เคาะเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ส.ค.-ก.ย. พร้อมแจงขั้นตอนสายการบิน

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ แจงสายการบินขั้นตอนการลงทะเบียนและเตรียมความพร้อมการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน คาดเริ่มเก็บจริงสิงหาคม-กันยายนนี้ สายการบินห่วง กระทบดีมานด์ท่องเที่ยว หลังธุรกิจเริ่มฟื้นตัวได้ไม่นาน

วันที่ 28 เมษายน 2565 นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่มาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติภายในประเทศไทย มีเหตุผล 4 ประการ คือ 1. เพื่อเป็นงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว เช่น การเกิดอุบัติเหตุ 2. เพื่อใช้จ่ายในการให้บริหารด้านสาธารณสุขกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 3. เพื่อให้มีงบประมาณในการดูแลแหล่งท่องเที่ยว ที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว

และ 4. เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว ขยายขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรม การพัฒนาทักษะด้านการบริหาร-การตลาด ส่งเสริมสินค้าด้านการท่องเที่ยวใหม่ ๆ รวมทั้งการจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

นายมงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อความส่วนหนึ่งของมาตรา 24 ระบุว่า เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้ 1. เป็นเงินอุดหนุนหรือกู้ยืมแก่หน่วยงานของรัฐ เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานตามนโยบายหรือแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ รวมทั้งแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว

2. เป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การฝึกอบรม การประชุม การประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ข้อมูล 3. เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศ และ 4. เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน

นายมงคลกล่าวต่อว่า มาตรา 26 ตอนหนึ่งระบุว่า คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจและหน้าที่ โดยหนึ่งในนั้นคือ สามารถแต่งตั้งอนุกรรมการ คณะทำงานเพื่อการปฏิบัติงาน ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งอนุกรรมการจัดเก็บค่าธรรมเนียม การจัดทำประกันภัย ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนเข้ามาร่วมอยู่ในอนุกรรมการเรียบร้อยแล้ว

สำหรับระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติภายในประเทศไทย หรือ Thailand Tourism Fee System (TTF System) โดยทางอากาศมีขั้นตอนดังนี้

1. ซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านระบบออกตั๋วของสายการบิน และระบบออกตั๋ว แสดงหน้าจอคัดกรองการจัดเก็บค่าธรรมเนียม

2. ดำเนินการคัดกรองตามเงื่อนไขในการคัดกรองข้อมูล จะใช้พาสปอร์ตในการคัดกรองข้อมูล เงื่อนไขในการคัดกรองข้อมูล

โดยเงื่อนไขในการคัดกรองข้อมูล โดยหากเป็นผู้ถือพาสปอร์ตชาวไทย หรือชาวต่างชาติที่ถือพาสปอร์ต Diplomat/Official, Work Permit, ทารกอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่หากเลือกเป็น Other (Visitor) ต้องชำระค่าธรรมเนียม และอาจมีหน้า Pop-up ให้กดยอมรับในเงื่อนไขการทำประกันภัยก่อนการเข้าประเทศไทย

ทั้งนี้ หากเลือกมีใบอนุญาตการทำงาน (Work Permit) ต้องใส่เลขใบอนุญาตการทำงาน หรือเลือกมีทารกอายุต่ำกว่า 2 ปี (Infant : under 2 years of age) ต้องใส่ วัน/เดือน/ปีเกิด ด้วย ซึ่งตัวเลือกทุกตัวเลือกจะมีรหัสกำกับไว้ รายละเอียดเป็นไปตามข้อกำหนดที่ทางกระทรวงกำหนด

3. สายการบินดำเนินการออกตั๋วโดยสาร ที่ผ่านการคัดกรองแล้ว

4. เดินทางไปสนามบิน ทำการ Check-in และผ่านพิธีต่าง ๆ ก่อนขึ้นเครื่องบิน

5. สายการบินดำเนินการนำส่งข้อมูลรายชื่อผู้โดยสารทั้งลำ *(Final Passenger Manifest) ของเที่ยวบินนั้น ๆ ผ่านช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูล (API) หรือการอัพโหลดไฟล์ผ่านเว็บไซต์ (Upload File) หลังจาก 15 นาที ที่ทำการบิน

