ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลัง Baker Hughes เผยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐปรับลง 5 แท่น

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลัง Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ส.ค. 60 ปรับลดลงจำนวน 5 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 763 แท่น ซึ่งเป็นผลตอบรับระดับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้า

+ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุน จากปริมาณอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งสัญญาณถึงภาวะตึงตัวหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) มีการรายงานการปรับลดของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ กว่า 8.95 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในปัจจุบันอยู่ที่ 466.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าระดับในปี 59

– แม้ว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มปรับลดลง แต่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 60 และ 61 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าปริมาณการผลิตในปี 59 ที่ระดับ 8.9 ล้านบารร์เรลต่อวัน

+ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของไนจีเรียในเดือน ต.ค. 60 มีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และนับเป็นระดับที่ต่ำกว่าแผนการส่งออกในเดือน ส.ค. และ ก.ย. ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่คาดว่าจะมีสภาวะตึงตัว หน่วยผลิตน้ำมันเบนซินของโรงกลั่นในประเทศจีนเกิดเหตุเพลิงไหม้ ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการหยุดดำเนินการหน่วยดังกล่าวอย่างกะทันหัน

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่ตึงตัวขึ้นหลังโรงกลั่นในออสเตรเลียหยุดซ่อมบำรุงฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม อุปทานในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และอุปสงค์คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะซบเซาซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้ที่ปรับลดลงในช่วงฤดูฝน

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นในสหรัฐ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ส.ค. ปรับลดลง 6.5 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนที่ระดับ 475.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล

การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 3 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 768 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองในรอบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องหลังกลุ่มประเทศสมาชิกในข้อตกลงได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก คาซัคสถาน และมาเลเซียแสดงเจตจำนงพร้อมที่จะเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตให้เป็นไปตามข้อตกลง นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. ลงประมาณ 520,000 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะปรับลดการส่งออกลงร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด