เที่ยวบิน “เบตง” อลเวงปัญหา นกแอร์จี้รัฐช่วยแบกต้นทุน

“นกแอร์” ยันพร้อมบินเบตง เครื่องบิน-บุคลากรพร้อมรองรับ ชงรัฐสนับสนุน-ประกันรายได้ 75% อุ้มรายได้ให้สมดุลกับต้นทุนการดำเนินงาน เผยขอหยุดบินชั่วคราวไม่มีกำหนด เหตุดีมานด์ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศยังต่ำ ยิ่งบินยิ่งขาดทุน กรมท่าอากาศยานยื่นมือช่วย ลดค่าแลนดิ้ง-ค่าหลุมจอด

ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 14 มีนาคมที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบินนกแอร์ แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ 2 วัน สายการบินนกแอร์ได้ปิดระบบการจองบัตรโดยสาร พร้อมหยุดทำการบินชั่วคราว โดยชี้แจงว่ามีอัตราการจองบัตรโดยสารเดินทางเพียงแค่ 10 กว่าคนต่อเที่ยวบิน จึงไม่สามารถทำการบินได้ เนื่องจากไม่คุ้มกับต้นทุนการดำเนินงาน

“ต้นทุนสูง-ดีมานด์ต่ำ” ต้นเหตุ

นายธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้สายการบินนกแอร์ไม่สามารถทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง ได้คือ เรื่องของต้นทุนการดำเนินงาน และรายได้ที่ไม่สมดุล และยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าดีมานด์การเดินทางจะมีเพียงพอสำหรับการให้บริการตามแผนที่วางไว้เมื่อไหร่ บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องชะลอการให้บริการออกไปแบบไม่มีกำหนด ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้

นายธีรพลยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ ขนาดของทางวิ่ง (runway) และทางขับ (taxiway) ของท่าอากาศยานเบตง จะรองรับได้เฉพาะเครื่องบินลำเล็ก (ATR-72/Q-400) จำนวน 80-86 ที่นั่ง ขณะที่ระยะทางการบินค่อนข้างไกลและมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูง ทำให้ราคาบัตรโดยสารต่อเที่ยวปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย หรือเฉลี่ยที่ประมาณ 7,000 บาทต่อคน (ไป-กลับ)

“ตอนแรกที่มีข่าวว่าสนามบินเบตงจะเปิดให้บริการ เราได้ทำการศึกษาและประเมินแล้วว่าจะไหวหรือเปล่า เพราะใช้เครื่องบินเล็กแต่บินไกล ต้นทุนสูงมาก แต่บรรดาบริษัทเอเย่นต์ทัวร์หลายแห่งประสานเข้ามาว่า ถ้านกแอร์ทำการบินสู่เบตง เอเย่นต์ทัวร์ดังกล่าวจะขอเหมาที่นั่ง บางรายขอเหมา 20 ที่นั่ง บางรายขอเหมา 30 ที่นั่ง และบางรายขอเหมาถึง 40 ที่นั่ง และทุกรายที่คุยกันขอเหมาเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน ซึ่งดีมานด์จากเอเย่นต์ทัวร์ดังกล่าวทำให้เราตัดสินใจเปิดทำการบินสู่เบตง” นายธีรพลกล่าวและว่า

เมื่อถึงเวลาเปิดให้บริการและเปิดจองจริง เอเย่นต์ทัวร์ทั้งหลายขอยกเลิกที่นั่งที่แจ้งจองล่วงหน้าไว้ไปทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์โดยรวมยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีคนจองเข้ามาในระบบต่ำมาก หรือประมาณ 10 กว่าคนต่อเที่ยวบิน บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องปิดระบบการเปิดจองและหยุดทำการบินชั่วคราวไปก่อน เพราะหากฝืนบินต่อไป ตัวเลขขาดทุนก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น

ประกอบกับตามแผนเดิมที่ทำการศึกษาพบว่านอกจากตลาดการเดินทางภายในประเทศแล้วยังมีตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดมาเลเซียที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงชายแดนไทย-มาเลเซีย มีความต้องการเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ จะข้ามมาใช้บริการบินตรงจากเบตงเข้ากรุงเทพฯอีกส่วนหนึ่ง แต่ด้วยมาตรการการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศก็ยังไม่เอื้อให้กลุ่มนี้เกิดดีมานด์เดินทางแต่อย่างใด

