
บันทึกประวัติศาสตร์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นการเปลี่ยนสถานะเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 แล้วเสร็จไปแล้วโดยสมบูรณ์
- หวั่น EV ไทย…ซ้ำรอยจีน
- “ทรู-ดีแทค” ถล่มโปร “คืนค่าเครื่อง” ย้ำรวมกันได้มากกว่า
- เปิด “ผังน้ำ” ประกบผังเมือง เขย่าราคาที่ดินทั่วประเทศ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ แม้ว่าจะปรับลดรายละเอียดต่าง ๆ ลงจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1953 คงเหลือไว้แต่ส่วนที่สำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงแขกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานก็ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 คือจาก 8,000 คน เหลือประมาณ 2,000 คน แต่ภาพพระราชพิธีที่ปรากฏก็ยังคงศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่ และหาชมได้ยากอย่างยิ่ง
“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร ในขั้นตอนต่าง ๆ ของพระราชพิธีนี้

เริ่มจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลาเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ โดยประทับรถม้าพระที่นั่ง Diamond Jubilee State Coach ซึ่งประกอบขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (Diamond Jubilee) เมื่อปี 2012 และจะใช้ม้าฝึกพิเศษสีเทาซึ่งเป็นม้ามีบรรดาศักดิ์สูงสุดเรียกว่า Windsor Grey จำนวน 6 ตัวในการลากรถ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เริ่มขึ้นในเวลา 11 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่น ประกอบด้วยขั้นตอนพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ 6 ขั้นตอน ได้แก่
1.ขั้นตอนรับรองฐานะความเป็นกษัตริย์ (recognition)
เมื่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จพระราชดำเนินถึงมณฑลพิธีในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนพิธีรับรองฐานะความเป็นกษัตริย์ เยาวชนตัวแทนคณะนักร้องประสานเสียงของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์กล่าวต้อนรับว่า “ฝ่าบาท ในฐานะบุตรแห่งอาณาจักรของพระเจ้า พวกเราขอต้อนรับพระองค์ในนามของราชาแห่งราชาทั้งปวง”
กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ตรัสตอบว่า “ในนามของเขา (ราชา) และตามแบบอย่างของเขา (ราชา) ข้าพเจ้าไม่ได้มาเพื่อรับการรับใช้ แต่มาเพื่อเป็นผู้รับใช้”

จากนั้น อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี่กล่าวประกาศแนะนำพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แล้วคนในพิธีกล่าวตอบว่า “God save King Charles”
2.ขั้นตอนการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ (oath)
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงวางพระหัตถ์บนพระคัมภีร์กล่าวคำสัตย์ปฏิญญาณตอบรับคำถามที่อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี่กล่าวถามเกี่ยวกับหน้าที่ในด้านต่าง ๆ และทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่า “จะพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรอังกฤษด้วยความยุติธรรม” แล้วทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองคำสัตย์ปฏิญญาณเป็นลายลักษณ์อักษร

3.ขั้นตอนการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (anointing)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งประกอบพิธีอยู่เบื้องหลังฉากกั้น ไม่เปิดเผยให้เห็นภาพ
4.ขั้นตอนการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และทรงสวมมหามงกุฎ (investiture)
การถวายข้าวของเครื่องใช้ประจำตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ อันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของพระมหากษัตริย์ หนึ่งในนั้นคือ พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St. Edward’s Crown) ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพกษัตริย์จะได้ทรงพระมหามงกุฎนี้เพียงครั้งเดียวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี่เป็นผู้ถวายการสวมมหามงกุฎบนพระเศียรของพระมหากษัตริย์


5.ขั้นตอนการประทับบนพระราชบัลลังก์ (enthronement)
กษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จขึ้นประทับบนพระราชอาสน์อันเป็นสัญลักษณ์ของการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ

6.ขั้นตอนการรับการถวายความเคารพ (homage)
ตามประเพณีดั้งเดิมขั้นตอนการรับการถวายความเคารพ พระมหากษัตริย์จะได้รับการถวายความเคารพจากสมาชิกราชวงศ์ และขุนนางชั้นสูง แต่ในครั้งนี้ได้ปรับลดลงให้เจ้าชายแห่งเวลส์เป็นตัวแทนสมาชิกราชวงศ์ถวายความเคารพเพียงพระองค์เดียว


หลังจากพิธีการของกษัตริย์แล้วเสร็จ เป็นการประกอบพระราชพิธีอภิเษก หรือการสถาปนาแต่งตั้งสมเด็จพระราชินี โดยนักบวชจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระอัครมเหสี และถวายการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรี โดยดำเนินพิธีการขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเรียบง่ายกว่า และราชีนีไม่ต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตามแบบของกษัตริย์


เมื่อเสร็จพิธีแล้ว กษัตริย์กับพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคอันยิ่งใหญ่กลับพระราชวังบักกิงแฮม โดยมีประชาชนเฝ้าชมขบวนเต็มสองข้างทาง

พระมหากษัตริย์กับพระราชินีประทับบนรถม้าพระที่นั่ง Golden State Coach ซึ่งถูกใช้งานครั้งแรกตั้งแต่สมัยพระเจ้าจอร์จที่ 3 เพื่อเดินทางไปยังพิธีเปิดรัฐสภาใน ค.ศ. 1762 และเป็นรถพระที่นั่งที่ถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้ง นับตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ใน ค.ศ. 1831 ซึ่งรถม้าพระที่นั่งมีน้ำหนักมากถึง 4 ตันนี้ถูกลากโดยม้า Windsor Grey จำนวน 8 ตัว




เมื่อถึงพระราชวังบักกิงแฮม กษัตริย์ พระราชินี และสมาชิกราชวงศ์เสด็จออกประทับสีหบัญชร (ระเบียง) หน้าพระราชวังบักกิงแฮมเพื่อทักทายประชาชน







- “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” ของใช้ประจำตำแหน่งกษัตริย์อังกฤษ สัญลักษณ์แห่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
- รวมเรื่องน่ารู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ
- ในหลวง พระราชินี ทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
- ชุดเครื่องลายคราม ที่ระลึกพระราชพิธีคิงชาร์ลส์ ฝีมือช่างจากเมืองหลวงเซรามิกอังกฤษ