การบินไทย เปิดผลประกอบการ ปี’64 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.97 หมื่นล้าน

การบินไทย

การบินไทย เผยผลประกอบการปี’64 มีรายได้รวม 2.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 1.97 หมื่นล้าน ชี้ Test & Go-ประเทศปลายทางผ่อนคลาดมาตรการเดินทางหนุนแนวโน้มการเดินทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบบินสู่ “ลอนดอน-แฟรงก์เฟิร์ต-โคเปนเฮเกน-ซูริก-สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์” พร้อมเปิดเส้นทางใหม่ “ออสเตรเลีย-อินเดีย” เสริมแกร่ง

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (THAI) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานสำหรับปี 2564 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาว่า บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%) โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท หรือ 51%

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ทั้งเป็นผลจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%) และรายได้จากบริการอื่น ๆ ลดลง 1,545 ล้านบาท แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป จากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์กล่าวด้วยว่า จากนโยบายของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และเมื่อรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้บริษัทมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 311 คนในเดือนตุลาคมเป็น 1,067 และ 2,559 คน ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 ตามลำดับ

ในขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายในประเทศก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คนต่อวัน ในเดือนกันยายน 2564 เป็น 9,536 คนต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับเพียงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทสามารถให้บริการตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมฯ โดยการยกเลิกมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่อวันของบริษัทในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2565 ลดลงกว่าร้อยละ 20 จากในเดือนธันวาคม 2564

แต่เมื่อภาครัฐนำมาตรการ Test and Go มาใช้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง บริษัทจึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่าง ๆ อาทิ ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์

และเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และจุดหมายปลายทางในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นี้เป็นต้นไป ในขณะที่สายการบินไทยสมายล์ได้เปิดให้บริการในเส้นทางร้อยเอ็ดและตรังจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเปิดให้บริการจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อไปอีกว่า บริษัทยังมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการหารายได้ด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์และบริการคลังสินค้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้หลักแก่บริษัทในช่วงที่การขนส่งผู้โดยสารยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 50 ของรายได้รวมของบริษัท ในปี 2564 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 นี้ รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดย บริษัทจะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายตามลำดับต่อไป