กระทรวงท่องเที่ยว ยัน “ค่าเหยียบแผ่นดิน” เคาะฤกษ์ เก็บแน่ ก่อนสิ้นปีงบ 2565

สัมภาษณ์

ใกล้เป็นรูปเป็นร่างแล้วสำหรับแนวทางการจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ของไทย หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว” ตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562 ที่ระบุไว้ว่า ให้รัฐบาลจัดเก็บเงินค่าประกันภัยและประกันชีวิตจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 300 บาทต่อคน

โดยให้นำมาบริหารภายใต้ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ” ภายใต้คณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายโชติ ตราชู) เป็นประธาน

ทั้งนี้ ล่าสุด “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุชัดเจนว่า นโยบายการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนั้นได้เลื่อนจากกำหนดเดิม ที่คาดว่าจะเริ่มต้นจัดเก็บในเดือนเมษายน 2565 ออกไปอีก 2 เดือน หรือเริ่มในเดือนมิถุนายน 2565 โดยเริ่มต้นจัดเก็บจากการเดินทางจากทางอากาศ ส่วนทางบกและทางน้ำนั้นอยู่ระหว่างหารือวิธีดำเนินการ

รอเคาะผ่านที่ประชุม ครม.

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ” อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงความคืบหน้าในขั้นตอนการดำเนินงาน รวมถึงรายละเอียดในการจัดเก็บและบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยดังกล่าวไว้ดังนี้

“ทวีศักดิ์” บอกว่า ปัจจุบันขั้นตอนการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ฯลฯ

ล่าสุดข้อมูลทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ที่ประชุม ครม.) ซึ่งทางคณะทำงานของ ครม.จะเวียนหนังสือสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อนำข้อมูลมาให้คณะ ครม.พิจารณาต่อไป เรียกง่าย ๆ ว่าความเห็นส่วนอื่น ๆ ผ่านหมดแล้ว รอแค่ไฟเขียวจากที่ประชุม ครม.เท่านั้น

คาดใช้ภายในสิ้นปีงบฯ 65

เมื่อถามว่าคาดการณ์ไว้จะนำมาบังคับใช้ได้เมื่อไหร่ “ทวีศักดิ์” บอกว่า ตอนนี้ต้นเรื่องทั้งหมดได้นำเสนอตามขั้นตอนไปหมดแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.เมื่อไหร่ หากเสนอเร็วและผ่านที่ประชุม ครม.ได้เร็วก็จะนำมาใช้ได้เร็ว

โดยหลังจากผ่านที่ประชุม ครม.ต้องรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นอีก 90 วันจะมีผลบังคับใช้ กล่าวคือ ถ้าผ่าน ครม.ได้ในเดือนพฤษภาคมประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายนก็น่าจะมีผลบังคับใช้ได้เลย

ทั้งนี้ สำหรับส่วนตัวเชื่อว่านโยบายดังกล่าวนี้บังคับใช้ทันภายในสิ้นปีงบประมาณ 2565 นี้อย่างแน่นอน

บริหารภายใต้คณะกรรมการ

“ทวีศักดิ์” อธิบายด้วยว่า ในหลักการบริหารนั้นกองทุนดังกล่าวจะบริหารภายใต้คณะกรรมการ โดย พ.ร.บ.ได้ระบุชัดว่าในระยะเริ่มแรกจะต้องประกอบด้วยใครบ้าง อาทิ กรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการท่องเที่ยวประมาณ 6-7 คน อาทิ จากกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นต้น และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประมาณ 4-5 คน ฯลฯ โดยมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน

และตามกฎหมายจะมีรายละเอียดในเรื่องการบริหาร การจัดเก็บ หรือกรณีการเบิกจ่าย ฯลฯ ไว้อย่างชัดเจน หรือกรณีที่จะรับบริจาคก็จะมีกฎกติการะบุอยู่เช่นกัน แต่ในระยะยาวคงต้องมาพิจารณาใหม่อีกเป็นระยะ

ยันคุ้มครองดีกว่าเดิม

โดยแนวทางการดำเนินงานทั้งหมดก็จะให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.นำไปจ่ายเป็นค่าประกันภัยและประกันชีวิตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 2.นำไปพัฒนาฟื้นฟูและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว และทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวด้วย

พร้อมอธิบายว่าในยุคก่อนที่จะมีกองทุนเล็ก ๆ ดูแลนักท่องเที่ยวโดยใช้งบประมาณของรัฐบาลเช่นกรณีเกิดเหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ หรือเรือล่มที่ภูเก็ต รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาสำหรับดูแลนักท่องเที่ยว
ต่างชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้รับการดูแลหรือจ่ายชดเชยประมาณ 3 แสน-1 ล้านบาทต่อคนแล้วแต่เหตุที่เกิดขึ้นว่าบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่สำหรับครั้งนี้ต้องบอกว่ากฎหมายนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ทั้งในด้านการจัดเก็บ การบริหาร การเบิกจ่าย ฯลฯ ไปพร้อม ๆ กัน และหาแนวทางให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความคุ้มครองที่นักท่องเที่ยวได้รับนั้นจะต้องดีกว่าเดิม หรือไม่ต่ำไปกว่าเดิมที่เคยได้รับ โดยที่ผ่านมาก็มีการหารือกันว่าอาจจะขยายความคุ้มครองให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น กล่าวคือ นอกจากคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุแล้ว อาจครอบคลุมการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ ด้วย รวมถึงคุ้มครองการจลาจล ฉกชิงวิ่งราว ฯลฯ

ย้ำเก็บเฉพาะนักท่องเที่ยว

อธิบดีทวีศักดิ์บอกอีกว่า สำหรับแนวทางการจัดเก็บจำนวน 300 บาทนั้น ขณะนี้ในหลักการยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะจัดสรรอย่างไรสำหรับทำประกันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่าไหร่ หรือให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างไร เนื่องจากประเด็นนี้คณะกรรมการต้องร่วมกันพิจารณาและสรุปอีกครั้ง

สำคัญกองทุนนี้จะจัดเก็บเฉพาะชาวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทย และเป็นชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวเท่านั้น…วีซ่าธุรกิจหรือวีซ่าอื่น ๆ ไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดเก็บแต่อย่างใดซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยวมีสัดส่วนประมาณ 90% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด สำหรับคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศนั้นสบายใจได้ จะไม่ได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด เพราะวัตถุประสงค์ของกองทุนคือสำหรับดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ และพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศเป็นหลัก


พร้อมย้ำว่ากองทุนดังกล่าวนี้ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน เป็นเงินที่ได้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฉะนั้นจึงอยากให้ทุกส่วนช่วยกันประคับประคองให้กองทุนนี้เกิดขึ้นได้ เพราะในอนาคตกองทุนนี้เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนและการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างใหญ่หลวง