“ไซต์ไมนเดอร์” ชี้ยอดจองห้องพัก-สัญญาณเดินทางฟื้น

SiteMinder

รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมแผนเดินหน้าโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศกันอีกครั้งในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

และค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า “ความหวัง” ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยสำหรับปีนี้นั้นจะอยู่ที่ตลาดภายในประเทศ หรือ domestic tourism

“แบรดลีย์ ไฮนส์” รองประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของไซต์ไมนเดอร์ (SiteMinder) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มตัวกลางในการเข้าถึงลูกค้าให้กับธุรกิจโรงแรมทั่วโลกบอกว่า จากข้อมูลจาก World Hotel Index ของ SiteMinder ระบุว่า ยุโรปมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของโลก ปัจจุบัน 4 ใน 6 ประเทศที่มียอดการจองสูงสุดอยู่ในทวีปยุโรป โดยมีมัลดีฟส์เป็นผู้นำในฝั่งเอเชียเป็นเวลาเกือบปีแล้ว

แบรดลีย์ ไฮนส์
แบรดลีย์ ไฮนส์ รองประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของไซต์ไมนเดอร์ (SiteMinder)

สำหรับประเทศไทยนั้นสัญญาณบวกเริ่มกลับมาแล้วเช่นกัน โดยแนวโน้มการจองห้องพักในขณะนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในต้นเดือนสิงหาคม 2562 มาเป็น 23% ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการ

โดยข้อมูลของ World Hotel Index เกือบ 80% ของยอดการจองในเดือนกันยายนมาจากนักท่องเที่ยวในประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าการผ่อนปรนมาตรการในประเทศจะส่งผลดีเชิงบวกต่อธุรกิจตลอดช่วงครึ่งปีหลังนี้ และน่าจะเห็นทิศทางที่ดีชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศ และก็น่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การท่องเที่ยวภายในประเทศจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด “แบรดลีย์” บอกว่า ไซต์ไมนเดอร์ได้ทำการสำรวจ Changing Traveller Report 2021 เพื่อสำรวจความคิดเห็นจากนักท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 851 คน ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า นักท่องเที่ยวกว่า 60% มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยว โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 17% ที่มีแผนเที่ยวในจำนวนใกล้เคียงกับช่วงเกิดโควิด หรือประมาณปีละ 1 ครั้ง และอีกประมาณ 46% มีแผนเดินทางมากกว่าในช่วงก่อนโควิด และ 9 ใน 10 หรือคิดเป็น 89% ของนักท่องเที่ยวมีความคาดหวังในผู้ประกอบการโรงแรมเท่าเดิม หรือเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ความต้องการท่องเที่ยวที่ยังมีอยู่นี้นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ต้องอาศัยการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก

โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจจองโรงแรม ที่พักนั้น อันดับ 1 คือ ความปลอดภัย 2.การลดการสัมผัส การเว้นระยะห่าง และ 3.ความคุ้มค่าส่วนปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินใจว่าจะไปเที่ยวที่ไหนนั้น 5 อันดับแรก คือ ข้อจำกัดด้านการฉีดวัคซีน หรือเรื่องสุขภาพ รองลงมาคือ สถานที่ที่อยากไปสักครั้งในชีวิต งบฯค่าใช้จ่าย ครอบครัว/เพื่อน และข้อจำกัดของรัฐบาล

นอกจากนี้ยังพบว่า ประมาณ 40.19% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยตัดสินใจทำการจองที่พักโดยตรงกับทางโรงแรม (ออนไลน์) ตามด้วยฝ่ายตัวแทนการท่องเที่ยว เช่น booking.com 23.5%

และจากนโยบายของการทำงานที่บ้าน หรือ WFH ที่มากขึ้น ทำให้กระแสของ workcation ทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วย มาแรงมากเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด โดยกว่าครึ่งของนักท่องเที่ยวชาวไทย วางแผนจะทำงานไปด้วยระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจแน่นอน (19.74%) และกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะทำ (31.26%)

ส่วนแนวโน้มที่ยังคงชัดเจนมากสำหรับพฤติกรรมการจองโรงแรมของกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย คือ นักท่องเที่ยวให้ความนิยมจองโรงแรม หรือรีสอร์ตขนาดใหญ่ (27.5%) ตามด้วยโฮสเทลหรือที่พักราคาประหยัด (21.27%) โรงแรมบูทีค หรือโรงแรมหรู (13.4%)

“แบรดลีย์” ย้ำว่า เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของที่พัก ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในการตัดสินใจเลือกสถานที่เข้าพัก ซึ่งนับเป็น 2 ปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดในหมู่นักท่องเที่ยวกว่า 42% ตามมาด้วยปัจจัยด้านความสามารถในการปรับตัวของที่พักให้มีการสัมผัสน้อยที่สุด


ที่สำคัญ รายงาน Changing Traveller Report นี้จะช่วยให้โรงแรมสามารถเข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทางโรงแรมได้รับรู้ถึงระดับความต้องการท่องเที่ยวที่ยังมีอยู่ของนักท่องเที่ยวไทยด้วย