข้ากรุงเทพฯจะต้องพักที่โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ ตอนนี้สาธารณสุขอนุญาตลูกเรือสายการบินเข้ามาพักที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิปฯแล้ว โดยกำหนดว่าต้องพักไม่เกิน 72 ชั่วโมง และเข้ามาแล้วห้ามออกไปไหน แต่สามารถสั่งอาหารจากนอกโรงแรมเข้ามาส่งให้ได้ ซึ่งตอนนี้จากตารางการบินของกลุ่มลูกเรือของสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์สนั้นจะพักไม่เกิน 24 ชั่วโมง เงื่อนไขการเข้าพักจึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจแต่อย่างใด”

สุรัตน์ พาชู

ดึงกลุ่ม Self Quarantine

“สุรัตน์” บอกอีกว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก ทางโรงแรมจึงมองเห็นโอกาสใหม่ด้วยการทำแพ็กเกจเข้าพัก 14 วันสำหรับกลุ่มคนที่ทำงานและมีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อมองหาสถานที่กักตัวเอง หรือกลุ่ม self quarantine แยกออกจากครอบครัวอีก 1 กลุ่มด้วย

“เราเพิ่งเปิดตลาดกลุ่มที่ต้องการดูแลตัวเองไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยจัดเป็นแพ็กเกจ 14 วัน รวมอาหาร 3 มื้อต่อวัน ตรวจสวอบ 3 ครั้งจากทีมแพทย์โรงพยาบาลปิยะเวท หากกลุ่มนี้เกิดการติดเชื้อทางโรงแรมจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลปิยะเวท ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลปิยะเวท หรือฮอสพิเทลที่อยู่ในเครือข่ายของปิยะเวทต่อไปได้ทันที”

มีรายได้ช่วยประคองธุรกิจ

ต่อคำถามว่าแนวทางการปรับตัวดังกล่าวนี้ ทำให้โรงแรมมีรายได้เข้ามาเพียงพอกับการบริหารจัดการในขณะนี้หรือไม่ “สุรัตน์” บอกว่า รายได้ที่เข้ามานั้นยังไม่เพียงพอกับต้นทุนการบริหาร เพราะเวลานี้ธุรกิจโรงแรมยังถูกล็อกดาวน์ห้ามนั่งรับประทานอาหารในโรงแรม ห้ามจัดงานประชุม สัมมนา งานอีเวนต์ต่าง ๆ ทำให้โรงแรมในภาพรวมได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่นเดียวกับโรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพ ที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ส่วนรายได้ที่เข้ามาจากการปรับตัวเป็นโรงแรม AQ รายได้จากการดึงลูกค้าสายการบินกลับมา รวมถึงการเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่ม self quarantine นั้นทำให้โรงแรมมีรายได้เข้ามาประมาณ 15-20% หากเทียบกับช่วงก่อนโควิดหรือปี 2562 อย่างไรก็ตาม ก็ทำให้มีรายได้เข้ามาช่วยสำหรับจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟค่าจ้างพนักงาน และช่วยประคับประคองให้ธุรกิจยังเดินต่อไปได้

จุดเริ่มต้นขยับไปปี’65

เมื่อถามต่อว่าประเมินภาพการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของไทยอย่างไร “สุรัตน์” บอกว่า คงต้องรอลุ้นสถานการณ์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ก่อนว่า นโยบายเปิดประเทศ 120 วันของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) จะได้รับการตอบรับดีแค่ไหนเพราะเท่าที่ประเมินสถานการณ์ในเวลานี้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในโซนยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักของการท่องเที่ยวไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายนั้นยังคงมีการแพร่ระบาดที่สูงเช่นกัน

หากโฟกัสเฉพาะของโรงแรมโกลเด้น ทิวลิปฯก็คงต้องลุ้นด้วยว่า หากเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว รัฐบาลจะอนุญาตให้จัดประชุมสัมมนาได้ด้วยหรือไม่ เนื่องจากโรงแรมมีห้องจัดประชุมสัมมนาถึง 10 ห้อง หากสามารถจัดประชุมสัมมนาได้น่าจะช่วยให้มีรายได้จากกการจัดงานและห้องพักเพิ่มขึ้นมาได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้คงยังไม่หวือหวานัก และคงยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของธุรกิจ โดยส่วนตัวเชื่อว่าปี 2565 น่าจะเป็นปีเริ่มต้นของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมได้อีกครั้ง โดยจะมีความชัดเจนตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เป็นต้นไป