ตลาดตกใจ ดอกเบี้ยส่อเกิน 5% “เฟด” ไม่รับประกัน “ซอฟต์แลนดิ้ง”

เจอโรม พาวเวลล์
เจอโรม พาวเวลล์
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ถือเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงระดับนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นไปอยู่ในช่วง 3.75-4% ทั้งนี้ถึงแม้จะเป็นไปตามคาดหมายของตลาดและนักลงทุนส่วนใหญ่ แต่สัญญาณที่ส่งออกมาเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตกลับสร้างความตกใจให้กับนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนัก เพราะถูกตีความว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายจะสูงกว่าที่เฟดเคยระบุไว้

ในตอนแรกตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้น เนื่องจากแถลงการณ์ของเฟดถูกตีความว่านี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่จะขึ้นในอัตรา 0.75% และเป็นไปได้ที่ครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมจะขึ้นเพียง 0.5% อย่างไรก็ตามหลังจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดแถลงและตอบคำถามผู้สื่อข่าว ตลาดหุ้นปรับลงรุนแรง เนื่องจากพาวเวลล์ปฏิเสธแนวคิดที่ว่าเฟดอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้า เพราะจากข้อมูลที่เข้ามาอาจต้องใช้เวลาและความอดทนในการดึงเงินเฟ้อลงมา

โดยเขากล่าวเพียงว่า ในการประชุมอีก 1-2 ครั้งถัดไปอาจหารือเรื่องการผ่อนอัตราเร่งของการขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ยอมรับว่าถึงเวลาเหมาะสมที่อาจจะต้องผ่อนลง

นอกจากนี้ประธานเฟดยังไม่รับประกันว่าจะสามารถชะลอเศรษฐกิจลงอย่างนุ่มนวลหรือซอฟต์แลนดิ้งได้หรือไม่ โดยยอมรับว่า การที่ยังต้องขึ้นดอกเบี้ยและใช้นโยบายเข้มงวด ทำให้หนทางที่จะซอฟต์แลนดิ้ง “แคบลง” “ภาพรวม” เงินเฟ้อตลอดปีนี้ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องมีนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งทำให้หนทางที่จะซอฟต์แลนดิ้ง “แคบลง” พาวเวลล์กล่าว

ประธานเฟดยอมรับว่าการขึ้นดอกเบี้ยสร้างความลำบากให้ผู้บริโภคและธุรกิจอเมริกัน แต่เงินเฟ้อที่สูงจะสร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเศรษฐกิจอเมริกันมากเช่นกัน ดังนั้นการสร้างเสถียรภาพด้านราคาเป็นสิ่งจำเป็นมากในระยะยาว คำกล่าวของพาวเวลล์ครั้งนี้ตอกย้ำจุดยืนที่หนักแน่นของเฟดอย่างไม่เปลี่ยนแปลงที่ว่าจะให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อเป็นหลัก แม้จะต้องแลกกับการทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

ทั้งนี้เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐเดือนกันยายน อยู่ที่ 8.2% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและเชื้อเพลิง) อยู่ที่ 5.1% ยังห่างไกลจากเป้าหมายของเฟดที่ต้องการให้อยู่ในช่วง 2% จีดีพีไตรมาส 1 และ 2 หดตัว แต่ไตรมาส 3 สามารถพลิกเป็นบวก 2.6% เนื่องจากส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ

ไมเคิล ชูแมคเชอร์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของเวลส์ ฟาร์โก ชี้ว่า ท่าทีของเฟดจนถึงขณะนี้ค่อนข้างแข็งกร้าวเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งไม่เป็นไปอย่างที่ตนคิด คำพูดของประธานเฟดบ่งชี้ว่าจะยังไม่มีการหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้

จิม เครอน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของมอร์แกน สแตนลีย์ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ กล่าวว่า ตอนนี้ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายอาจจะอยู่ในช่วง 5% ไปจนถึง 5.25% สูงกว่าที่เฟดเคยประมาณการก่อนหน้านี้ว่าจะอยู่ที่ 4.6% โดยเฉลี่ย และจะแช่ดอกเบี้ยไว้ในระดับนั้นจนกว่าเงินเฟ้อจะอ่อนตัวลง

ด้าน แอนนา หว่อง นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ประธานเฟดส่งสารชัดเจนไปยังตลาดว่า เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อีก แต่ก็จะไม่เปลี่ยนทิศทางหรือท่าทีให้อ่อนนุ่มลงแต่อย่างใด จนกว่าจะคุมเงินเฟ้อได้

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความท้าทายของประธานเฟดก็คือส่งสัญญาณอย่างระมัดระวัง โดยถึงแม้จะแสดงท่าทีให้เห็นว่าพร้อมจะลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ยลงในครั้งต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่านโยบายการเงินตึงตัวยังไม่สิ้นสุดลง ซึ่งถือว่าประธานเฟดประสบความสำเร็จในการส่งสัญญาณ เพราะประกาศว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายจะสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ในเดือนกันยายน

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดที่ 32,147.76 จุด ลดลง 505.44 หรือ 1.55% เอสแอนด์พีปิดที่ 3,759.69 ปรับลง 96.41 จุด หรือ 2.5% แนสแดคปิดที่ 10,524.80 จุด ลดลง 366.05 จุด หรือ 3.36%