เปิดบันทึก – ระทึก “สมชาย” ก่อนศาลฎีกายกฟ้องคดี 7 ตุลา

“ผมเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ไม่ใช่จะไม่รู้เรื่องของกระบวนการยุติธรรม….”

แล้วศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็พิพากษา “ยกฟ้อง” อดีตนายกรัฐมนตรี 75 วัน ชื่อ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์”

จากคดี อม.2/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302

จากกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 7 ต.ค. 2551 หน้าอาคารรัฐสภา มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และผู้บาดเจ็บ 471 ราย

ทว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ศาลฎีกาฯ ยกคำร้องคือ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ หน้าอาคารรัฐสภาเมื่อ 7 ต.ค.2551 ศาลชี้ว่าไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก

ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงที่ “สมชาย” เป็นนายกฯ 75 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2551 หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เขาเป็นนายกฯคนที่ 26 ต่อจาก “สมัคร สุนทรเวช”

ป็นนายกฯที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดรองจากทวี บุญยเกตุ 17 วัน และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร 47 วัน

ที่มานายกฯนอกทำเนียบ

เป็นนายกฯคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเข้าบัญชาการประเทศที่ทำเนียบรัฐบาล เหตุผลเพราะกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบเอาไว้

สถานที่บัญชาการประเทศของ “สมชาย” ช่วงแรกคือสนามบินดอนเมือง เหตุผลเพราะขณะนั้นสนามบินดอนเมืองถูกทิ้งร้าง และอยู่ใกล้บ้าน

“การทำงานในทำเนียบชั่วคราวที่สนามบินดอนเมืองไม่ได้เป็นอุปสรรคใด ๆ ต่อการทำงาน เพียงแต่ช่วงนั้นผมรู้สึกอึดอัดและขมขื่นที่สุดโดยเฉพาะเวลาไปประชุมที่ต่างประเทศ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้นำต่างชาติถามผมว่าปล่อยให้คนไม่กี่คนเข้ามายึดทำเนียบได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีคำตอบที่มีเหตุผลไปบอกเขาได้”

“ผมอาจเป็นนายกฯที่ไม่ได้เข้าทำงานที่ทำเนียบเลย พรรคพวกผมบางคนบอกว่า ผมเป็นนายกฯที่มีทำเนียบรัฐบาลใหญ่ที่สุดในโลก แถมนำเครื่องบินลงจอดได้จำนวนมากอีกด้วย”

เรียกถก ครม.กลางดึก

แต่เหตุที่ทำให้ “สมชาย” ต้องกลายเป็น “จำเลย” คือวัน 7 ตุลาเลือด

วันนั้น “สมชาย” และ ครม.ต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรที่อาคารรัฐสภา กลุ่มพันธมิตรฯเคลื่อนทัพจากทำเนียบมาปิดทางเข้ารัฐสภาตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 6 ตุลา

“สมชาย” จึงสั่งเรียกประชุม ครม. 5 ทุ่มของวันที่ 6 ตุลา เพื่อให้รัฐมนตรีมารวมตัวกันประชุมหาทางออกว่าจะเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันรุ่งขึ้นได้อย่างไร ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้นมารายงานสถานการณ์และขอตัวกลับไปดูความเรียบร้อยก่อนการประชุม ครม.จะเริ่มขึ้น

วง ครม.จึงได้ข้อสรุปสองทาง 1.ย้ายไปแถลงที่อื่น 2.เลื่อนแถลงนโยบายออกไปก่อน โดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ขณะนั้นเป็นเลขาธิการนายกฯ ได้ต่อสายตรงถึง “ชัย ชิดชอบ” ประธานสภา ซึ่งทั้งสองทางถูกปฏิเสธเนื่องจากการเปลี่ยนสถานที่แถลงนโยบาย ต้องขอมติจากที่ประชุมสภา แต่ขณะนั้นเรียกประชุมไม่ได้ และหากจะเลื่อนแถลงนโยบาย ก็ขัดระเบียบข้อบังคับที่จะต้องแจ้งสมาชิกสภาให้ทราบล่วงหน้า

หลังการประชุม “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” เสนอว่า ควรมอบ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” รองนายกฯดูแลเรื่องการชุมนุม เพราะเป็นผู้ใหญ่ซึ่งสามารถดูแลการชุมนุมได้

