สั่งผู้ว่าฯชี้จุดท่องเที่ยวรับเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” โมเดลต้นแบบ

“สุพัฒนพงษ์” ปักหมุดเปิดเมืองตามไทม์ไลน์ 1 พ.ย. “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” โมเดลต้นแบบทุกพื้นที่ มท.สั่งผู้ว่าฯ สำรวจแหล่งท่องเที่ยวนำร่อง ปั้นภูเก็ตขึ้น World Class Destination ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า 1 ล้านคน สร้างรายได้ 6 หมื่นล้าน สภาอุตฯ ท่องเที่ยวจี้รัฐเร่งปลดล็อกอุปสรรค

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายในการเปิดประเทศหลังผ่อนคลายมาตรการยังเดินหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำชับว่าจะต้องดูให้รอบคอบ และค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการเปิดประเทศจะเป็นไปตามขั้นตอน เและกติกาที่วางไว้ เหมือนรูปแบบภูเก็ตแซนด์บอกซ์ สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับการเปิดเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) วันที่ 1 พ.ย. 2564 ต้องทำตามกติกา และข้อเสนอให้ ศบค.พิจารณาต่อไป

สิ่งที่ผู้ประกอบการ กทม.ต้องทำ คล้าย ๆ ภูเก็ต ต้องหารือกับ กทม. ภาคประชาสังคม ว่าจะดูแลกันอย่างไร และพื้นที่ไหนเปิดให้ท่องเที่ยวได้ สำหรับวันที่ 1 ม.ค. 2565 จะเปิดทั่วประเทศได้หรือไม่นั้นจะดูตามเหตุการณ์ ขณะนี้มีการตั้งกติกาไว้แล้ว

รัฐบาลเปิดประเทศตามแผน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเตรียมการเปิดประเทศของรัฐบาลยังเป็นไปตามกำหนด 120 วัน ที่นายกฯประกาศไว้ ทั้งนี้ ไม่ได้เปิดทีเดียวทั้งหมด แต่เป็นการทยอยเปิด ซึ่งที่มีการเปิดแล้วคือภูเก็ตแซนด์บอกซ์ นี่คือความหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นการเปิดประเทศแล้ว จากนั้นได้เปิดที่ จ.กระบี่ และ จ.พังงา และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวระยะที่ 2 จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ในอีก 10 จังหวัด

สั่งผู้ว่าฯสำรวจ พท.ท่องเที่ยว

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เพื่อให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศเตรียมความพร้อมรับการเปิดรับนักท่องเที่ยว กระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ให้สำรวจพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นแหล่งนำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่น ๆ ตามนโยบายรัฐบาล และตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

โดยได้สั่งการให้จังหวัดประเมินตนเองสำหรับกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ และสาธารณสุข แนวทางการตรวจสอบเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน การคัดกรองผู้ป่วย การตรวจหาเชื้อ รวมถึงการจัดทำแผนการชะลอหรือยกเลิกโครงการ

พร้อมทั้งรายงานประเมินความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และจัดส่งข้อมูลไปยังกรมควบคุมโรค และให้รายงาน ศบค.มท.ต่อไป

สทท.แนะเร่งปลดล็อกอุปสรรค

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดประเทศตามนโยบาย “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ตั้งแต่ 1 ก.ค. แม้ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนไม่มากนัก แต่ถือว่าประสบความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์อย่างมาก นักท่องเที่ยวทั่วโลกรับรู้ว่า ภูเก็ต ประเทศไทย พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญ น่าพอใจมากที่พบว่ายังไม่มีการติดเชื้อระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเกิดขึ้น สะท้อนชัดเจนว่ามาตรการการเปิดรับนักท่องเที่ยวมีมาตรฐาน และความปลอดภัยสูง

สิ่งที่อยากเห็นในสเต็ปต่อไปของการเปิดประเทศอีก 10 จังหวัด 1 พ.ย.นี้ คือ การปลดล็อกประเด็นต่าง ๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคในการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ลดราคาค่าตรวจ RT-PCR และกำหนดให้เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ลดการตรวจ RT-PCR เหลือ 1 ครั้ง คือ ครั้งแรกที่สนามบิน ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 นั้นให้ใช้ ATK แทน หรือเพิ่มช่องทางการยื่นขอ COE โดยบริษัทนำเที่ยว รวมถึงลดวันกักตัวอยู่ในพื้นที่ให้เหลือน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ยังอยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำแคมเปญสนับสนุนการเปิดประเทศที่แรง และสามารถกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดการเดินทางในช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้ และส่งโมเมนตัมไปถึงต้นปี 2565 ด้วย

ตั้งเป้า นักท่องเที่ยว 1 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. เมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีข้อสั่งการให้สร้างการรับรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 สำหรับเปิดประเทศ และพื้นที่พิเศษนำร่องเพื่อการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) 4 ช่วง ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ช่วง 1-31 ต.ค. 2564 คือ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี (สมุย พะงัน และเกาะเต่า) จ.พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) และ จ.กระบี่ (พีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก)

ระยะที่ 2 วันที่ 1-30 พ.ย. 2564 มี 10 จังหวัด ขยายพื้นที่จังหวัดจากระยะนำร่อง ได้แก่ กทม. จ.กระบี่ (ทั้งจังหวัด) จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) จ.เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) จ.ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่) จ.ระนอง (เกาะพยาม) จ.เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (อ.เมือง)

ระยะที่ 3 วันที่ 1-31 ธ.ค. 2564 20 จังหวัด และระยะที่ 4 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป 13 จังหวัด

นอกจากนี้ยังมีมีมติเห็นชอบหลักการแนวทางการขับเคลื่อนการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลที่เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ และพลิกโฉมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 และไตรมาส 1 ของปี 2565 จำนวน 1 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 5,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท

โดยปลดล็อกประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการทำการตลาด 8 ประเด็นหลัก 1.การลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน การตรวจ RT-PCR ก่อนมาและเมื่อถึงสนามบิน หลังจากนั้นให้ตรวจแบบ ATK 2.ให้ทำหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทยออนไลน์แบบหมู่คณะ (Group COE) 3.อนุญาตเที่ยวบินพาณิชย์ของรัสเซียให้สามารถเดินทางเข้าสู่ภูเก็ต 4.การผ่อนคลายคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานของกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงสำหรับผู้โดยสารเครื่องบิน 5.ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR 6.ลดค่าเบี้ยประกันภัย 7.ออก Visa on Arrival (VOA) และหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทยออนไลน์ และ 8.มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Passport)

ชี้นโยบายรัฐไม่ชัด

ด้านนายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมภาคตะวันออก เปิดเผยว่า การเลื่อนเปิดเมืองซึ่งเดิมกำหนดไว้ในเดือน ต.ค.เป็นเดือน พ.ย. ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเมืองพัทยาไม่สามารถจัดทำแผนธุรกิจกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือจัดแคมเปญอะไรได้ชัดเจน เนื่องจากนโยบายรัฐไม่ชัดเรื่องเวลา ขณะที่ความต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีเข้ามาแล้ว แต่ทุกคนกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขการเข้ามาของนักท่องเที่ยว เช่น การตรวจ RT-PCR หาเชื้อโควิด-19 2 ครั้ง และพื้นที่ที่จัดทำแซนด์บอกซ์ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถเดินทางไปพื้นที่ไหนได้บ้าง