บริษัททัวร์แห่บูม “เบตง” ขาใหญ่โดดอุ้ม “นกแอร์” ฟื้นบินตรง

นกแอร์
Nok Air (นกแอร์) Bombardier DHC-8-400 REG: HS-DQB Aircraft Name : Nok Kao Neaw (นกข้าวเหนียว) at Don Mueang International Airport, Bangkok (DMK) (18 March 2022)

แถลงข่าวความร่วมมือพลิกฟื้นสนามบินเบตง (ยะลา) กันไปเรียบร้อยแล้วเมื่อ 11 เมษายน 2565 ระหว่างสายการบินนกแอร์กับบริษัททัวร์รายใหญ่ 3 กลุ่ม คือ แตงโมทัวร์ ของ “เฮียแตงโม” หรือ ธนพล ชีวรัตนพร, ซี.ซี.ที. กรุ๊ป ของ “เฮียวิชิต” หรือ วิชิต ประกอบโกศล ลูกหลานคนเบตงตัวจริง และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.)

บริษัททัวร์โหมขาย “เบตง”

โดยหลังจากมีข่าวการเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน โดยบริษัททัวร์ทำการเช่าเหมาที่นั่งทั้งหมด 60 ที่นั่งต่อเที่ยว ไปเมื่อ 8 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา พบว่าบริษัททัวร์หลายแห่งเริ่มออกแคมเปญขายแพ็กเกจทัวร์ “เบตง” เป็นจำนวนมาก

จากการสำรวจของ “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า แพ็กเกจทัวร์เบตงส่วนใหญ่เปิดราคาขายเฉลี่ยที่ 9,900 บาท สำหรับโปรแกรมทัวร์ 3 วัน 2 คืน สำหรับเดินทางในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2565 นี้ โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนนี้เป็นต้นไป

แต่หากใครที่พร้อมเดินทางก่อน 25 เมษายนนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 40% ตามโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ด้วย โดยเที่ยว 3 วัน 2 คืนได้ ในราคาสุทธิ 5,999 บาท

เช่น ควิลิตี้ เอ็กซ์เพรส, แตงโมทัวร์, ซี.ซี.ที. กรุ๊ป, เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์, กรีนแลนด์ทัวร์ ฯลฯ รวมถึงบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) และสมาชิกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.)

มั่นใจ “เบตง” มีดีมานด์

“วิชิต ประกอบโกศล” ประธานกลุ่ม ซี.ซี.ที. กล่าวว่า การเหมาที่นั่งจำนวน 60 ที่นั่งดังกล่าว เป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน ประกอบด้วย บริษัท ซี.ซี.ที. เอ็กซ์เพลส จำกัด (ซี.ซี.ที. กรุ๊ป), แตงโมทัวร์, สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย, Greenland Holiday, Merryland Travel Service, มีทวีทัวร์ รวมตัวกันในกลุ่มที่ชื่อ “บินตรงเบตง”

โดยเบื้องต้นพบว่ามีการจองทัวร์เข้ามาบ้างแล้ว และตลาดของเส้นทางเบตงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มวัยเกษียณซึ่งต้องการความสะดวกสบายและมีกำลังซื้อสูง

นอกจากนี้ยังเห็นดีมานด์ของกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการประหยัดเวลา รวมถึงกลุ่มอินเซนทีฟ ทั้งนี้ ตั้งเป้าจำนวนผู้ซื้อแพ็กเกจทัวร์ตลอด 3 เดือน อยู่ที่ 2,500 ราย

พร้อมทั้งประเมินการท่องเที่ยวอำเภอเบตง (ยะลา) ว่า แต่เดิมนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเบตงส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซีย ซึ่งมีสัดส่วน 90% เนื่องจากสามารถเดินทางมายังเบตงได้ง่าย แต่ภายหลังเริ่มมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มมากขึ้น

โดยคาดว่าในอนาคตราว 4 ปีข้างหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเบตงทั้งสิ้นราว 1 ล้านคน โดยมีสัดส่วนเป็นชาวต่างชาติ 60% ชาวไทย 40% ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมท่องเที่ยวเป็นระยะเวลานาน เช่น 4 วัน 3 คืนหรือ 3 วัน 2 คืน ซึ่งจะสร้างรายได้ เกิดประโยชน์แก่ชาวท้องถิ่นมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าในอนาคต หากสนามบินมีการขยายความยาวทางวิ่ง (runway) ทำให้สนามบินสามารถรองรับเครื่องบินโดยสารที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น จะยิ่งทำให้ “เบตง” มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นอีกแน่นอน

จ่อเพิ่มไฟลต์-ขยายสู่ 4 จว.ใต้

“ธนพล ชีวรัตนพร” เจ้าของบริษัท แตงโมทัวร์ จำกัด บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผลได้ดี เนื่องจากมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และอีกหลายหน่วยงาน อาทิ ท่าอากาศยานเบตง, เทศบาลเบตง, ผู้ประกอบการทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า ฯลฯ รวมถึงภาคเอกชนในเบตงที่อยากเห็นท่าอากาศยานเบตงกลับมาใช้งานอีกครั้ง

โดยจะให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ได้แก่ วันศุกร์, อาทิตย์ และอังคาร ซึ่งขณะนี้บริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ เริ่มทำการตลาดแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

