กระดานหุ้น ‘SME-สตาร์ตอัพ’ เทรดจริงไตรมาส 3 โอกาสนักลงทุนรายย่อยมีมั้ย?

กระดานหุ้น ‘SME-สตาร์ตอัพ’ บริษัทตบเท้าเตรียมยื่นไฟลิ่ง 31 มี.ค.นี้ บริษัทแรกจ่อเทรดจริงไตรมาส 3 ปีนี้ ซื้อขายได้เฉพาะนักลงทุนสถาบัน-รายใหญ่ ชี้ในอนาคตศึกษาตั้งกองทุนฯ เปิดโอกาสรายย่อย

วันที่ 28 มีนาคม 2565 รายการ “Prachachat Wealth” เล่าเรื่องการลงทุน EP ที่ 9 จะพาไปทำความรู้จักตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กเช้นจ์ (LiVEX) หรือกระดานหุ้น “เอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ” ที่จะเริ่มซื้อขายจริงในไตรมาส 3 ของปีนี้

ตลาดหลักทรัพย์ LiVEX เหมือนหรือต่างจาก SET และ mai

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กเช้นจ์ (LiVEX) เปิดเผยว่า สถานะของบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนทั้ง 3 ตลาด (SET, mai, LiVEX) เนื่องจากอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันคือ พ.ร.บ.หลักทรัพย์, พ.ร.บ.มหาชน, เกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เกณฑ์ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการผ่อนคลาย เพราะฉะนั้นต้องเป็นบริษัทมหาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และได้รับการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นจากสำนักงาน ก.ล.ต.

ในส่วนขนาดของบริษัทหรือคุณสมบัติใน SET กำหนดว่าต้องมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาทขึ้นไป ตลาด mai ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทขึ้นไป และมีเกณฑ์กำไรใน 2-3 ปีก่อนเข้า SET ต้องมีกำไรรวมกันมากกว่า 50 ล้านบาท และกำไรปีล่าสุดไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ตลาด mai ต้องมีกำไรมากกว่า 10 ล้านบาท

ตรงนี้เราเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ดูทุน ไม่ดูกำไร แต่เรามาดูบริษัทที่มีรายได้ระดับหนึ่งแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงการเติบโต เพราะฉะนั้นเราก็มาดูที่ขนาดของเอสเอ็มอี ถ้าเป็นเอสเอ็มอีคือขนาดกลางตามนิยาม สสว. คือมีรายได้ 50 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับธุรกิจภาคบริการ รายได้ 100 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับธุรกิจภาคผลิต โดยที่กำไรอาจจะยังไม่ถึงเกณฑ์ mai หรือไม่ถึง 10 ล้านบาทก็ได้

หรือถ้าเป็นสตาร์ตอัพ ก็เป็นสตาร์ตอัพที่อยู่ในช่วง Growth Stage ก็คือมี VC (นิติบุคคลร่วมลงทุน) หรือ PE (กิจการเงินร่วมลงทุน) เพราะเราคิดว่า PE หรือ VC เป็นนักลงทุนที่มีเหตุผล ต้องมีการวิเคราะห์อย่างดีแล้วถึงมาลงทุนในสตาร์ตอัพเหล่านี้

ในส่วนที่เป็น silent period (ระยะเวลาห้ามขายหุ้น) จะเห็นว่าใน SET และ mai มีการล็อกผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 1-3 ปี จำนวน 55% ตามความเสี่ยง สามารถทยอยขายหุ้นได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

ใน LiVEX เนื่องจากเราคิดว่าจะมีความเสี่ยงสูงกว่า เพราะฉะนั้นเราล็อกเท่ากับ 3 ปีของความเสี่ยงสูงสุดใน SET และ mai เช่น เกณฑ์อินฟราสตรักเจอร์ หรือเกณฑ์ New Economy ที่อาจจะมีความเสี่ยงสูงก็ล็อก 3 ปีเหมือนกัน

ในการยื่นคำขอและการเสนอขายจะมีที่ปรึกษาทางการเงินหรือไม่มีก็ได้ ถ้าบริษัทสามารถทำข้อมูลเองได้ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายไปได้หลายล้านทีเดียว แต่ยังต้องมี Underwriter ในการที่จะมาเสนอขายหุ้นให้กับผู้ลงทุน เพราะ Underwriter จะเป็นคนที่ทำหน้าที่ในการ KYC ตรวจสอบว่าผู้ลงทุนมีคุณสมบัติเป็นสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ หรือเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท

อยากจะไฮไลต์มูลค่าการระดมทุน เรากำหนดไว้ว่าต้องอยู่ในช่วงไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือไม่เกิน 500 ล้านบาท และการระดมทุนต้องได้เงินอย่างน้อย 80% ของมูลค่าที่ตั้งไว้ถึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ ถ้าไม่ถึงต้องคืนเงินให้กับผู้ลงทุน ที่ต้องตั้ง 10 ล้านบาท เพราะสำนักงาน ก.ล.ต.บอกว่าบริษัทที่เข้าระดมทุนต้องไม่ใช่ Investment Company และต้องไม่เป็น Direct Listing ก็คือเข้ามาจดทะเบียนโดยไม่ระดมทุนเลย

ประเภทผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ LiVEX

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า ผู้ลงทุนในคอนเซ็ปต์ของการออกแบบไลฟ์เอ็กเช้นจ์ คือให้ผู้ลงทุนที่มีความสามารถ มีความรู้ และมีฐานะพอที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เข้ามาร่วมลงทุนในตลาดนี้ เพราะฉะนั้นตลาดนี้จะไม่มีผู้ลงทุนรายบุคคล