“มติ ครม.คืนนั้นมีแค่นี้ ไม่ได้มีมติให้สลายการชุมนุม” สมชายระบุ

ไม่ใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน

“มีข้อเสนอให้ผมประกาศภาวะฉุกเฉิน ใช้ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะหากรัฐบาลกระทำการรุนแรงจนพวกเขาเลือดตกยางออก ก็ย่อมเป็นเงื่อนไขที่จะพูดว่าผมเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมและคงเอาเรื่องจนถึงที่สุด”

“ถ้าประกาศภาวะฉุกเฉินก็ต้องนำกำลังทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ต้องมีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเกิดการบาดเจ็บล้มตายกันได้ ทั้งที่เห็นว่าเราเป็นคนไทยด้วยกันไม่ควรห้ำหั่นกันเอง พยายามอย่างที่สุดไม่ให้เกิดความรุนแรง”

หลังจาก “สมชาย” และคณะแถลงนโยบายสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ เพียง 3 ชั่วโมงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภามาแจ้งว่า ไม่สามารถออกทางอื่นได้เลย มีเพียงวิธีเดียวคือปีนกำแพงด้านหลังออกไปยังพระที่นั่งวิมานเมฆ เจ้าหน้าที่หาบันไดมาพาด “สมชาย” และ “ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์” ลูกสาว ซึ่งเป็น ส.ส.เชียงใหม่ ได้ปีนออกไปด้วยกัน ก่อนจะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปส่งที่กองบัญชาการกองทัพไทย ถ.แจ้งวัฒนะ

แม้ “สมชาย” ไม่อยู่ในตัวอาคารรัฐสภา แต่การสลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาก็ยังมีต่อเนื่องสลับกับหยุดเป็นบางช่วง ตั้งแต่ช่วงเช้าจดเย็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาเป็นเครื่องมือให้ม็อบพันธมิตรฯสลายตัว แต่การปฏิบัติการของตำรวจส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต 2 ราย คือ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี และ น.ส.องคณา ระดับปัญญาวุฒิ

ทว่า “สมชาย” ยืนยันแก๊สน้ำตาไม่ได้ทำให้ใครเสียชีวิต “แพทย์พิสูจน์บาดแผลและรายงานว่าได้รับบาดเจ็บบริเวณชายโครงจากวัตถุระเบิดซีโฟร์ ซึ่งไม่มีอยู่ในแก๊สน้ำตา ผมทราบเรื่องนี้มาเป็นอย่างนี้ แน่นอนย่อมมีการโต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา ผมก็รับฟังทุกฝ่าย”

แต่เมื่อเขามาหาเรื่องก็เลยเกิดปัญหาขึ้นจนได้ หลังเหตุการณ์สงบมีผู้ไปร้องเรียนเอาผิดผมต่อคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่ง ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วลงมติชี้มูลว่าผมกับพวกรวม 4 คน มีความผิด ฟ้องว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้สลายการชุมนุม ทั้งที่ไม่มีการพูดถึงการสลายการชุมนุมเลย “ผมเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ไม่ใช่จะไม่รู้เรื่องของกระบวนการยุติธรรม”

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปยังวุฒิสภาถอดถอน “สมชาย” ออกจากตำแหน่งนายกฯในเวลาต่อมา

ป.ป.ช.งัดอัยการ – ฟ้องศาลเอง

กระนั้น 9 มี.ค. 2553 วุฒิสภาไม่ถอดถอน ด้วย 76 ต่อ 49 เสียง งดออกเสียง 9 บัตรเสีย 3 ไม่ถอดถอนนายสมชายออกจากตำแหน่ง

แต่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดฟ้องเอาผิดต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้อัยการตีสำนวนกลับ เพราะสำนวนยังไม่สมบูรณ์ แต่ ป.ป.ช.ไม่ยอม จึงตั้งคณะกรรมการร่วม แต่หาข้อยุติกันไม่ได้ ป.ป.ช.จึงยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาเอง

สมชายบอกว่า ผมอดทนอดกลั้นและหลีกเลี่ยงปัญหาถึงขนาดนี้ แต่ ป.ป.ช.ก็ยังมาดำเนินคดีกับผมในข้อหาสั่งสลายการชุมนุม ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตาย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การที่ผมต้องถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งที่หลีกเลี่ยงอย่างเต็มที่แล้ววันนั้น ไม่มีความเป็นธรรมกับผมเลย

จาก 7 ตุลา 2551 ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ผ่านมา 2 ปี 6 เดือน

แล้วศาลฎีกาก็พิพากษายกฟ้องเขาและพวก