ไม่ใช่แค่ “สายการบิน” AirAsia รุกปั้นรายได้ Non-aero

โทนี่ เฟอร์นานเดส
โทนี่ เฟอร์นานเดส

กลุ่มแอร์เอเชีย เบอร์ฮาด (มาเลเซีย) ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น แคปิตอล เอ เบอร์ฮาด (Capital A) อย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา

“โทนี่ เฟอร์นานเดส” ซีอีโอของ “แคปิตอล เอ” นำเสนอว่า Capital A จะไม่เป็นแค่สายการบินอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นบริษัทด้านการลงทุนที่มีพอร์ตธุรกิจมากมาย โดยบริษัทโฮลดิ้งนี้ จะเข้าลงทุนในด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ และโลจิสติกส์

“นี่ไม่ใช่แค่การเปิดตัวโลโก้ใหม่เท่านั้น แต่เป็นก้าวสำคัญสู่ยุคใหม่ของพวกเรา เพื่อประกาศว่าเราไม่ใช่แค่สายการบินอีกต่อไป เรากำลังนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายครอบคลุม มากกว่าแบรนด์อื่น ๆ ในอาเซียน และด้วยการเข้าถึงผู้คนกว่า 700 ล้านคนในภูมิภาคนี้ ผมมองเห็นโอกาสการเติบโตอย่างไม่น่าเชื่อสำหรับแบรนด์ของเราในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในตลาดหลักทั้งหมดของเรา” โทนี่ย้ำ

ชี้อยู่ในจุดที่ได้เปรียบ

โดย “แคปิตอล เอ” อยู่ในจุดที่ได้เปรียบ เพราะมีหน่วยธุรกิจอันเป็นที่รู้จักอย่าง “แอร์เอเชีย” อยู่แล้ว รวมถึงฐานข้อมูลจำนวนมหาศาล จากการประกอบธุรกิจมายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งทางบริษัทมองว่าหากนำข้อมูลเหล่านี้ มาผสานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภค ไม่จำกัดที่การจำหน่ายเพียงตั๋วเครื่องบินเท่านั้น

“โทนี่” เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่า ในฐานะที่ธุรกิจเข้ามาทีหลัง ทำให้บริษัทสามารถพิจารณาได้ว่าโมเดลธุรกิจใดที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือด้านเทคโนโลยีมาก

ปั้น Super App ระดับอาเซียน

โดยพยายามปั้นแอปพลิเคชั่น airasia สู่การเป็น super app กล่าวคือ แอปพลิเคชั่นที่มีระบบนิเวศในตัวเอง มีคุณสมบัติหลากหลาย สามารถเข้ามาใช้งานได้ทุกวัน ตัวอย่างเช่น WeChat จากประเทศจีน ที่สามารถส่งข้อความ อ่านข่าว ทำธุรกรรมทางการเงิน เช่าจักรยาน ฯลฯ หรือแอปพลิเคชั่นที่ใกล้ตัวคนไทยอย่าง Grab ที่สามารถสั่งอาหาร ส่งของ ซื้อของ ฯลฯ

“กลยุทธ์ของบริษัทใน airasia super app เหมือนกันทุกประการ กับกลยุทธ์เมื่อครั้งที่บริษัทก้าวเข้ามาสู่ตลาดสายการบินโลว์คอสต์เมื่อหลายปีที่ผ่านมา” โทนี่กล่าวกับสำนักข่าว CNBC

airasia super app วางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการถึง 16 รายการ โดยปัจจุบันผู้ใช้งานสามารถใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าว จองเที่ยวบินของสายการบินแอร์เอเชีย และสายการบินอื่น ๆ กว่า 700 แห่ง หรือสั่งอาหาร ส่งของ จองโรงแรม แลกคะแนน ฯลฯ

ขณะที่รายงานข่าวจากแคปิตอล เอ ระบุว่า ปัจจุบัน airasia super app มีผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านคนในแต่ละเดือน และเป็นแอปพลิเคชั่นได้รับการยอมรับว่าเป็น “ยูนิคอร์น” ในเวลาไม่ถึงสองปี

ขณะที่ BigPay ธุรกิจด้านฟินเทคของบริษัท ได้รับการอัดฉีดเงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.2 พันล้านบาท) จากกลุ่มบริษัท SK ในประเทศเกาหลีใต้ และได้ระดมทุนไปแล้วกว่า 2.5 พันล้านริงกิต (1.9 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ airasia super app ยังเป็น 1 ใน 3 ตัวแทนการท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ชั้นนำของอาเซียน และบริษัทได้ตั้งเป้าเป็นแอปพลิเคชั่นด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ชั้นนำของอาเซียน

ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ Non-aero

“โทนี่” ให้ข้อมูลว่า ในปี 2569 หรือราว 5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่สายการบิน (non-aero) เพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 50 โดยแคปิตอล เอ มีวิสัยทัศน์ และตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้

กลุ่มสายการบิน : มีวิสัยทัศน์ว่าต้องการเป็น 1 ใน 10 สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสายการบินที่ดีที่สุด และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนต่อไป พร้อมตั้งเป้าที่เชื่อมต่อและให้บริการผู้คนกว่า 1 พันล้านคนในอาเซียนในปี 2569

แผนกวิศวกรรม (ADE) : มีวิสัยทัศน์การมุ่งสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมบริการบำรุงรักษา ซ่อมแซม หรือ MRO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายว่าจะสามารถให้บริการ MRO ในระดับผู้นำของอุตสาหกรรม

airasia super app : ก้าวเป็นสุดยอดแอปในอาเซียน

BigPay : มีวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งในอาเซียน และตั้งเป้าผู้ใช้งาน BigPay 10 ล้านคนต่อเดือน

Teleport : เชื่อมต่อเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน และตั้งเป้ามีส่วนแบ่งตลาด 10% ในภูมิภาคสำหรับ Teleport ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ

AirAsia Academy : มีวิสัยทัศน์เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านการศึกษาในอาเซียน และตั้งเป้ามีผู้ลงทะเบียน 5 ล้านราย

และ A grocer : มีวิสัยทัศน์เป็น Amazon fresh แห่งอาเซียน และตั้งเป้ามียอด 21 ล้านรายการต่อเดือน

ธุรกิจการบินยังเป็นเสาหลัก

และยังบอกด้วยว่า แม้ว่าแคปิตอล เอ จะเป็นชื่อบริษัทโฮลดิ้งใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ชื่อแบรนด์ “แอร์เอเชีย” สำหรับสายการบิน ซึ่งจะยังคงเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย และเป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมสำหรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์และบริการอื่น ๆ ทั้งหมด ในการใช้ประโยชน์พึ่งพากันและกัน

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา AirAsia Aviation Limited (AAAL) บริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มสายการบิน ประกาศการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และองค์กร โดยการเปลี่ยนชื่อจาก AAAL เป็น AirAsia Aviation Group Limited (AAAGL)

“โทนี่” ระบุว่า สำหรับภายใต้โครงสร้างใหม่นี้ AAAGL จะทำหน้าที่ดูแลสายการบินทั้งหมดในกลุ่ม โดยการรวมพอร์ตโฟลิโอปัจจุบันของการดำเนินงานในมาเลเซียและต่างประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ตลอดจนทำหน้าที่ให้การสนับสนุนส่วนงานที่เกี่ยวข้องในมาเลเซีย

โดยเหตุผลสำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในครั้งนี้คือ การจัดหมวดหมู่แพลตฟอร์มที่แยกจากกัน เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่ง และมีประสิทธิภาพสำหรับการดำเนินงานของสายการบิน ซึ่งจะช่วยผลักดันความพยายามอย่างต่อเนื่องของ Capital A ในการเป็นมากกว่าสายการบิน

โดย AAAGL จะกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญภายใต้ Capital A ควบคู่ไปกับธุรกิจดิจิทัลใหม่และบริษัทวิศวกรรมอากาศยาน Asia Digital Engineering (ADE) ซึ่งกำลังเตรียมที่จะประกาศคณะกรรมการชุดใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ในฐานะนิติบุคคลแยกต่างหากออกไปจาก AAAGL

ศึกษาร่วมทุนสายการบินใหม่

“โบ ลินกัม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAAGL กล่าวว่า AAAGL ถือครองการลงทุนของสายการบินที่มีอยู่ และเตรียมความพร้อมสำหรับการร่วมทุนกับสายการบินใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม

โดยเมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้จัดตั้ง AirAsia Consulting บริษัทที่ปรึกษาของแอร์เอเชีย มีหน้าที่ตรวจสอบศักยภาพและความเป็นไปได้ในการร่วมทุนพันธมิตรสายการบินใหม่ และให้บริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจสายการบิน ไม่เพียงแต่สายการบินแอร์เอเชียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสายการบินอื่น ๆ อีกด้วย

ขณะที่ “โทนี่” ประเมินภาพรวมการฟื้นตัวของตลาดการบินว่า ปัจจุบันเที่ยวบินภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวในตลาดหลักแล้ว แม้ว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศจะกลับมาอย่างล่าช้าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 แต่ว่าเชื่อทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้นเร็ว ๆ นี้


โดยหวังว่าพรมแดนจะเปิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดปี 2565 และจะเห็นการกลับมาให้บริการตามปกติสำหรับเส้นทางระหว่างประเทศได้ภายในกลางปีถึงไตรมาส 3 ปีนี้