สิงคโปร์แอร์ไลน์ เตรียมทดลองใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน ไตรมาส 3 ปีนี้

Photo by Roslan RAHMAN / AFP

สิงคโปร์แอร์ไลน์ และสกู๊ต เตรียมทดลองใช้น้ำมันผสมน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนไตรมาส 3 ปีนี้ เชื่อสามารถลดการปล่อยคาร์บอนสูงถึง 2,500 ตัน สอดคล้องแผนปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ปี 2050 ด้านรัฐบาลสิงคโปร์เตรียมศึกษาฮับสนามบินไฮโดรเจน

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าวสเตรทส์ ไทมส์ รายงานว่า ทุกเที่ยวบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (IATA : SQ) และสายการบินสกู๊ต (IATA : TR) ที่ออกเดินทางจากสนามบินชางงี จะเริ่มใช้งานน้ำมันที่มีการผสมระหว่างน้ำมันอากาศยาน (Jet fuel) กับน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels : SAF) ในการทดลองระยะเวลา 1 ปี เริ่มต้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 นี้

โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ (CAAS) และสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ออกแถลงการณ์ว่า เอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) จะเป็นผู้ให้บริการน้ำมันผสมดังกล่าว โดยจ่ายน้ำมันผ่านทางท่อที่มีอยู่ภายในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้

น้ำมันผสมดังกล่าวจะประกอบไปด้วยน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAFs) ซึ่งทำจากเชื้อเพลิงจะทำจากน้ำมันที่ใช้แล้ว หรือไขมันสัตว์เหลือทิ้ง จำนวน 1.25 ล้านลิตร จากบริษัทเนสเต้ (Neste) บริษัทผลิตน้ำมันชีวภาพและกลั่นน้ำมันสัญชาติฟินแลนด์ จากนั้น บริษัทเนสเต้ จะส่งน้ำมันอากาศยานยั่งยืนนี้ ให้กับเอ็กซอนโมบิลประจำสิงคโปร์ เพื่อผสมเข้ากับน้ำมันอากาศยาน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ได้ระบุว่าอัตราส่วนน้ำมัน SAFs ที่ผสมกับน้ำมันอากาศยานมีเท่าใด และในปัจจุบันเครื่องบินโดยสารสามารถรองรับน้ำมันผสม SAFs ในอัตราส่วน 50% เท่านั้น

ทั้งนี้ การทดสอบใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนนี้ จะช่วยทำให้ทราบถึงข้อมูลเชิงลึก ค่าใช้จ่าย และโครงสร้างราคา และในช่วงการนำร่องระยะเวลา 1 ปีนี้ เชื่อว่าการใช้น้ำมันผสมดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 2,500 ตัน

Advertisment

ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า ในปี 2562 หรือก่อนการระบาดของเชื้อโควิด-19 ภาคการบินพาณิชย์ เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 900 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นราว 2% ของการปล่อยคาร์บอนของทั้งโลกต่อปี

นางสาวหลี่ เหวิน เฟิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ด้านการวางแผนองค์กร สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ กล่าวว่า การใช้น้ำมันอากาศยานยั่งยืนนี้ เป็นสิ่งสำคัญต่อแผนการพิชิตเป้าหมายที่จะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ของทางสายการบิน

Advertisment

“ด้วยการทำงานร่วมมือกับพันธมิตรของเรา เราสามารถเร่งและขยายการปรับใช้น้ำมันอากาศยานยั่งยืนได้ในสิงคโปร์” นางสาวหลี่ กล่าว

ตัน เลย์ เต็ก รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการจัดการสนามบิน กลุ่มสนามบินชางงี กล่าวว่า สนามบินมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินที่ยั่งยืน และจะร่วมมือกับทางสายการบิน ผู้เล่นในอุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการปรับใช้น้ำมันที่ยั่งยืน

นายเอส. อิสราวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ กล่าวกับรัฐสภาในปีที่แล้วว่า เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) นี้ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้สูงสุดถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป แต่น้ำมันดังกล่าวก็มีราคาสูงมากกว่าน้ำมันอากาศยานทั่วไป 2-5 เท่า

นายอิสราวัน ระบุว่า รัฐบาลกำลังศึกษาว่าสิงคโปร์จะสามารถผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ รวมถึงการส่งออกได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำมันดังกล่าว ยังอาจเกิดข้อจำกัดด้านอุปทาน

นอกจากนี้ CAAS สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ยังร่วมมือกับแอร์บัส เพื่อศึกษาว่าโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านพลังงานไฮโดรเจนสามารถนำไปใช้ในระดับที่สนามบินชางงีได้หรือไม่ โดยจะมีการศึกษาเป็นระยะเวลาสองปี เริ่มต้นในปีนี้ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งฮับสนามบินไฮโดรเจน และศึกษาความต้องการของโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เพื่อรองรับการปฏิบัติการของเครื่องบินที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนในอนาคต