ค่าเหยียบแผ่นดินคืออะไร รัฐบาลเก็บจากใครบ้าง เริ่มเมื่อไร

Photo by Romeo GACAD / AFP

สรุปเรื่อง “ค่าเหยียบแผ่นดิน” รัฐบาลเก็บจากใครบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร เก็บเมื่อไร ? และกฎระเบียนอื่น ๆ หลังกระทรวงท่องเที่ยวฯ จ่อชง ครม. ให้มีผลใน ส.ค.-ก.ย. 65 นี้ 

วันที่ 29 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแนวทางการจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว” หรือที่รู้จักกันดีว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง 2562

โดยการจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จะเป็นการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 300 บาทต่อคน เพื่อเป็นค่าประกันภัยและประกันชีวิตให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา คาดกันว่าจะเริ่มเก็บในเดือน ส.ค. – ก.ย. 2565 นี้

เหตุผลที่ต้องเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขยายความถึงสาเหตุที่ต้องเก็บ ค่าเหยียบแผ่นดิน ว่า มี 4 ประการหลัก ๆ

  1. กันเป็นงบที่ใช้ดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว เช่น การเกิดอุบัติเหตุ
  2. ใช้ในการบริหารด้านสาธารณสุขกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
  3. ให้มีงบประมาณในการดูแลแหล่งท่องเที่ยว ที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว
  4. เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว ขยายขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรม การพัฒนาทักษะด้านการบริหาร-การตลาด ส่งเสริมสินค้าด้านการท่องเที่ยวใหม่ ๆ รวมทั้งการจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

เก็บกับการเดินทาง “ทางอากาศ” ก่อน

ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า การเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจะจัดเก็บกับ “การเดินทางจากทางอากาศ” ก่อน ส่วน “การเดินทางทางบก-น้ำ” ยังหารือกันอยู่

ค่าเหยียบแผ่นดิน ใครต้องจ่ายบ้าง

นายมงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เมื่อโฟกัสเฉพาะการเดินทางทางอากาศ บุคคลที่จะถูกเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ประกอบด้วย

  1. ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่สัญชาติไทย
  2. ชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าท่องเที่ยว

ผู้ที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดิน

  1. ผู้ถือพาสปอร์ตชาวไทย
  2. ชาวต่างชาติที่ถือพาสปอร์ตประเภท Diplomat (หนังสือเดินทางทูต), Official (หนังสือเดินทางราชการ, และ พาสปอร์ตประเภท Work Permit  (ใบอนุญาตทำงาน)
  3. สำหรับผู้ถือ Work Permit  ต้องใส่เลขใบอนุญาตการทำงานกำกับด้วย
  4. เด็กอ่อนชาวต่างชาติอายุต่ำกว่า 2 ปี  ต้องใส่ วัน/เดือน/ปีเกิด ด้วย
  5. รายละเอียดอื่น ๆ เป็นไปตามที่กระทรวงกำหนด

ไทม์ไลน์การเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ส.ค.-ก.ย.65

  1. ลงทะเบียนสายการบินภายใน 15 วัน (เปิดทดสอบการลงทะเบียนวันที่ 2 พ.ค. 2565)
  2. การแก้ไขกฎหมายตาม พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา
  3. เชิญสายการบิน (ที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว) จัดฝึกอบรมและแนะนำการใช้งานระบบระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติภายในประเทศไทย หรือ Thailand Tourism Fee System  (TTF System) ทั้งการใช้งานและการพัฒนาระบบเชื่อมต่อ
  4. การร่วมพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูล Final Passenger Manifest, การทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูล
  5. เริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวฯ คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ช่วง ส.ค.-ก.ย. 2565
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ขั้นตอนการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินตามระบบ TTF System

  1. ซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านระบบออกตั๋วของสายการบิน และระบบออกตั๋วฯ แสดงหน้าจอคัดกรองการจัดเก็บค่าธรรมเนียม
  2. คัดกรองตามเงื่อนไขในการคัดกรองข้อมูล จะใช้พาสปอร์ตในการคัดกรองข้อมูล เงื่อนไขในการคัดกรองข้อมูล
  3. สายการบินดำเนินการออกตั๋วโดยสาร ที่ผ่านการคัดกรองแล้ว
  4. ไปสนามบิน ทำการ Check-in และผ่านพิธีต่าง ๆ ก่อนขึ้นเครื่องบิน
  5. สายการบินส่งข้อมูลรายชื่อผู้โดยสารทั้งลำ (Final Passenger Manifest) ของเที่ยวบินนั้น ๆ ผ่านช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูล (API) หรือการอัพโหลดไฟล์ผ่านเว็บไซต์ (Upload File) หลังจาก 15 นาที ที่ทำการบิน
  6. นักท่องเที่ยวเดินทางถึงประเทศไทย จะได้ความคุ้มครองจากประกันภัยทันที
  7. ข้อมูลที่มีการจัดเก็บประกอบด้วย
  • รหัสเที่ยวบิน
  • วันที่
  • สนามบินต้นทาง (Original Station)
  • สนามบินปลายทาง (Arrival Station)
  • ชื่อ*, ชื่อกลาง*, นามสกุล*, เพศ*
  • วันเดือนปีเกิด
  • เลขพาสปอร์ต
  • สัญชาติ
  • เลขที่นั่ง
  • อีเมล
  • รหัสการคัดกรองค่าธรรมเนียม (TicketBox Type Code)
  • รหัสยอมรับประกัน (Insurance Acceptance Code)
  • เลขใบอนุญาตทำงาน (Work Permit Number)
  • เลข TTF (TTF Number)
นักท่องเที่ยว เที่ยวบิน
Photo by AFP

วงเงินกรรมธรรม์ที่ได้คุ้มครอง

  • วงเงินเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จำนวน 1,000,000 บาท
  • วงเงินค่าชดเชยเสียชีวิตจากเหตุอาชญากรรม การประท้วง ความรุนแรง จำนวน 500,000 บาท
  • วงเงินค่ารักษาพยาบาล-การส่งตัวรักษาพยาบาลจำนวน 500,000 บาท

หลังจากนี้ คงต้องรอว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวจะคืบหน้าถึง ครม.และลงประกาศอย่างทางการเมื่อไร? ซึ่งเมื่อมีการบังคับใช้แล้ว อาจจะทำให้เกิดผลกระทบกับการท่องเที่ยวด้วยหรือไม่? เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลานี้