กฟผ. ร่วมขบวนอีวี อีโคซิสเต็ม ขับเคลื่อนอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทย

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางของโลกที่พร้อมใจกันเร่งแก้ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและการปล่อยคาร์บอนสู่อากาศด้วยการหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยมีการออกมาตรการส่งเสริมอีวีด้วยการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์และภาษีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ภาษีสรรพสามิตก็ได้ปรับลดจาก 8% เหลือ 2% ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันก็มีราคาที่ต่ำกว่ายุคแรก ๆ เป็นเท่าตัวอยู่แล้ว ดีไซน์ล้วนเท่ทันสมัย ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อบวกกับวิกฤตราคาน้ำมันที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความสนใจยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น สอดรับกับการคาดการณ์จากนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ว่า ในปีนี้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่มีจะแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดทะลุ 10,000 คัน 

ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้กำหนดทิศทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่มุ่งให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยตั้งเป้า​ปี 2568 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวม 1​ ล้านคัน และเพิ่มเป็น​ 18.4 ล้านคันในปี​ 2578

เปิดตัวเครื่องชาร์จเร็ว ‘Supernova’ เครื่องแรกในเอเชีย

เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตด้านยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย’ จึงได้ร่วมกับบริษัท Wallbox Chargers N.V. ประเทศสเปน ติดตั้ง ‘Supernova’ เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charger) ภายใต้แบรนด์ ‘Wallbox’ เป็นเครื่องแรกของภูมิภาคเอเชีย บริเวณหน้าร้านกาแฟคุณสายชล อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 

จุดเด่นของ Supernova คือ สามารถจ่ายไฟได้สูงสุด 60 กิโลวัตต์ โดยใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที สามารถวิ่งได้ไกลถึง 100 กิโลเมตร รองรับหัวชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกยี่ห้อในท้องตลาด ซึ่งผ่านการทดสอบกับรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบรนด์ คือ Nissan LEAF และ Mitsubishi Outlander PHEV ทั้งสองรุ่นนี้ใช้หัวชาร์จแบบ CHAdeMO ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอีกรุ่นคือ Audi e-tron ซึ่งเป็นหัวชาร์จแบบ CCS2 ทั้งในส่วนของระบบป้องกันความปลอดภัย ความเร็วและประสิทธิภาพในการชาร์จ ความต่อเนื่องและความทนทานในการใช้งาน รวมถึงระบบปฎิบัติการด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ พบว่า การชาร์จไฟจาก Supernova เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบของรถยนต์ไฟฟ้า

Supernova ยังถูกออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด ดีไซน์ที่ทันสมัย จึงเหมาะกับการติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ร้านอาหารทั่วไป รวมถึงสถานประกอบการรถเช่า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยใช้เวลาชาร์จ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ในอนาคตหากผู้ประกอบการต้องการเพิ่มกำลังไฟฟ้าเป็น 130 กิโลวัตต์ สามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องซื้อเครื่องอัดประจุไฟฟ้าใหม่

กฟผ. จึงมีแผนขยายการติดตั้ง Supernova ภายในสถานี EleX by EGAT ในหลายพื้นที่ โดยสามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น EleXA และพร้อมจำหน่ายให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ค่ายรถยนต์ ได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

อัพเกรดแล็บทดสอบอีวี ชาร์จเจอร์ 150 กิโลวัตต์ 

นอกจากการเร่งขยายเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ DC Fast Charge แล้ว กฟผ. ยังร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาแล็บทดสอบหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานสากลรองรับ (IEC 61851) ซึ่งตั้งอยู่ภายในห้องทดสอบสถานีชาร์จ (PTEC) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งจากเดิมสามารถทดสอบหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าได้เพียง 60 กิโลวัตต์ ขยายเพิ่มเป็น 150 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นหัวชาร์จไฟฟ้าแบบกระแสตรงขนาดใหญ่ เพื่อให้ครอบคลุมการทดสอบหัวชาร์จสำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า หัวรถลากไฟฟ้า และเรือเฟอร์รี ทำให้ผู้ประกอบการที่สนใจผลิตหัวชาร์จไฟฟ้าสามารถนำมาทดสอบเพื่อขอรับรองมาตรฐานแทนการส่งไปทดสอบในต่างประเทศ ช่วยลดต้นทุนในการผลิตและระยะเวลาในการพัฒนา ส่งผลให้ราคาของหัวชาร์จไฟฟ้าไม่สูงมาก สามารถแข่งขันในตลาดได้ 

อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยของระบบชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยสารสาธารณะทั้งบนถนนและแม่น้ำให้ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากสถานีชาร์จเป็นองค์ประกอบหลักของอีวี อีโคซิสเต็ม ต้องมีทั้งทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ปลอดภัย ครอบคลุมพื้นที่การเดินทาง ได้มาตรฐานสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไปหรือยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง 

การติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง ‘Supernova’ และพัฒนาแล็บทดสอบหัวชาร์จไฟฟ้าขนาดใหญ่ 150 กิโลวัตต์ จึงถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน