“แอร์ไลน์” ชี้จุดตาย “เบตง” ต้นทุนสูง-คุ้มทุนยาก

ธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

จากข้อมูลของเทศบาลเมืองเบตงระบุว่า ก่อนสถานการณ์โควิดระบาดอำเภอเบตง (ยะลา) มีนักท่องเที่ยวรวมราว 8 แสนคนต่อปี

การเปิด “สนามบินเบตง” จึงเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเบตงด้วย

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ “นกแอร์” มีเหตุต้องหยุดให้บริการแบบไม่มีกำหนด หลังจากนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เดินทางไปเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง ได้เพียง 1 เที่ยวบิน ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 เท่านั้น

แหล่งข่าวในธุรกิจสายการบินรายหนึ่งบอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เส้นทางการบินดอนเมือง-เบตง เป็นเส้นทางบินที่บริหารให้ “คุ้มทุน” ยากมาก เนื่องจากเป็นสนามบินที่มีรันเวย์สั้น รองรับได้เฉพาะเครื่องบินขนาดเล็ก (ATR-72/Q-400) ส่งผลให้มีต้นทุนที่สูง และต้องกำหนดราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3,500 บาทต่อเที่ยว หรือเฉลี่ยไป-กลับกรุงเทพฯ-เบตง อยู่ที่ประมาณ 7,000 บาทต่อคน

“มีทางเดียวที่จะทำให้สายการบินทำการบินในเส้นทางเบตงได้ในราคาที่ต่ำลงคือ ต้องเปิดเส้นทางบินอื่นเสริมเช่น บินจากกรุงเทพฯสู่เบตง และต่อจากเบตงไปหาดใหญ่ (สงขลา) แล้วบินกลับไปเบตง จากนั้นบินกลับกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการเฉลี่ยต้นทุน และยังสามารถไปเติมน้ำมันที่หาดใหญ่ได้อีกด้วย หากขายเส้นทางเบตง-หาดใหญ่ และหาดใหญ่-เบตงได้ จะทำให้เส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง มีต้นทุนที่ต่ำลงได้”

สอดรับกับ “สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ที่ให้ข้อมูลว่า ข้อจำกัดในการทำการตลาดสำหรับสนามบินเบตงคือรันเวย์ที่สั้น รองรับได้เฉพาะเครื่องขนาดเล็ก ส่งผลให้ต้นทุนต่อหัวผู้โดยสารมีราคาที่สูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเส้นทางบินอื่น ๆ

ขณะที่ในด้านดีมานด์ภาพรวมของ “เบตง” ในวันนี้ยังมีไม่มากนัก และยังเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเพิ่มขึ้น

“วันนี้เครื่องแอร์บัส A320 ของเราไม่สามารถทำการบินได้ ถ้าเขาลงทุนต่อรันเวย์ให้ยาวขึ้น และทำให้เครื่อง A320 ขึ้น-ลงได้ เราก็สนใจ เพราะเรามีเน็ตเวิร์กการบิน” สันติสุขให้ข้อมูล

เช่นเดียวกับ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบิน “บางกอก แอร์เวย์ส” บอกว่า ที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาเส้นทางการบิน พร้อมประเมินดีมานด์เช่นกัน แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะเปิดให้บริการหรือไม่

เพราะต้องประเมินถึงความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจเป็นอันดับแรก รวมถึงต้องศึกษาอย่างละเอียดว่าจะจัดเส้นทางการบินอย่างไรถึงจะเหมาะสม

ขณะที่ “ธีรพล โชติชนาภิบาล” ซีอีโอ สายการพาณิชย์ สายการบิน “นกแอร์” ยอมรับว่า ประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตงได้ คือเรื่องของ “ต้นทุน” ที่ไม่สมดุลกับ “รายได้”

และยอมรับว่า ขนาดของรันเวย์และทางขับของสนามบินเบตงรองรับได้เฉพาะเครื่องบินลำเล็ก ทำให้มีต้นทุนที่สูง จึงต้องกำหนดราคาบัตรโดยสารไป-กลับเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาทต่อคน

“ที่นกแอร์ต้องยกเลิกทำการบินชั่วคราว เนื่องจากดีมานด์ไม่พอ มีคนจองตั๋วโดยสารเข้ามาในระบบเพียงแค่ประมาณ 10 กว่าคนต่อเที่ยวบิน ขณะที่ลูกค้ากลุ่มบริษัทนำเที่ยวนั้นยังคงชะลอการเดินทาง เนื่องจากผลกระทบโควิด เราจึงมีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการออกไปแบบไม่มีกำหนด ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้” ธีรพลระบุ

พร้อมย้ำว่า “นกแอร์” มีความพร้อมสำหรับการให้บริการมาก เนื่องจากมีเครื่องบินและบุคลากรที่พร้อมอยู่แล้ว หากได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน (subsidize) จากภาครัฐ โดยรับประกันรายได้ให้นกแอร์อย่างต่ำ 75%

รวมถึงพิจารณาลดค่าบริการต่าง ๆ ของสนามบิน อาทิ ค่าหลุมจอด ค่าแลนดิ้ง ฯลฯ เพื่อให้สายการบินมีรายได้สมดุลกับต้นทุน และสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง ทั้งนี้นกแอร์จะประชุมร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ในวันที่ 21 มีนาคมนี้

ด้าน “สกุล เล็งลัคน์กุล” นายกเทศมนตรีเมืองเบตง จังหวัดยะลา ย้ำว่า หากต้องการกระตุ้นการเดินทางผ่านสนามบินเบตง สายการบินควรตั้งราคาบัตรโดยสารไป-กลับไม่เกิน 5,000 บาท (ปัจจุบันเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6,400 บาท) เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวสามารถออกแพ็กเกจทัวร์ได้ หรือให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มสามารถเข้าถึงได้

และเชื่อมั่นว่า หากสายการบินทำราคากรุงเทพฯ-เบตง ไป-กลับได้ต่ำกว่า 5,000 บาทในช่วง 6 เดือนแรกจะสามารถกระตุ้นการเดินทางได้ดีขึ้น