รวมเรื่องน่ารู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงอังกฤษ

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ รัชทายาทลำดับที่ 1 ของราชบัลลังก์อังกฤษ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ในทันทีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 โดยพระองค์เลือกใช้พระนามกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 (Charles III) 

แต่การเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่จะสมบูรณ์เป็นทางการก็ต่อเมื่อผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปแล้ว ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์ที่ 3 กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ รวมถึงกิจกรรมเฉลิมฉลองต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 6-8 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ มาชวนอ่านให้รู้จักพระราชพิธีนี้กันมากขึ้น 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก (coronation) คืออะไร

พิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีเชิงสัญลักษณ์ที่กษัตริย์พระองค์ใหม่กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณในการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ เป็นการสาบานตนต่อพระเจ้า และให้คำมั่นสัญญากับประชาชนในฐานะที่กษัตริย์เป็นผู้รับใช้พระเจ้าและประชาชน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญคือ การที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตามธรรมเนียมในยุคกลาง ประทับบนบัลลังก์เก่าแก่อายุ 700 ปี ซึ่งตั้งอยู่เหนือ “หินแห่งโชคชะตา” (Stone of Destiny) และการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ตามพระวรกาย 

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์มองว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นคล้ายกับการสมรสหรือพิธีแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาว แต่เปลี่ยนเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอภิเษกสมรสในเชิงสัญลักษณ์กับราชอาณาจักรของพระองค์เอง 

นอกจากนั้น ส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือ การแห่ขบวนและการเฉลิมฉลอง เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศรวมตัวกัน และเป็นการป่าวประกาศแจ้งข่าวว่ามีกษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว ขั้นตอนนี้ถือเป็นวิธีการประกาศข่าวในยุคสมัยที่ยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารอย่างยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาแล้ว

ขบวนพยุหยาตราทางสถลมาร์คพระราชพิธีบรมราชาภิเษกควีนเอลิซาเบธที่ 2 บริเวณโดยรอบพระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อ ค.ศ. 1953/ INTERCONTINENTALE / AFP

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอังกฤษเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอังกฤษมีมาแล้วเป็นเวลากว่าพันปี โดยพิธีครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้อย่างละเอียดเกิดขึ้นในเมืองบาธ ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 นั่นคือการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์เอ็ดการ์ (Edgar) แห่งอังกฤษสมัยแองโกล-แซกซอน (ช่วงต้นยุคกลาง) ใน ค.ศ. 973 

 

ทำไมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเกิดขึ้นหลังจากการขึ้นครองราชย์ค่อนข้างนาน

เมื่อกษัตริย์สวรรคต รัชทายาทอันดับที่ 1 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ในทันที แต่เหตุที่ต้องเว้นช่วงทิ้งเวลานานหลายเดือนกว่าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ก็เพราะว่าหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน จะต้องมีช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ของชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ผู้ล่วงลับ จึงต้องเว้นช่วงก่อนจะจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง 

และอีกเหตุผลคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องมีการวางแผนและเตรียมการอย่างมาก จึงต้องใช้เวลานานพอสมควร แม้แผนการต่าง ๆ มีการออกแบบไว้ก่อนหน้าแล้ว แต่ก็ต้องมีการจัดเตรียมส่วนประกอบต่าง ๆ ซึ่งบางส่วนอาจจะไม่อนุญาตให้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า 

 

ภาพรวมของพระพิธีราชาภิเษกคิงชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นอย่างไร

ตามคำแถลงบนเว็บไซต์ของสำนักพระราชวังบักกิงแฮม พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2566 จะประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนา การเฉลิมฉลอง และขบวนแห่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ (ที่ไทยเรียกว่าขบวนพยุหยาตรา) ซึ่งจะสะท้อนถึงบทบาทของกษัตริย์ในปัจจุบัน และการมองไปยังบทบาทของกษัตริย์ในอนาคตข้างหน้า ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนให้เห็นประเพณีที่มีรากฐานมาอย่างยาวนาน 

นอกจากนี้ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกยังจะมีการประกาศให้เจ้าชายวิลเลียม พระโอรสองค์โตของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เป็น “เจ้าชายแห่งเวลส์” ซึ่งเป็นอิสริยยศผู้สืบราชบัลลังก์ อย่างเป็นทางการ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงอังกฤษ
คิงชาร์ลส์ที่ 3 กับเจ้าฟ้าชายวิลเลียม โอรสองค์โต/ AFP/ POOL/ Justin Setterfield

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเริ่มจากคิงชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาจะเสด็จพระราชดำเนินในขบวนแห่ที่เรียกว่า “the King’s procession” (ขบวนแห่พระมหากษัตริย์) จากพระราชวังบักกิงแฮมไปที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ เพื่อเข้าพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งประกอบพิธีกรรมโดยอาร์ชบิชอบแห่งแคนเทอร์เบอรี 

เมื่อเสร็จพิธีกรรมแล้วจะเสด็จกลับพระราชวังบักกิงแฮมในขบวนพิธีขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “the coronation procession” (ขบวนแห่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก) ซึ่งมีสมาชิกราชวงศ์ร่วมขบวนด้วย 

ปิดท้ายวันประกอบพระราชพิธีที่พระราชวังบักกิงแฮม คิงชาร์ลส์และสมเด็จพระราชินีคามิลลาพร้อมสมาชิกราชวงศ์ จะเสด็จออกมาประทับที่ระเบียงด้านหน้าพระราชวังเพื่อทักทายประชาชน 

