นกแอร์ รุกเปิดเส้นทางข้ามภาค เล็งบินโคราชสู่ เชียงใหม่-หาดใหญ่-ภูเก็ต

ผู้โดยสารกำลังเดินขึ้นเครื่องบินแบบบอมบาดิเอร์ แดช 8 คิว 400
นกแอร์ บอมบาดิเอร์ แดช 8 คิว 400 ภาพ ณ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา

“นกแอร์” เผยธุรกิจการบินยังท้าทายสูง ทั้งปัจจัยค่าเงิน-ต้นทุนน้ำมัน ทยอยเพิ่มความถี่เส้นทางบินภายในประเทศ-เปิดเส้นทางข้ามภาค เล็งศึกษาเปิดเส้นทางบินจากนครราชสีมาสู่เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ พร้อมเตรียมเปิดบินต่างประเทศสู่ญี่ปุ่น อินเดีย จีน เวียดนาม เมียนมา แย้มพร้อมเพิ่มฝูงบินโบอิ้ง 737-800 อีก 6 ลำในช่วงเวลา 1-2 ปีข้างหน้ารองรับการขยายเส้นทางบิน

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสายการบินยังประสบกับความท้าทายจากค่าเงินบาทที่ผันผวน การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่จบ ซึ่งส่งผลต่อมาตรการเปิดพรมแดนของหลายประเทศ รวมถึงปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนด้านน้ำมันเพิ่มขึ้นเท่าตัว

ทั้งนี้ ในส่วนของสายการบินนกแอร์นั้น ขณะนี้ได้กลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศเกือบครบทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้จะทยอยเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินที่ยังกลับมาไม่มากเท่าเดิม รวมถึงได้เริ่มเปิดเส้นทางบินข้ามภาคใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น เส้นทางอุบลราชธานี-ภูเก็ต และเส้นทางอุบลราชธานี-หาดใหญ่ (2 เที่ยวบิน/สัปดาห์) ตั้งแต่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป

นายวุฒิภูมิกล่าวว่า สำหรับแผนขยายธุรกิจในอนาคตนั้น สายการบินกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดให้บริการเส้นทางท่าอากาศยานนครราชสีมาสู่เชียงใหม่, หาดใหญ่ และภูเก็ต รวมถึงการขอความอนุเคราะห์ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการลงจอด การจอดอากาศยาน ค่าสำนักงาน และค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่

“เราเห็นว่าจำเป็นต้องขอความอนุเคราะห์ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อให้สายการบินออกราคาบัตรโดยสารจูงให้ผู้เดินทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้การเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น” นายวุฒิภูมิกล่าว และว่าหากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือดังกล่าว สายการบินอาจเริ่มทำการบินเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่ โดยใช้เครื่องบินบอมบาร์ดิเอร์ Q400 มาให้บริการได้ในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปีนี้

นอกจากนี้ สายการบินยังอยู่ระหว่างการศึกษาการกลับมาให้บริการเที่ยวบินต่างประเทศ รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ เช่น เส้นทางประเทศญี่ปุ่น, อินเดีย, จีน, เวียดนาม (โฮจิมินห์) และเมียนมา

ทั้งนี้ ปัจจุบันสายการบินมีเครื่องบินให้บริการอยู่ทั้งสิ้น 17 ลำ ในช่วงเวลา 1-2 ปีข้างหน้า สายการบินพิจารณานำเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 เข้ามาเพิ่มในฝูงบินอีกราว 6 ลำ โดยจะนำมาใช้ในเส้นทางบินที่จะกลับมาเปิดเพิ่มเติม รวมถึงรองรับความถี่เที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น

ด้านนายธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสายการบินใช้งานมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (aircraft utilization) อยู่ที่ราว 7 ชั่วโมงต่อวัน ให้บริการผู้โดยสารที่ราว 10,000 คนต่อวัน และในอนาคตคาดหวังว่าผู้โดยสารจะเติบโตมากขึ้นเป็น 12,000-13,000 คนต่อวัน

สำหรับเส้นทางบินกรุงเทพฯ-เบตง (ยะลา) นั้น สายการบินยังได้การตอบรับคำขอสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งบริษัทท่าอากาศยานไทย, กรมท่าอากาศยาน และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ในส่วนของค่าบริการการเดินอากาศเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่กรมท่าอากาศยานลดค่า landing fee, parking fee ให้ 80% และลดค่าสำนักงานที่สนามบินเบตงให้ 50% ซึ่งสายการบินยังมองว่าสูงอยู่

และหากหน่วยงานดังกล่าวช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย รวมถึงกรมสรรพสามิตขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ 0.20 บาท/ลิตร ที่จะหมดอายุเดือนมิถุนายนนี้ต่อไปจะช่วยลดค่าบัตรโดยสารให้ถูกลงกว่าปัจจุบันที่ไป-กลับ มีราคาราว 7,000 บาท