“ธนพล” บอกด้วยว่า นอกจากเส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง สายการบินยังมีแผนให้บริการเส้นทางสู่ทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ด้วย อาทิ เบตง-ยะลา, เบตง-ปัตตานี, เบตง-หาดใหญ่ โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนแรกนี้ รูปแบบการให้บริการจะเป็นให้บริษัททัวร์เช่าเหมาลำ จำนวน 60 ที่นั่ง ที่นั่งที่เหลือสายการบินนกแอร์จะนำไปจำหน่ายเองอีกส่วนหนึ่งด้วย เพื่อช่วยกันประคับประคองให้เส้นทางนี้เกิดตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 4 จังหวัดชายแดนใต้

“ธนพล” บอกด้วยว่า หากเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เบตงได้รับตอบรับดีใน 3 เดือนแรกนี้ ในอนาคตอาจขอให้มีการเพิ่มเที่ยวบินจากเดิม 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยเพิ่มเที่ยวบินในวันเสาร์ จันทร์ และพุธ

ทั้งนี้ ต้องรอแนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านเสียก่อนว่าจะมีทิศทางอย่างไร

“ผมเชื่อว่าไม่ได้มีแค่ดีมานด์กรุงเทพฯ-เบตง เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีดีมานด์จากพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศร่วมด้วย และประเมินว่าเส้นทางบินเบตงจำเป็นต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย”

สำหรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในวันที่ 29 เมษายนนี้ “เฮียแตงโม” บอกว่า จะเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์จากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)สู่เบตง และเช่นเดียวกันในขากลับจะมีนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่แล้วเดินทางกลับในเที่ยวบินเบตง-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ในวันที่ 29 ร่วมด้วย

“นกแอร์” ยัน 3 เดือนนี้ไม่มีเท

ขณะที่ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับ 3 หน่วยงานครั้งนี้ เป็นการล็อกที่นั่งเส้นทางบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง-กรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งเพื่อให้บริษัททัวร์ไปบริหารจัดการ โดยบริษัททัวร์เหมาที่นั่งไป 60 ที่นั่ง จาก 86 ที่นั่งในทุกเที่ยวบินตลอดระยะเวลา 3 เดือนหลังจากนี้ โดยตกลงราคาบัตรโดยสารไป-กลับกับบริษัททัวร์อยู่ที่ 6,300 บาท แถมบริการน้ำหนักกระเป๋าอีก 10 กิโลกรัม

พร้อมยืนยันว่า “นกแอร์” มีความพร้อมในการทำการบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง และได้รับอนุญาตให้บินเส้นทางภูเก็ต-เบตง และหาดใหญ่-เบตง เรียบร้อยแล้ว แต่ปัจจุบันยังเลือกให้บริการเฉพาะกรุงเทพฯ-เบตงเท่านั้น

“ขอยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกเที่ยวบินในช่วง 3 เดือนนี้แน่นอน” วุฒิภูมิย้ำ

ยอมรับ “เบตง” ท้าทายสูง

“วุฒิภูมิ” ยังบอกด้วยว่า การเปิดทำการบินเส้นทางบิน “เบตง” นั้น ยังเจอกับความท้าทายจากการที่เครื่องบินไม่สามารถเติมน้ำมัน ณ สนามบินปลายทางได้ ทำให้ต้องเติมน้ำมันเผื่อเดินทางกลับเมื่อออกจากกรุงเทพฯ ทำให้ในแต่ละเที่ยวบินไม่สามารถจุผู้โดยสารได้เต็มทุกที่ โดยอาจบรรทุกผู้โดยสารได้ราว 70-80 ที่นั่ง ขึ้นอยู่กับทิศทางของลมในแต่ละวัน

โดยปัจจุบันสายการบินยังมีการตอบรับคำขอสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย, กรมท่าอากาศยาน และบริษัทวิทยุการบินฯ ในส่วนของค่าบริการการเดินอากาศ ซึ่งปัจจุบันกรมท่าอากาศยาน ได้ลดค่า landing fee, parking fee ให้แล้ว 80% และลดค่าสำนักงานที่สนามบินเบตงให้ 50% ซึ่งยังมองว่าสูงอยู่ เนื่องจากสายการบินไม่ได้ให้บริการในทุกวัน

หากทางหน่วยงานที่กล่าวไปข้างต้นช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย รวมถึงกรมสรรพสามิตขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น ที่ 0.20 บาท/ลิตร ที่จะหมดอายุเดือนมิถุนายนนี้ต่อไป จะช่วยลดค่าบัตรโดยสารให้ถูกลงกว่าปัจจุบัน ที่ไป-กลับมีราคาราว 7,000 บาท

ทั้งนี้ สายการบินตั้งเป้าอัตราบรรทุกผู้โดยสารตลอดระยะเวลา 3 เดือนหลังจากนี้ จะอยู่ที่ราว 75% จากทั้งหมด 86 ที่นั่ง นอกจากส่วนของบริษัททัวร์ 60 ที่นั่งที่กล่าวไปข้างต้น ในส่วนของนกแอร์เอง คาดว่าจะขายที่นั่งได้ราว 10 ที่นั่งเท่านั้น