ให้เฉพาะกลุ่มที่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็คือผู้ลงทุนสถาบัน รวมทั้ง VC และก็ PE และคนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน ก็คือมีมืออาชีพในเรื่องของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การลงทุน หรือ Angel Investor และเปิดโอกาสให้กับคนที่รู้จักบริษัทเป็นอย่างดี มีความสัมพันธ์กับบริษัท เข้าใจธุรกิจของบริษัท เข้าใจความเสี่ยง

เช่น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วมของเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพเหล่านั้น และกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ ก็คือ high-net worth หรือ Ultra High Net Worth ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ รวมทั้งมีฐานะที่จะดูแลตัวเองได้

การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ LiVEX

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ต้องซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ เพราะโบรกเกอร์เป็นคนที่ทำ KYC ตรวจสอบผู้ลงทุน ระบบการซื้อขายจะแยกจาก SET และ mai เป็นอีกระบบหนึ่ง บัญชีการซื้อขายจะเป็นแบบ Prepaid ก็คือการจะซื้อหุ้น ต้องมีเงินอยู่ในบัญชี การขายหุ้นต้องมีหุ้นอยู่ในพอร์ต พร้อมจะซื้อขายได้ ไม่อนุญาตให้มีการ Short Sales

อีกอย่างที่สำคัญคือ วิธีการซื้อขายจะแตกต่างจาก SET และ mai เพราะว่าใน SET และ mai เราซื้อขายกันตลอดทั้งวัน เพราะว่ามีนักลงทุนเยอะ อันนี้เราคิดว่านักลงทุนกลุ่มที่จำกัด อาจไม่จำเป็นต้องซื้อขายตลอดทั้งวัน แต่เราจะให้ซื้อขายทุกวัน วันละ 1 รอบ ก็คือส่งคำสั่งซื้อขายมาได้ตั้งแต่ 09.30-11.00 น. หลังจากนั้นเราจะทำการ Match ราคา ก็จะได้ราคาของวันนั้นออกมา

และการชำระและส่งมอบหุ้น จะเป็นแบบ T ก็คือภายในวันนั้นที่มีการซื้อขาย แตกต่างใน SET จะเป็น T+2 และอีกอันที่น่าสนใจคือ เราไม่มีการกำหนด Ceiling และ Floor และไม่มี Circuit Breaker นะครับ ในส่วนสุดท้ายคือ ตลาดหลักทรัพย์อาจจะมีเรื่องของการเข้าไปหยุดพักซื้อขาย ถ้ามีกรณีที่มีการซื้อขายผิดปกติ หรือตอนที่บริษัทเตรียมตัวที่จะย้ายไปจดทะเบียนใน SET และ mai

จะเปิดให้บริษัทเข้ามายื่นไฟลิ่งและซื้อขายได้เมื่อไร

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ไลฟ์เอ็กเช้นจ์จะเปิดให้กับบริษัทเข้ามายื่นไฟลิ่งใน Live Platform ได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป เราได้เตรียมบริษัทที่น่าจะมีโอกาสเข้ามาระดมทุน 10 กว่าบริษัท ที่มีความพร้อม และความสนใจที่จะเข้ามาระดมทุนในไลฟ์เอ็กเช้นจ์ เพียงแต่ต้องทยอยเข้ามาในปี 2565-2567 วันนี้เราก็มี 3 บริษัท ที่เรากำลังเวิร์กอยู่ ในเรื่องการยื่นไฟลิ่งในปี 2565 นี้

บริษัททางด้านเฮลธ์แคร์เทคโนโลยี ธุรกิจทางด้านอาหาร อีกบริษัทก็จะเป็นเรื่องของซอฟต์แวร์ จะยื่นไฟลิ่ง บริษัทแรกก็น่าจะเป็นในไตรมาส 2/2565 หลังจากเราเปิดตลาด

และคาดว่าจะเข้ามาซื้อขายได้ในไตรมาส 3/2565 และอีก 2 บริษัทจะทยอยๆ ขึ้นมา มั่นใจว่าเราจะมี 10 โบรกเกอร์ ที่พร้อมในวันที่มีบริษัทเข้ามาซื้อขายบริษัทแรก เพราะฉะนั้นจะมีกลุ่มนักลงทุนที่เป็นนักลงทุนของโบรกเกอร์ทั้ง 10 รายนั้น ที่จะเข้ามาซื้อขายได้

โอกาสผู้ลงทุนรายย่อยในอนาคตมีมั้ย

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า อยากให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อขายในตลาดนี้ เพียงแต่ว่าในตอนต้น เพื่อที่จะให้ตลาดมันไปได้ เราก็ให้เฉพาะกลุ่มบุคคลที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่กับสถาบันเข้ามา ในอนาคตถ้า LiVEX ไปได้ดีจริง ๆ เราก็กำลังมีแนวคิดว่า จะตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา มีผู้จัดการกองทุน ซึ่งต้องเป็น บลจ. ตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา มีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ความเข้าใจ ในการลงทุนในพวกเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ เป็นผู้ดูแลการลงทุนนั้น

และผู้ลงทุนรายย่อยก็มาซื้อกองทุนผ่านตัวกองทุนนั้น ก็จะมีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์เป็นคนช่วยบริหารกองทุนให้ แต่อันนี้อีกสักพักหนึ่งนะครับ เราก็จะเริ่มศึกษาตัวนี้นะครับ