โรงแรมรับอานิสงส์คลายล็อก อัตราเข้าพักเดือนตุลาฯขยับ

สมาคมโรงแรมเผยธุรกิจโรงแรมที่พักรับอานิสงส์รัฐผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-กระตุ้นท่องเที่ยว หนุนผู้ประกอบการกลับมาเปิดบริการเพิ่ม ดันอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศขยับ 23.5% ส่วนโครงการ “แซนด์บอกซ์-เราเที่ยวด้วยกัน” ผลลัพธ์ต่ำกว่าที่คาด

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า สมาคมโรงแรมไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักโรงแรมเดือนตุลาคม (hotel business operator sentiment index) ช่วงระหว่าง 11-28 ตุลาคม 2564 จากผู้ตอบแบบสำรวจ 189 แห่ง (เป็น ASQ 13 แห่ง hospitel 11 แห่ง) พบว่า ผู้ประกอบการที่พักแรมได้รับผลบวกจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ

ทั้งนี้ สะท้อนจากอัตราการเข้าพักที่ปรับสูงขึ้น และการกลับมาเปิดกิจการตามปกติเพิ่มขึ้น โดยในเดือนตุลาคมโรงแรมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 23.5% เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่มีอัตราเฉลี่ย 15.5% (ดูตารางประกอบ)

นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงแรมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศเปิดกิจการปกติในสัดส่วน 67% เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่มี 51% และมีโรงแรมที่เปิดกิจการบางส่วนมากกว่า 50% ในสัดส่วน 14% เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่มีสัดส่วน 10% ส่วนโรงแรมที่ยังคงปิดกิจการมีสัดส่วนที่ 8%

โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าต้นทุนในการเปิดดำเนินการ เช่น ค่าสาธารณูปโภค และค่าจ้างพนักงาน อยู่ในระดับสูง ขณะที่ดีมานด์ยังอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับในส่วนของรายได้นั้นพบว่าเดือนตุลาคม 2564 โรงแรมที่เปิดให้บริการส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยรายได้กลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 และมีโรงแรมเพียง 22% ที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่ง

“แม้ว่าผู้ประกอบการที่เปิดบริการจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนธุรกิจที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นยังไม่มาก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะตึงตัว และระบุว่ามีสภาพคล่องได้ไม่เกิน 3 เดือน อย่างไรก็ดี มีกลุ่มที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 27% โดยเกือบทั้งหมดเป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเดือนตุลาคมสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 23%”

นางมาริสากล่าวด้วยว่า ในด้านการจ้างงานนั้นพบว่าเดือนตุลาคม ภาคธุรกิจโรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่ 59% ของการจ้างงานเดิม (ก่อนโควิด) โดยโรงแรมที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นโรงแรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ยังมีการให้สลับกันมาทำงาน ใช้วันลาประจำปี และลดชั่วโมงการทำงาน ส่วนโรงแรมที่มีการเพิ่มจำนวนพนักงาน และเพิ่มชั่วโมงการทำงานนั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ย

นางมาริสากล่าวเพิ่มเติมถึงผลการสำรวจในประเด็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโครงการ “แซนด์บอกซ์” ด้วยว่า โรงแรม 42% มองว่าผลของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ออัตราการเข้าพักในเดือนตุลาคม 2564 ต่ำกว่าที่คาด โดยมีอุปสรรคหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง และค่าตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR

เช่นเดียวกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย ที่โรงแรม 25% มองว่า อัตราการเข้าพักในเดือนตุลาคม 2564 ยังต่ำกว่าที่คาดเช่นกัน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและดีมานด์ยังอยู่ในระดับต่ำ

“สถานการณ์ในเดือนนี้ยังพบว่า มีโรงแรมราว 10% ได้ตัดสินใจขายกิจการแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวหลักของแต่ละภาค และเป็นโรงแรมขนาดกลางที่มีจำนวนห้องพักประมาณ 51-249 ห้อง อย่างไรก็ตามโรงแรม 48% ยังไม่พิจารณาขายกิจการ และกว่า 43% ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะขายหรือไม่” นางมาริสากล่าว

และว่า สมาคมโรงแรมไทยหวังว่าการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้พลิกฟื้นกลับมาอีกครั้ง และจะเป็นแรงหนุนส่งต่อการท่องเที่ยวไปถึงปี 2565 ให้มีทิศทางที่ดีขึ้น