6. ระบบ TTF ได้ข้อมูล Final Passenger Manifest แล้ว ให้ดำเนินการคำนวณการเปิดความคุ้มครองของกรมธรรม์

และ 7. นักท่องเที่ยวเดินทางถึงประเทศไทย จะได้ความคุ้มครองจากประกันภัยทันที

ส่วนข้อมูลที่ทำการจัดเก็บ คือ รหัสเที่ยวบิน, วันที่, สถานีต้นทาง (Original Station), สถานีปลายทาง (Arrival Station), ชื่อ*, ชื่อกลาง*, นามสกุล*, เพศ*, วันเดือนปีเกิด, เลขพาสปอร์ต*, สัญชาติ*, เลขที่นั่ง, อีเมล์, รหัสการคัดกรองค่าธรรมเนียม (TicketBox Type Code), รหัสยอมรับประกัน (Insurance Acceptance Code), เลขใบอนุญาตทำงาน (Work Permit Number), เลข TTF (TTF Number)

(*)ข้อมูลสำหรับการประกันภัย ประกันภัยให้ความคุ้มครอง 30 วัน และทางกระทรวงจะมีการจัดเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 90 วัน ข้อมูลนี้ใช้สำหรับการจัดส่งข้อมูลผู้โดยสารบนเครื่อง หลังจาก 15 นาที ที่ทำการบิน เพื่อระบุการชำระค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวฯ และการเปิดความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัย

“การจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทางบกและทางน้ำนั้น กระทรวงกำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำประกาศอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะมีการจัดเก็บในระยะเวลาใกล้เคียงกัน” นายมงคลกล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการ (Road Map) มีดังต่อไปนี้ ขั้นตอนที่ 1 ลงทะเบียนสายการบินภายใน 15 วัน (เปิดทดสอบการลงทะเบียนวันที่ 2 พฤษภาคม 2565) 2. ประกาศราชกิจจานุเบกษา 3. เชิญสายการบิน (ที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว) จัดฝึกอบรมและแนะนำการใช้งานระบบ TTF System ทั้งการใช้งานและการพัฒนาระบบเชื่อมต่อ

4. การร่วมพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูล Final Passenger Manifest, การทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูล และ 5. เริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวฯ อย่างเป็นทางการ ใช้ระยะเวลาราว 90 วันหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา คาดว่าเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565

ด้านรายละเอียดเบื้องต้นกรมธรรม์ประกันภัยมีดังต่อไปนี้ วงเงินเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จำนวน 1,000,000 บาท, วงเงินค่าชดเชยเสียชีวิตจากเหตุอาชญากรรม การประท้วง ความรุนแรง จำนวน 500,000 บาท, วงเงินค่ารักษาพยาบาล-การส่งตัวรักษาพยาบาลจำนวน 500,000 บาท

นายอายุตม์ สุคันธารุณ ที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของสายการบิน โดยระบุว่า สายการบินสามารถลงทะเบียนได้ดังนี้ 1. สายการบินเข้าสู่เว็บไซต์ในการลงทะเบียนสายการบิน

2. บันทึกข้อมูลสายการบิน, แนบเอกสารหลักฐาน, ระบุบุคลากรในการประสานงานด้านต่าง ๆ 3. แจ้งผลสถานะการลงทะเบียนสายการบินผ่านบัญชีอีเมล์ทางการ 4. ตั้งค่ารหัสผ่านสำหรับใช้งานระบบ สำหรับสายการบิน และ 5. เข้าใช้งานระบบ สำหรับสายการบิน

นายอายุตม์กล่าวต่อว่า ช่องทางการจัดส่งข้อมูลสำหรับสายการบินสามารถทำได้สองช่องทาง คือ 1. การให้บริการเว็บเซอร์วิส API : พัฒนาระบบ ในการจัดส่งข้อมูล Final Passenger Manifest ผ่าน API ของระบบ TTF System ตามข้อกำหนดในเอกสาร White Paper และ 2. การนำเข้าไฟล์ข้อมูล : จัดทำข้อมูลตาม Excel Template ที่กำหนดและอัพโหลดผ่านเว็บไซต์

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนสายการบินได้แสดงความกังวลเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา สายการบินต้องฝ่าวิกฤตโควิด-19 และพึ่งจะมีการฟื้นตัว การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของต้นทุนและจำนวนผู้โดยสารได้