จับตา “โอไมครอน” หวั่นทุบท่องเที่ยวปี’65

โควิดทุบท่องเที่ยวเที่ยว

กลายเป็น “ตัวแปร” ใหม่ที่กระทบต่อบรรยากาศการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกในช่วงส่งท้ายสำหรับปีนี้เลยทีเดียว สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน”

สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจาก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา และแพร่ระบาดเข้าไปในยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ สร้างความกังวลให้กับทุกประเทศทั่วโลก

กระทั่งกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ที่ประชุม ครม. เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ต้องสั่งให้ทุกส่วนติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังคนเข้าเมืองทุกช่องทางอย่างใกล้ชิดในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้

รวมทั้งมีมติให้ยกเลิกมติ ศบค. ที่กำหนดให้ยกเลิกการตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แล้วไปใช้การตรวจแบบ ATK แทน ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยให้กลับมาใช้วิธีตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตามเดิม และให้รอจนกว่าจะมั่นใจว่าการแพร่ระบาดของโอไมครอนไม่รุนแรง โดยย้ำว่าหากมีผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศจะล็อกดาวน์ประเทศทันที

จากมาตรการดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลว่า รัฐบาลจะควักมาตรการ “ล็อกดาวน์” หรือ “ปิดประเทศ” อีกครั้งหากเกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างวางมาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิดกันอย่างเต็มที่แล้ว

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เฝ้าจับตาดูสถานการณ์และประเมินความรุนแรงของการแพร่ระบาดและความรุนแรงในเรื่องของอาการของผู้ติดเชื้อ เนื่องจากกังวลว่า “โอไมครอน” จะเป็นตัวแปรใหม่ที่จะเป็น “ปัจจัยลบ” ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวสำหรับปี 2565 นี้

“ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวนี้เป็นมาตรฐานสากล เพราะขณะนี้หลาย ๆ ประเทศได้ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยกระดับความเข้มข้นของมาตรการเข้าเมือง ห้ามคนจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าประเทศ ฯลฯ ไปกระทั่งถึงปิดประเทศ

ทั้งนี้ เนื่องจากการติดตามข่าวทั่วโลกน่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 14 วันในการประเมินว่า โควิดสายพันธุ์โอไมครอนนี้จะรุนแรงแค่ไหน ขณะที่ประเทศไทยก็ออกมาตรการสำหรับ 8 ประเทศดังกล่าวแล้วเช่นกัน

เช่นเดียวกับ “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่ประเทศไทยยกระดับมาตรฐานความเข้มข้นในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์สัก 15-21 วัน หรือจนกว่ากระแสจะคลี่คลาย

ขณะที่ “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับกรณีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้น สทท.ประเมินภาพรวมของการท่องเที่ยวไทยในปีหน้าไว้ 2 ซีนาริโอ กล่าวคือ หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่รุนแรง ประเทศเดินหน้าเติมวัคซีนไปเรื่อย ๆ น่าจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป

และหาก “โอไมครอน” รุนแรง และโควิดมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ ภาพรวมของการท่องเที่ยวน่าจะกระทบต่อไปอีกเป็นเวลานาน จนกว่าจะมียารักษาและจนกว่าคนทั้งประเทศจะเข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดได้อย่างปกติ หรืออาจจะเห็นภาพการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวขยับออกไปเป็นปี 2566-2567

โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปีหน้า คือ “โอไมครอน” หากไม่ส่งผลกระทบจะเห็นความชัดเจนของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงกลางปีหน้านี้แน่นอน