ร้องรัฐช่วยซับซิไดซ์การเงิน

นายธีรพลกล่าวด้วยว่า ขณะนี้บริษัทได้ยื่นเสนอให้ภาครัฐพิจารณาให้การสนับสนุนด้านการเงิน (subsidize) บางส่วน ให้กับสายการบินนกแอร์ และประกันรายได้อย่างต่ำ 75% รวมถึงขอให้พิจารณาลดค่าบริการต่าง ๆ ของสนามบิน อาทิ ค่าหลุมจอด ค่าแลนดิ้ง ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทมีรายได้สมดุลกับต้นทุนการดำเนินงานและสามารถกลับมาให้บริการต่อไปได้ตามนโยบายของรัฐบาล

“ตอนนี้อยู่ในช่วงพิจารณาความต้องการของตลาดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-เบตง อีกครั้งว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารมากน้อยแค่ไหน ยังประเมินวันกลับมาเปิดบินอีกครั้งได้อย่างชัดเจน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ การร่วมมือกันกับหน่วยงานในพื้นที่ด้วย โดยในวันที่ 21 มีนาคมนี้ สายการบินจะมีการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวอีกครั้ง”

พร้อมกันนี้ นายธีรพลกล่าวย้ำว่า สายการบินนกแอร์พร้อมให้บริการด้านการบินหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะมีเครื่องบินและบุคลากรพร้อมอยู่แล้ว

ด้านนายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง จังหวัดยะลา กล่าวว่า นักท่องเที่ยวเป็นกุญแจสำคัญของเศรษฐกิจอำเภอเบตง เดิมช่วงก่อนสถานการณ์โควิดระบาด อำเภอเบตงมีนักท่องเที่ยวสูงถึงราว 8 แสนคนต่อปี โดยเข้ามาทางด่านชายแดนราว 6 แสนคน ทางรถยนต์ผ่านถนนสาย 410 อีกราว 1-2 แสนคน

กรณีการเดินทางผ่านท่าอากาศยานเบตงนั้น สายการบินอาจพิจารณาตั้งราคาบัตรโดยสารไป-กลับให้ไม่เกิน 5,000 บาท (ปัจจุบันราว 6,400 บาท+) เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวสามารถออกแพ็กเกจทัวร์ได้ หรือให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มสามารถเข้าถึงได้

“ถ้าทำราคาบัตรไป-กลับให้ได้ 5,000 บาท ในช่วง 6 เดือนแรก น่าจะสามารถกระตุ้นการเดินทางได้” นายสกุลกล่าว

ลดค่าแลนดิ้ง-หลุมจอดช่วย

นายสมเกียรติ มณีสถิตย์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีสายการบินนกแอร์ยกเลิกเที่ยวบินดอนเมือง-เบตง ได้รับคำชี้แจงจากสายการบินว่า เกิดจากปัญหามีผู้โดยสารต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ การเปิดเที่ยวบินจึงไม่คุ้มทุน เนื่องจากการทำแผนสื่อสารการตลาดที่ผิดพลาด โดยมีระยะเวลาการโปรโมตเที่ยวบินระหว่างดอนเมือง-เบตงน้อยเกินไป ขณะที่ต้นทุนการปฏิบัติการด้านการบินมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิง ประกอบกับสายการบินนกแอร์อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการดำเนินการ

เบื้องต้น ทย.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือสายการบินด้วยการลดค่าบริการ 2 รายการ ได้แก่ ค่าแลนดิ้ง และค่าหลุมจอด รวมกันเฉลี่ย 5% หรือ 100-200 บาทต่อคน จากค่าโดยสารกว่า 3,000 บาท ซึ่งปัจจุบัน ทย.มีรายได้จากเที่ยวบินแลนดิ้งสนามบินเบตงเที่ยวละ 4,000 บาท ในกรณีมีผู้โดยสารเต็มอัตรา 80 คนต่อเที่ยวบิน

สำหรับแผนการขยายรันเวย์สนามบินเบตงมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท ขณะนี้งบประมาณที่ได้มาในเบื้องต้น ทย.จะใช้ในการศึกษาออกแบบ การเตรียมการเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนงบประมาณในการซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินและการก่อสร้างจะพิจารณาดำเนินการในเฟสต่อไป ในกรณีจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบินเต็มความจุและควรเปลี่ยนขนาดของเครื่องบินก่อน

“ทย.พยายามแก้ปัญหาให้นกแอร์ขาดทุนน้อยที่สุด ต้องยอมรับว่าในช่วงเริ่มต้นอาจต้องเผชิญการขาดทุนบ้าง แต่เชื่อมั่นว่าในช่วงเดือนเมษายน มีเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมีเที่ยวบินมากขึ้นตามไปด้วย” นายสมเกียรติกล่าว