ไม่ได้ห้ามขาย! โพสต์ภาพคู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิด-ถูก ดูเจตนา ย้ำทำตามกฎหมาย “อย่าโฆษณา”

กลายเป็นประเด็นขึ้นอีกครั้ง กรณีการโพสต์ภาพตนเองคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมของบรรดาเหล่าเซเลบคนดัง ทั้งดารานักแสดง ศิลปินนักร้อง หรือแม้กระทั่งเน็ตไอดอล โดยมีการระบุว่าหากมีการโพสต์ลักษณะนี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย!!

งานนี้เกิดคำถามขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในผู้เล่นโซเชียลมีเดียทั้งหลายว่า แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า การโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบใดไม่สุ่มเสี่ยง และใครเข้าข่ายต้องระวังมากที่สุด

นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า หากเป็นบุคคลทั่วไป ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งนี้ ในมาตรา 32 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ดังนั้น ในกรณีคนดังจึงเข้าข่าย เนื่องจากคนดัง ดารา นักร้องนักแสดง พวกเซเลบ หรือเน็ตไอดอลต่างๆ นั้น ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่มีประชาชนติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเคยมีการศึกษาหลายครั้งว่า เด็กและวัยรุ่นนิยมชมชอบดาราศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ และมีโอกาสเกิดการเลียนแบบได้ แม้กระทั่งเน็ตไอดอลที่มีคนติดตามเยอะๆ เป็นหมื่นๆ คน หากพบว่ามีการโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะเข้าข่ายต้องถูกเรียกมาสอบถามหาข้อเท็จจริงแต่เข้าข่ายก็ใช่ว่าจะผิดทั้งหมด

นพ.สุเทพระบุว่า ดาราคนดัง หรือเน็ตไอดอลโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วจะผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯทั้งหมด ก็ไม่ใช่ เพียงแต่ก็ต้องเข้ามารับการสอบถาม ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะทั้งหมดต้องคำนึงถึงเจตนาว่า จริงๆ แล้วมีเจตนาจะโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่อย่างไร หากไม่มีก็ไม่ผิด แต่ก็ต้องมีการพิจารณาก่อน ส่วนประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นผู้ถูกจ้างให้ทำการโฆษณาก็ถือว่าไม่ผิด

ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวล แต่ก็ยังเกิดคำถามว่า แล้วถ้าประชาชนมีการแชร์ภาพคนดังๆ โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียล แม้จะเป็นภาพเก่าถือว่าผิดหรือไม่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่า ก็ต้องกลับไปดูเจตนาอยู่ดี

ADVERTISMENT

สิ่งเหล่านี้จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน แต่ทั้งหมดขอย้ำว่า ไม่ได้มุ่งจับผิดคนดัง เพียงแต่อย่าลืมว่า การโฆษณาผ่านบุคคลสาธารณะ ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่ง อาจเป็นทั้งทางตรงทางอ้อม เป็นได้หมด

ดังนั้น ก็ต้องอยู่ที่เจตนาว่า มีการโฆษณาทางตรงหรือทางอ้อม หากไม่มี กลุ่มดารานักแสดง คนดังต่างๆ ที่มีการโพสต์ก็สบายใจได้ เพราะการมีกฎหมายลักษณะนี้ก็เพื่อป้องกันการโฆษณามากเกินไป และป้องกันเด็กๆ และเยาวชนเข้าสู่วงโคจรนักดื่ม หลายคนดื่มจนติดจนเกิดปัญหาทางสังคม

ADVERTISMENT

อย่าลืมว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดเป็นยาเสพติดถูกกฎหมายอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นต้องป้องกันให้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากยังจำกันได้ ประเด็นเรื่องการเอาผิดดารานักแสดงคนดังต่างๆ ในการโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เกิดขึ้นในสมัย นพ.สมาน ฟูตระกูล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการจับกุมจนเป็นข่าวโด่งดังขึ้นประมาณปี 2558 โดยมีการดำเนินการเอาผิดตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แบ่งออกเป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1 คือ มีความชัดเจนของการโฆษณา ทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ถือว่าผิด

