Tesla ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของอเมริกา เลือกผู้บริหารเชื้อสายจีน ทอม จู หรือ จู เฉียวทง ขึ้นเป็นผู้นำเบอร์ 2 เทสลา รองจากซีอีโอคนดัง อีลอน มัสก์
วันที่ 5 มกราคม 2566 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า ทอม จู ประธาน Tesla Inc’s ประเทศจีน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้ดูแลโรงงานผลิตและการขายรถไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา และอเมริกาเหนือ รวมทั้งยุโรปโดยตรง ซึ่งหมายถึงการขึ้นเป็นผู้นำเบอร์ 2 เทสลา รองจาก อีลอน มัสก์
เทสลาโพสต์ว่า จูยังคงมีตำแหน่งรองประธานฝ่ายเกรตเทอร์ ไชน่า ครอบคลุมจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน อีกทั้งยังป็นผู้บริหารอาวุโสฝ่ายขายในเอเชียต่อไป และจะเพิ่มการดูแลตลาดหลักและศูนย์กลางการผลิตหลัก ทั้งด้านการออกแบบและพัฒนารถเทสลา ซึ่งมัสก์เคยมีส่วนร่วมอย่างมากมาก่อน พร้อมทั้งจัดการการขายและผลิตภัณฑ์ทั่วโลกในระยะสั้น
จูและทีมร่วมงานกับเทสลาเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาการผลิตในอเมริกา ท่ามกลางความคาดหวังของเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจูและทีมกำลังฝึกฝีมือเพื่อรับบทบาทมากขึ้น
จูกลายเป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดต่อจากมัสก์ในเทสลา พร้อมกับมีบทบาทระดับโลก ในขณะที่มัสก์กำลังไขว้เขว หลังจากซื้อกิจการทวิตเตอร์มาอย่างปั่นป่วน ซึ่งนักวิเคราะห์และนักลงทุนต้องการให้มัสก์กลับมาพุ่งความใส่ใจและความสนใจไปที่เทสลามากกว่า
จูมีผลงานชิ้นโบแดงจากการทำให้โรงงานเทสลาในเซี่ยงไฮ้แข็งแกร่งขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ระหว่างโควิดระบาด
บริษัท Refinitiv รายงานว่าเทสลาส่งมอบรถ 405,278 คันในไตรมาสที่สี่ เทียบกับรถ 308,600 คันในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ตามประกาศของเทสลา ระบุว่าทีมของโจ ประกอบด้วย เจสัน ชอว์ฮัน ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตกิกาแฟคทอรี ในเทกซัส ฤาษีเกศ ซาการ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการผลิตที่โรงงานฟรีมอนต์ของเทสลา โจ วอร์ด รองประธานฝ่ายยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และทรอย โจนส์ รองประธานฝ่ายขายและบริการในอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ ผู้จัดการเทสลาในจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยังขึ้นตรงต่อจูด้วย
จูเกิดที่จีน แต่ปัจจุบันถือหนังสือเดินทางนิวซีแลนด์ ผู้บริหารรายนี้เข้าร่วมงานกับเทสลาในปี 2557 ก่อนหน้านั้น เป็นผู้จัดการโครงการให้บริษัทที่ก่อตั้งโดยเพื่อนร่วมชั้นเรียนเอ็มบีเอ มหาวิทยาลัยดุ๊ก ในสหรัฐ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้รับเหมาชาวจีนที่รับก่อโครงสร้างพื้นฐานในแอฟริกา
เพื่อนร่วมงานกล่าวว่าระหว่างที่เซี่ยงไฮ้ล็อกดาวน์เป็นเวลา 2 เดือน จูเป็นพนักงานกลุ่มแรกที่ “นอนค้างที่โรงงาน” เพื่อให้งานเดินหน้าต่อไปได้
จูเป็นคนง่าย ๆ ไว้ผมทรงโฉบเฉี่ยว ชอบใส่แจ็กเกตขนแกะแบรนด์เทสลา และอาศัยในในอพาร์ตเมนต์ที่รัฐสนับสนุน ตั้งอยู่ห่างจากโรงงานเพียง 10 นาที หากเดินทางด้วยรถยนต์
ขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่าจูจะย้ายไปสหรัฐทันที หลังจากได้เลื่อนตำแหน่งหรือไม่
จูจะเข้ามาดูแลศูนย์กลางการผลิตหลักในช่วงที่เทสลากำลังเปิดตัวไซเบอร์ทรักและรถยนต์เก๋งโมเดล 3 และเทสลากำลังพัฒนารถไฟฟ้าราคาถูก แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด
เมื่อครั้งที่เทสลาโพสต์รูปภาพเมื่อเดือนที่แล้ว ในงานฉลองที่เมืองออสติน รัฐเทกซัส จูเป็นหนึ่งในพนักงานหลายร้อยคนที่ยืนยิ้มบนพื้นโรงงานด้วย
ส่วนอัลลัน หวัง ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานฝ่ายขายในประเทศจีนเมื่อเดือน ก.ค. ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายกฎหมาย ดูแลเอกสารการจดทะเบียนที่ยื่นต่อหน่วยงานกำกับดูแลของจีนเมื่อเดือนที่แล้ว
ด้านเจมส์ เมอร์ด็อก คณะกรรมการของเทสลากล่าวเมื่อเดือน พ.ย. ว่าบริษัทเพิ่งกำหนดผู้ที่จะรับช่วงต่อจากมัสก์ โดยไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลดังกล่าว
ส่วนสื่อ Elecktrek เคยรายงานว่าจูจะรับผิดชอบการขาย การจัดส่ง และการบริการในสหรัฐ มัสก์เคยกล่าวหลายครั้งว่าเกลียดงานบริหาร แม้ไม่อยากเป็นซีอีโอของเทสลา เพราะตนเป็นวิศวกร และเคยกล่าวด้วยว่าตำแหน่งซีอีโอไม่ใช่คำจำกัดความที่เหมาะสมสำหรับตน
ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐต้องต่อสู้อย่างดุเดือดในจีน เพราะมีแบรนด์ท้องถิ่น รวมทั้ง BYD, Nio และ Li ที่ชิงส่วนแบ่งการตลาด
เดือน ต.ค. 2565 เทสลาต้องใช้กลยุทธลดราคารถรุ่น 3 และ Y ในตลาดจีนถึงร้อยละ 9 พร้อมข้อเสนอประกันภัยเพื่อกระตุ้นยอดขาย
โรงงานกิกะแฟกทอรี เซี่ยงไฮ้ เริ่มผลิตรถในปี 2563 และกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญที่สุดของบริษัทอย่างรวดเร็ว เมื่อเดือน พ.ย.โรงงานมียอดส่งมอบรถสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากยอดการส่งมอบรถไฟฟ้า 100,291 คันให้กับลูกค้าในจีนและตลาดต่างประเทศ
ปัจจุบันเทสลามีโรงงาน 7 แห่งทั่วโลกและมีสำนักงานใน 8 เมือง ทั้งในสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
….