
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
สัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ ๆ “โรเบิร์ต ฮาแบ็ก” รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ก็ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเยอรมนีฉบับหนึ่งในทำนองว่า บางประเทศรวมทั้งประเทศที่ได้ชื่อว่า “เป็นมิตร” ซึ่งจัดหาก๊าซป้อนให้กับเยอรมนีทดแทนรัสเซีย ภายหลังจากสหรัฐและยุโรปแซงก์ชั่นรัสเซีย กำลังทำกำไรจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
“บางประเทศ รวมทั้งประเทศที่เป็นมิตรกับเราบางครั้งก็คิดราคาก๊าซกับเราแพงมหาศาล แน่นอนว่าเป็นปัญหาที่เราต้องพูดคุย” ทั้งนี้แม้ฮาแบ็กไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศ แต่มีนัยให้เข้าใจได้ว่าหนึ่งในนั้นคือ “สหรัฐอเมริกา”
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
ฮาแบ็กบอกอีกว่า “สหรัฐอเมริกาติดต่อเรามาตอนที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงและทำให้ยุโรปต้องดึงน้ำมันสำรองออกมาใช้ ผมคิดว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นเรื่องดีที่จะช่วยลดราคาก๊าซลงมา” เขากล่าวและระบุต่อไปว่า สหภาพยุโรปควรทำมากกว่านี้เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตก๊าซ ควรจะใช้พลังอำนาจตลาดอียูในการจัดซื้อพลังงาน พลังอำนาจจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อปรับพฤติกรรมการซื้อมาเป็นลักษณะของการร่วมมือกันอย่างชาญฉลาด เพื่อที่แต่ละชาติสมาชิกจะได้ไม่แข่งกันเสนอราคาซื้อจนผลักดันราคาขึ้นไปสูง “พลังอำนาจของยุโรปมหาศาล อำนาจนั้นมีอยู่แล้วเพียงแค่ต้องนำมันมาใช้”
คำให้สัมภาษณ์ของฮาแบ็กมีขึ้นในขณะที่ชาติยุโรปกำลังเร่งรีบจัดหาก๊าซจากแหล่งอื่นทดแทนก๊าซจากรัสเซียเพื่อให้มีเพียงพอใช้ในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ไม่เช่นนั้นจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนกระทบต่อเศรษฐกิจ ถึงขั้นอาจต้องปันส่วนการใช้ก๊าซ โดยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมารัสเซียได้ลดการส่งก๊าซให้อียูลงมาก ส่วนหนึ่งเพื่อตอบโต้การแซงก์ชั่น ทั้งนี้อียูเคยนำเข้าก๊าซจากรัสเซียมากถึง 45%
ฮาแบ็กเป็นรัฐมนตรีจากพรรคกรีน ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคสังคมประชาธิปไตยของโอลาฟ โชลส์ เป็นแกนนำ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปตึงเครียดขึ้นไปอีก เมื่อท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม ซึ่งใช้ส่งออกก๊าซจากรัสเซียไปยุโรปเกิดรั่วขึ้นมาอย่างลึกลับ โดยรัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้วินาศกรรม
ในอีกด้านหนึ่งแผนการใช้งบประมาณเพื่อแก้วิกฤตพลังงานของเยอรมนี ดูเหมือนจะสร้างรอยร้าวในอียู หลังจาก “โอลาฟ โชลส์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ารัฐบาลจะใช้เงินมากถึง 2 แสนล้านยูโร เพื่อตรึงราคาก๊าซให้ต่ำ ลดผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งปรากฏว่าได้รับปฏิกิริยาค่อนข้างลบจากสมาชิกอื่น ๆ เพราะเกรงว่าจะยิ่งดันราคาให้สูงขึ้น
ฝ่ายที่คัดค้านระบุว่า สมาชิกอียูควรจะมีความสามัคคีกว่านี้ และใช้กองทุนอียูมากกว่าจะใช้ความพยายามแบบฉายเดี่ยวของแต่ละประเทศ “ถ้าเราอยากหลีกเลี่ยงการแยกกันเป็นส่วน ๆ ถ้าเราต้องการเผชิญวิกฤตร่วมกัน ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับสูงขึ้น และเราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือบางอย่างร่วมกัน” เป็นคำพูดของ เปาโล เจ็นทิโลนี กรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรป ในการประชุมรัฐมนตรีคลังอียูที่ลักเซมเบิร์ก อย่างไรก็ตาม เขาหลีกเลี่ยงที่จะชี้นิ้วไปยังเยอรมนีโดยตรง
ไซกริด แค็ก รัฐมนตรีคลังเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่สมาชิกอียูควรตอบสนองต่อวิกฤตพลังงานในลักษณะร่วมมือกัน แต่คัดค้านการก่อตั้งกองทุนใหม่ของอียูเพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะอียูมีกองทุนมากอยู่แล้วมูลค่าหลายพันล้านยูโร
ขณะที่ ซีฟเน็ก สแตนยูรา รัฐมนตรีคลังประเทศเช็ก ระบุว่า ความคิดเรื่องการแก้ปัญหาพลังงานในอียูแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพราะสมาชิกแต่ละประเทศมีส่วนผสมของพลังงานต่างกัน จึงมีแนวคิดต่างกันเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำ
ด้าน คริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ มาตรการของเยอรมนีมีลักษณะพุ่งเป้าเฉพาะเพื่อเป็นเกราะปกป้องตัวเอง มาตรการนี้ไม่ใช่ไม่ได้สัดส่วน มันได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับขนาดและความเปราะบางของเศรษฐกิจเยอรมนี