กรณีที่ 2 หากมีการแย้งว่าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่อาจเข้าข่ายการอวดอ้างสรรพคุณ และมีพฤติกรรมร่วมโดยการชักจูงให้ดื่มโดยทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ใช้ภาพดารา นักร้อง นักแสดง นักกีฬา มาชักจูง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นเหมือนแม่เหล็ก แค่โพสต์ภาพก็ทำให้คนเลียนแบบ รวมไปถึงการมีข้อความจูงใจดื่มแล้วดี หรืออะไรก็ตาม ทั้งหมดเข้าข่ายผิดมาตรา 32

ในขณะนั้น นพ.สมานได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบมีดาราเข้าข่ายประมาณ 30 คน โดยพบว่า ขณะนั้นมีดารากลุ่มหนึ่งอยู่ในแคมเปญของธุรกิจเหล้ายี่ห้อหนึ่ง ออกมาจัดกิจกรรมให้ประชาชนถ่ายรูปลงกับอินสตาแกรม หากใครชนะก็จะได้ถ่ายรูปคู่กับดาราในกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดตามมาตรา 32 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในกลุ่มบุคคลทั่วไปอาจปรับได้ตั้งแต่ 2 แสนบาท 3 แสนบาท หรือ 5 แสนบาท แต่หากเป็นธุรกิจเหล้าจะมีโทษปรับสูงสุด 5 แสนบาท ส่วนจำคุกมักเป็นรอลงอาญา

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ออกอินโฟกราฟิกถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้ ดังนี้ การโฆษณาที่ทำได้ไม่ผิดกฎหมาย 1.โฆษณาตามที่กฎหมายกำหนด 2.ให้ข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคมและไม่แสดงภาพสินค้า 3.โฆษณาที่ถ่ายทอดสดจากต่างประเทศ เช่น ถ่ายทอดสดฟุตบอลที่เห็นสัญลักษณ์สินค้า

สำหรับห้ามโฆษณามี 1.อวดอ้างสรรพคุณ 2.ใช้เซเลบดารา นักกีฬาหรือเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ที่เป็นผู้โฆษณา 3.แสดงภาพสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.ชักจูงเชิญชวนให้ซื้อ 5.ให้รางวัล ของแถม ชิงโชค 6.ใช้ภาพการ์ตูน และ 7.โฆษณาเกินเวลา 22.00-05.00 น. หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษ ม.32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาท จนกว่าจะทำให้ถูกต้อง

หลังจาก นพ.สมานถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค (คร.) สปอตไลต์ได้ฉายมาที่ นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวชŽ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนใหม่ทันทีว่าจะมีการสานต่อเรื่องนี้อย่างไร

กระทั่งไม่กี่วันจึงปรากฏเป็นข่าวความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการออกมาดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยนพ.นิพนธ์บอกว่า ตามที่มีการเปิดเผยรายชื่อศิลปินไปก่อนหน้านี้ เป็นคดีเดิมที่ต่อเนื่องมาจากกรณีที่เป็นข่าวในช่วงก่อนหน้านี้ แต่คดียังไม่เสร็จ ตอนนี้ก็รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วจึงส่งเรื่องไปให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ก่อนดำเนินการในชั้นศาลต่อไป

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะอยู่ในฐานะพยาน และดำเนินการตรวจสอบเคสอื่นๆ ต่อไป เพราะตอนนี้พบพฤติกรรมการโฆษณาแฝงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่เยอะ อย่างเรื่องของการใช้ตราสัญลักษณ์ รวมถึงชื่อเรียกยี่ห้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปใช้เรียกผลิตภัณฑ์อื่นๆ นั้น ก็ยังมีความกังวลอยู่ หากจะพูดไปก็มีผลต่อการจดจำของคน

จากการศึกษาครั้งล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ พบอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานานของผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มมากขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชายถึงร้อยละ 30 จึงอยากจะขอความร่วมมือตรงนี้ด้วย

เราไม่ได้ห้ามขาย ไม่ได้ห้ามดื่ม แต่อยากให้ทำตามกฎหมายด้วยคือ ห้ามโฆษณา

 

ที่มา : มติชนออนไลน์