ส่องตัวละคร “ฝ่ายแพ้ – ชนะ” ในคืนปฏิวัติ 19 กันยา จากผู้คุมกำลังยึดอำนาจ…วันนี้เป็นนายกฯ – รัฐมนตรี

19 กันยายน 2549 ในคืนยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แม้จะเป็นฉากจบของรัฐบาลทักษิณ ทว่า กลับเป็นฉากเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองและล่วงเลยก้าวย่างเข้าปีที่ 11…สงครามยังไม่จบ

นักแสดงนำ ที่ถูกประทับตราเป็น “ผู้แพ้” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ถูกยึดอำนาจ เป็นรัฐบาลพลัดถิ่น แม้จะลุกขึ้นสู้ข้ามทวีป ผ่าน “ขุนพลคนสนิท” ทว่า “แผนต้านปฏิวัติ” ก็ถูกฉีกขาดวิ่น

ทำให้เขาต้องทิ้งแผ่นดินมาตุภูมิ บุตร-ภริยา พเนจรในต่างแดน แม้ปัจจุบันทักษิณจะหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ทว่า “คดีดำ” อีก 5 คดี กำลังจะถูกคิดบัญชี-พิพากษาลับหลัง

ขณะที่ “ขุนพลทักษิณ” ทั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ “หมอเลี้ยบ” อดีตโฆษกประจำสำนักนายกฯ เป็น 1 ในไม่กี่คนที่ร่วมโต๊ะอาหารเช้า ร่วมชะตากรรมกับทักษิณในโรงแรมหรู กลางกรุงนิวยอร์กในคืนวันปฏิวัติ เพื่อประเมินข่าวลือปฏิวัติ

ปัจจุบันเพิ่งได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 60 ภายหลังได้รับการพักโทษเนื่องจากเป็นนักโทษชั้นดี-ชั้นเยี่ยม ในคดีแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อบริษัทชินคอร์ป

“พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์” อดีตรองนายกฯ-รมว.ยุติธรรม ผู้กุม “แผนต้านปฏิวัติ” ทว่าตัวจุดระเบิดแผนต้านปฏิวัติต้องเป็นหมัน กลายเป็น “จำเลยการเมือง”

เขาก็หันหลังให้กับการเมือง หันหัวให้กับการทำธุรกิจ แถมยังได้รับเครดิตจาก คสช.ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บทเรียนในใจของเขาที่ตกผลึกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ สัจธรรม…อำนาจมีขึ้น-มีลง

“ภูมิธรรม เวชยชัย” อดีต รมช.คมนาคม เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แม้เขาจะไม่ได้ถูกหมายหัวจากนายพล คปค. หลังเร้นกายอยู่ในเซฟเฮาส์หลังยึดอำนาจ แต่เขาก็เป็น 1 ในขุนพลที่ทักษิณไว้ใจ เป็นคนที่ถูก พล.อ.สนธิเรียกเข้าไป “ขอ” ให้ยุติบทบาททางการเมือง

“ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เขาถูกขนานนามว่าเป็น “ขุนพลข้างกายนายใหญ่” แต่หลังการเลือกตั้ง 2551 กลับเป็นต้นเหตุทำให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบ ถูกตัดสิทธิการเมืองเป็นบ้านเลขที่ 109

“เนวิน ชิดชอบ” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร้ายทางการเมืองหมายเลข 1 ของ คปค. ทว่าแม้ฟ้าหลังฝนในคืน 19 กันยาฯ เนวินจะไต่ลวดอำนาจขึ้นมาในระดับ “พลิกขั้ว” การเมืองให้กับฝ่ายตรงข้ามพรรคทักษิณ ทว่าในวันนี้เขาหันไปรับบทประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ดพาสโมสรคว้าแชมป์ไทยลีก-ลีกสูงสุด 4 สมัย มีสนามแข่งรถระดับภูมิภาค-ช้าง อินเตอร์เนชั่นเนล เซอร์กิต

“วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกฯ ในรัฐบาลไทยรักไทย แต่วันนี้เขาคือรองนายกฯ ในรัฐบาล คสช.

ฟากฝั่งผู้ชนะยังโคจรอยู่รอบวงอำนาจ ทั้งในยุคปฏิวัติ คปค.-คสช. “พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” รองแม่ทัพภาคที่ 1 เขาเป็นกองหนุนคนสำคัญในการปฏิวัติ 19 กันยาฯเพราะแนบแน่นกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 ร่วมรบเคียงบ่า-เคียงไหล่ ร.21 รอ. พล.ร.2 รอ. และมีตำแหน่ง สนช.ในยุค คมช.

ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ.-หัวหน้า คสช. แหกกฎต้องห้าม “หัวหน้าปฏิวัติ” เป็น “นายกฯ” เสียเอง ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ก็พาเหรดรับตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาล-คสช.

“พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” แม่ทัพภาคที่ 1 ขณะนั้น เขาคุมกองกำลังปฏิวัติจนยึดอำนาจได้สำเร็จ ทั้งที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 10 กับ “ทักษิณ” ต่อมาหลังจาก พล.อ.สนธิ ลงจากอำนาจ “พล.อ.อนุพงษ์” ก็สืบทอดตำแหน่ง ผบ.ทบ.แทน และว่ากันว่าคือ “ดีลเมกเกอร์” สำคัญที่ทำให้เกิดวาทกรรม “จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” ในเวลาต่อมา

“พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์” อดีตรอง ผบ.สส. ผู้รับเกลี้ยกล่อม พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส.ในขณะนั้น ไม่ให้ถลำลึกไปกับกองบัญชาการต้านปฏิวัติ-เปิดศึกรบกันเอง ถัดมา พล.อ.บุญสร้างได้รับตำแหน่ง ผบ.สส. และในยุค คสช.นั่งอยู่ในแม่น้ำสายสนช.และหัวโต๊ะคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ

 


หมายเหตุ : อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ ในคืนยะเยือก