รัฐบาลลิซ ทรัสส์ ถอยสุดซอย คว่ำแผนตัดลดภาษี พรรคบีบไปต่อไม่ได้

Britain's Chancellor of the Exchequer Kwasi Kwarteng and Britain's Prime Minister Liz Trus. (Photo by Oli SCARFF / AFP)

คว่ำแล้วแผนลดภาษีคร้ังมโหฬารในรอบ 50 ปี รัฐบาลลิซ ทรัสส์ ถูกบีบไปต่อไม่ได้

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลลิซ ทรัสส์ แห่งสหราชอาณาจักร ถอนแผนการตัดลดภาษีครั้งมโหฬารของนายกวาซี กวาร์เทง รมว.คลังแล้ว แม้ต้องอับอายครั้งใหญ่ โดยให้คำอธิบายว่า “เรารับฟัง และเราเข้าใจแล้ว” หลังถูกต้านอย่างหนัก และถูกบีบให้ยูเทิร์น ทั้งจากภายในพรรคอนุรักษนิยมและจากความอลหม่านวุ่นวายในตลาดการเงิน ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.

นายกฯทรัสส์ และนายกวาร์เทง เคยเสนอแผนตัดลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 23 ก.ย. เป็นการตัดลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1972 (พ.ศ. 2515) รวมถึงการตัดลดอัตราภาษีเงินได้ การยกเลิกการขึ้นเงินนำส่งกองทุนประกันสังคมของสหราชอาณาจักร

หนังสือพิมพ์เพิ่งพาดหัวข่าวที่นายกฯ ลิซ ทรัสส์ ยืนยันว่า แผนตัดลดภาษีนี้จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเด้งกลับมาเติบโต เมื่อ 2 ต.ค.  REUTERS/Hannah McKay

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเว้นการเก็บอากรแสตมป์ที่ดินสำหรับผู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 250,000 ปอนด์ หรือราว 10.25 ล้านบาท จากเดิมกำหนดเพดานไว้ที่ 125,000 ปอนด์ หรือราว 5.13 ล้านบาท

ขณะที่ผู้ซื้อบ้านหลังแรกเพดานราคาบ้านที่ได้รับการยกเว้นภาษีขยับไปอยู่ที่ 425,000 ปอนด์ หรือราว 17.43 ล้านบาท ซึ่งมีผลในอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือตั้งแต่ 23 ก.ย.

แต่แผนดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในรัฐบาลทรัสส์ และเขย่าค่าเงินปอนด์และพันธบัตรรัฐบาลอย่างแรง จนธนาคารกลางอังกฤษ หรือ Bank of England ต้องเข้าแทรกแซง ด้วยแผนสร้างเสถียรภาพมูลค่า 65,000 ล้านปอนด์

British Prime Minister Liz Truss and Chancellor of the Exchequer Kwasi Kwarteng attend the annual Conservative Party conference in Birmingham, Britain, October 2, 2022. REUTERS/Hannah McKay

“ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า การล้มเลิกอัตราภาษี 45 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นปมรบกวนการต่อสู้กับความท้าทายที่ประเทศเราเผชิญอยู่ ด้วยผลลัพธ์นี้ ผมขอประกาศว่าเราจะไม่เดินหน้าแผนล้มเลิกภาษี 45 เปอร์เซ็นต์ต่อไป เราเข้าใจแล้ว และเรารับฟัง” รมว.คลังผู้ตกที่นั่งลำบากกล่าว

สำหรับอัตรา 45 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าว เป็นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 45 เปอร์เซ็นต์ที่คิดกับผู้มีรายได้สูง 150,000 ปอนด์ต่อปี ซึ่งแผนล้มเลิกทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับคนร่ำรวยมากกว่า

การตัดสินใจล้มแผนมาจากแรงกดดันต่อนายกฯทรัสส์ และ รมว.คลังกวาร์เทง และเกิดขึ้นหลังจากทั้งสองรวมถึงคณะรัฐบาลใหม่เข้ามารับตำแหน่งบริหารประเทศได้ไม่ถึง 4 สัปดาห์ ขณะที่อังกฤษเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คนในช่วง 6 ปีที่ปั่นป่วนมานี้

ทรัสส์ วัย 47 ปี เป็น รมว.ต่างประเทศก่อนได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. จากการแข่งขันภายในพรรค ไม่ใช่การเลือกตั้งใหญ่ของประเทศ เจ้าตัวยอมรับว่าควรต้องตั้งนโยบายที่ผ่านการเปิดรับฟังและให้ถกเถียงกันมากกว่านี้

….