จับตา 7 ชื่อ ชิงนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป

(Photo by Daniel LEAL / AFP)

“ลิซ ทรัสส์” ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ หลังมีประเด็นทางเศรษฐกิจ เปิด 7 รายชื่อผู้ที่มีความเป็นไปได้ นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป 

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 อัลจาซีราห์รายงานว่า การเลือกตั้งผู้นำอังกฤษจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า เพื่อหาผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากทรัสส์ หลังจากที่เธอประกาศลาออกทั้งที่เพิ่งดำรงตำแหน่งได้เพียง 45 วัน และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งเป็นระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ

เมื่อพิจารณาจากความแตกแยกภายในพรรคอนุรักษ์นิยม จึงไม่มีผู้สมัครที่แน่ชัด และผู้ที่จะมารับไม้ต่อจะต้องเผชิญกับประเทศที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ตอนนี้จึงมีคำถามจากคนทั่วโลกว่า แล้วใครกันที่จะมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป ?

ต่อไปนี้คือ 7 รายชื่อของผู้ที่น่าจับตาว่าจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากทรัสส์

(Photo by Susannah Ireland / AFP)

“ริชิ ซูนัค”

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่สมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคอนุรักษ์นิยม จากการเลือกตั้งผู้นำเมื่อช่วงต้นปี

แต่หลังผ่านเข้าสู่รอบชิงดำการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เขากลับพ่ายให้ทรัสส์จากการโหวตของสมาชิกพรรคราว 170,000 คน ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทรัสส์ หลังจากที่เธอให้คำมั่นว่าจะลดภาษีและระเบียบข้อบังคับ โดยไม่ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล

ซูนัค อายุ 42 ปี เตือนว่าแผนการของทรัสส์ที่จะให้ทุนสนับสนุนข้อเสนอต่าง ๆ ผ่านการกู้ยืมพิเศษนั้นประมาทเลินเล่อ และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงหลายสิบปี อีกทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดของอังกฤษ

ตอนนี้เขาได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่พูดนั้นถูกต้อง ซูนัคจึงกลายเป็นชื่อแรกที่ถูกจับตาหลังการประกาศลาออกของทรัสส์

โพลล่าสุดของ YouGov ชี้ว่า เขาเป็นผู้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แม้จะยังคงมีคะแนนความชื่นชอบสุทธิโดยรวมที่ -18

แต่สมาชิกหลายคนในพรรคไม่พอใจตอนที่ซูนัคลาออกในเดือนกรกฎาคม ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งท้ายที่สุดทำให้ “บอริส จอห์นสัน” หลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

สมาชิกพรรคจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรค ต่างไม่เต็มใจที่จะยกโทษให้เขาในเรื่องนี้

(Photo by PETER NICHOLLS / POOL / AFP)

บอริส จอห์นสัน

อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ “บอริส จอห์นสัน” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนักข่าว เริ่มมีชื่อในแวดวงการเมืองของอังกฤษ นับตั้งแต่เขาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนในปี 2551 หลังจากสร้างปัญหาให้กับผู้นำในขณะนั้นอย่าง “เดวิด แคเมอรอน” และ “เทเรซ่า เมย์” ก่อนที่เขาจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2562 โดยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

จอห์นสันเป็นผู้นำในการลงประชามติ Brexit และได้รับคะแนนเสียงจากส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ที่ไม่เคยลงคะแนนให้พรรคอนุรักษ์นิยมมาก่อน

แต่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้นี้ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง หลังเกิดความวุ่นวายในหมู่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมในรัฐสภา ที่เป็นชนวนให้เกิดการลาออกของรัฐมนตรีจำนวนมาก ท่ามกลางความขัดแย้งหลายเดือน

ผลสำรวจล่าสุดของ YouGov ชี้ว่า ชายวัย 58 ปีผู้นี้ได้รับความนิยมมากกว่าทรัสส์ แต่ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นที่ไม่ส่งผลดีต่อเขานัก

จอห์นสันจะบินกลับอังกฤษในสุดสัปดาห์นี้ หลังจากเดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศ มีการคาดการณ์ว่าเขาจะเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ว่างลง

(Photo by ISABEL INFANTES / AFP)

“เบน วอลเลซ”

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอังกฤษเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีไม่กี่คนที่รอดพ้นจากความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยังได้รับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น

วอลเลซ อดีตทหาร เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมทั้งในสมัยจอห์นสันและทรัสส์ เขาเป็นผู้นำในบทบาทสำคัญของอังกฤษในการตอบโต้กรณีรัสเซียบุกยูเครน

วอลเลซเป็นที่นิยมในหมู่สมาชิกพรรค เมื่อต้นปีเขาทำให้หลายคนประหลาดใจเมื่อพูดว่า เขาจะไม่ลงสมัครรับตำแหน่งผู้นำ เพราะต้องการมุ่งเน้นกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

แต่เมื่อถูกถามในการประชุมของพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อไม่นานมานี้ ว่าเขาจะพิจารณาใหม่หรือไม่ ชายวัย 52 ปีผู้นี้กลับตอบว่า “ผมไม่ปฏิเสธ”

ในการสำรวจครั้งล่าสุดทางเว็บไซต์ ConservativeHome ซึ่งจัดทำโดยนักเคลื่อนไหวฝั่งอนุรักษ์นิยม วอลเลซได้คะแนนนิยม 85.9 คะแนน ซึ่งเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นค่อนข้างมาก

ในขณะที่เป็นทหาร วอลเลซนำการลาดตระเวนจนสามารถจับกุมหน่วยไออาร์เอที่พยายามจะใช้ระเบิดโจมตี เขายังเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่นำร่างของเจ้าหญิงไดอาน่ากลับประเทศ หลังจากเกิดอุบัติเหตุรถชนในกรุงปารีส

(Photo by JESSICA TAYLOR / UK PARLIAMENT / AFP)

เพนนี มัรดันท์

มัรดันท์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้สนับสนุนอย่างกระตือรือร้นในการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป

มัรดันท์วัย 49 ปี ปัจจุบันเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรี เธอเป็นคนระดับรากหญ้าคนแรก ๆ ที่เป็นตัวเก็งรับตำแหน่งต่อจากจอห์นสัน และได้คะแนนเสียงจากสมาชิกสภานิติบัญญัติ 8 คน ในรอบชิงดำที่ทรัสส์เอาชนะซูนัค

แต่เธอเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ในการชิงตำแหน่งผู้นำ โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติบางคนกล่าวหาว่าเธอไม่มีประสิทธิภาพในรัฐบาลยุคก่อนหน้า

มัรดันท์เริ่มถูกกล่าวถึงมากขึ้นในสัปดาห์นี้ หลังจากเธอถูกส่งไปตอบคำถามเร่งด่วนในรัฐสภาแทนทรัสส์ เกี่ยวกับความยุ่งยากทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุด

แม้จะถูกบีบให้ตอบว่าทำไมนายกรัฐมนตรีจึงไม่มาทำหน้าที่ เธอสามารถรับมือกับสภาได้เป็นอย่างดี

(Photo by ISABEL INFANTES / AFP)

เคมี บาเดนอช

รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งตัวเต็งตำแหน่งผู้นำอังกฤษ แม้จะเป็น ส.ส.ได้เพียง 5 ปี

บาเดนอชซึ่งเป็นที่นิยมในพรรคฝ่ายขวา และเคยพูดถึงตลาดเสรีและรัฐบาลที่มีอำนาจอันจำกัด ได้รับการสนับสนุนจาก “ไมเคิล โกฟ” อดีตรัฐมนตรีคนสำคัญ

(Photo by JUSTIN TALLIS / AFP)

ซูเอลลา บราเวอร์แมน

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลาสั้นกว่าทรัสส์ 1 วัน

บราเวอร์แมน เป็นอัยการสูงสุดในรัฐบาลจอห์นสัน แต่ลาออกหลังจากทำผิดกฎด้วยการส่งเอกสารทางการจากบัญชีอีเมลส่วนตัว และใช้จดหมายลาออกเพื่อโจมตีอดีตเจ้านายของตัวเอง

“งานของรัฐบาลต้องอาศัยคนที่ยอมรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของพวกเขา การแสร้งทำเป็นว่าเราไม่ได้ทำผิดพลาด ดำเนินไปราวกับว่าทุกคนมองไม่เห็นว่าเราทำผิด และหวังว่าสิ่งต่าง ๆ จะกลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ไม่ใช่การเมืองที่จริงจัง”

บราเวอร์แมนเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งก่อน แต่ผ่านเข้าสู่รอบที่สองเท่านั้น

(Photo by Adrian DENNIS / AFP)

“เจเรมี ฮันต์”

หลังจากโครงการเศรษฐกิจของทรัสส์พังทลาย เธอได้ปลดอดีตรัฐมนตรีคลัง “ควาซี กวาร์เต็ง” ออก และมอบตำแหน่งให้ฮันต์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้เขาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

ท่าทีที่มั่นใจทั้งในโทรทัศน์และในสภา ระหว่างที่เขาแถลงการณ์ประเด็นเศรษฐกิจ ทำให้สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมบางคนมองว่าฮันต์มีศักยภาพก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


แต่เขายืนยันว่าไม่ต้องการตำแหน่งสูงสุด แม้จะเคยเข้าชิงตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งรวมถึงในปี 2562 ซึ่งเขาพ่ายให้กับจอห์นสันในรอบสุดท้าย