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้จะแตกต่างจากพิธีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 หรือไม่ อย่างไร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์ที่ 3 จะไม่ยิ่งใหญ่เท่าพระราชพิธีของพระราชมารดา อย่างแรกคือ แขกที่ได้รับเชิญเข้าพิธีมีจำนวนเพียง 2,000 คน ซึ่งลดลงอย่างมากจากพระราชพิธีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมงานรวม 8,000 คน

พิธีกรรมในโบสถ์ครั้งนี้จะใช้เวลาราว 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น น้อยกว่าพระราชพิธีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 

นอกจากนั้น สิ่งที่จะเพิ่มมาคือ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ยังขอให้เล่นเพลงกรีกออร์โธดอกซ์ (Greek Orthodox music) ระหว่างพิธี เพื่อเป็นเกียรติแด่เจ้าชายฟิลลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชบิดาผู้ล่วงลับของพระองค์ด้วย 

สำหรับเครื่องแต่งกาย คิงชาร์ลส์จะทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ซึ่งต่างจากธรรมเนียมเครื่องแต่งกายของกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ที่ทรงสวมกางเกงขี่ม้า (ยาวแค่เข่า) และถุงเท้ายาวที่ทำจากผ้าไหม ความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงแนวทางสมัยใหม่ที่พระมหากษัตริย์ทรงประสงค์จะนำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงอังกฤษ
คิงชาร์ลส์ที่ 3 ในเครื่องแบบทหาร/ AFP/ POOL Dan Kitwood

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบสำคัญหลายอย่างของพิธีจะยังคงเหมือนเดิม รวมถึงการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์เช่นเดียวกับพระราชพิธีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 

ตามธรรมเนียมจะมีการแต่งเพลงใหม่ขึ้นสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเพลงสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์จะเขียนคำร้องและเรียบเรียงดนตรีโดย ลอร์ด แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ (Lord Andrew Lloyd-Webber) และนอกจากบทเพลงหลักที่ว่านี้แล้ว ยังมีบทเพลงใหม่อีก 11 เพลงสำหรับประกอบในพระราชพิธีด้วย 

 

พิธีบรมราชาภิเษกในมหาวิหาร ทำอะไรบ้าง

พิธีกรรมในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ประกอบพิธีกรรมโดยจัสติน เวลบีย์ (Justin Welby) อาร์ชบิชอบแห่งแคนเทอร์เบอรี นักบวชผู้มีสมณศักดิ์สูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ 

เริ่มจากการรับรองฐานะความเป็นกษัตริย์ จะมีการประกาศแนะนำพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อปวงชน โดยอาร์ชบิชอบแห่งแคนเทอร์เบอรีจะยืนอยู่หน้าบัลลังก์ราชาภิเษกอายุ 700 ปี ก่อนจะหันไปทางทิศต่าง ๆ ของมหาวิหาร พร้อมป่าวประกาศว่าสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 คือ “กษัตริย์พระองค์ใหม่ของพวกเรา อย่างไม่ต้องสงสัย” จากนั้นจะขอให้ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีถวายความเคารพ และกล่าวถวายความจงรักภักดี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกควีนเอลิซาเบธที่ 2 วันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953/ AFP/ INTERCONTINENTALE

จากนั้นอาร์ชบิชอบแห่งแคนเทอร์เบอรีจะขอให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ เพื่อยืนยันว่าจะทรงพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรอังกฤษ โดยจะทรงวางพระหัตถ์ลงบนพระคัมภีร์ไบเบิลระหว่างตรัสคำปฏิญาณดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ทรงปฏิบัติตาม

ช่วงเวลานี้ถือเป็นส่วนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพิธี ซึ่งเมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 พิธีกรรมส่วนนี้ไม่ถูกถ่ายทอดสด และในพระราชพิธีของคิงชาร์ลส์ก็จะไม่มีการถ่ายทอดให้ชมเช่นกัน 

อาร์ชบิชอบแห่งแคนเทอร์เบอรีเขียนอธิบายว่า ช่วงเวลานี้ “เป็นสัญลักษณ์ของการได้รับมอบหมายจากประชาชนให้ทำงานพิเศษ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า … เป็นช่วงเวลาที่กษัตริย์ถูกแยกออกเป็นสองส่วนคือ การรับใช้ประชาชนของประเทศนี้ และการรับใช้พระเจ้า” หรือตีความได้ว่า งานของกษัตริย์คือการรับใช้ประชาชนซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า กล่าวคือกษัตริย์ต้องเป็นผู้ช่วยของพระเจ้าในการให้ความช่วยเหลือประชาชนนั่นเอง 

ต่อจากนั้นเป็นขั้นตอนการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสดงถึงสถานะผู้นำทางจิตวิญญาณและความเป็นองค์ประมุขสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ อาร์ชบิชอบแห่งแคนเทอเบอรีจะเทน้ำมันออกจากขวดอินทรีทองคำ โดยเทลงบนฉลองพระหัตถ์ช้อนราชาภิเษก ก่อนจะเจิมน้ำมันดังกล่าวเป็นเครื่องหมายกางเขนบนหน้าผาก หน้าอก และพระหัตถ์ทั้งสองข้างของพระมหากษัตริย์

ถัดจากนั้นเป็นขั้นตอนการสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St. Edward’s Crown) อันเป็นหัวใจของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพกษัตริย์จะได้ทรงพระมหามงกุฎนี้เพียงครั้งเดียวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงอังกฤษ
ขั้นตอนการสวมมหามงกุฎพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 วันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953/ PA/ AFP

ก่อนจะสวมพระมหามงกุฎ อาร์ชบิชอบแห่งแคนเทอร์เบอรีจะถวายลูกโลกประดับกางเขน, พระธำมรงค์ประจำองค์พระมหากษัตริย์, พระคทากางเขน, และพระคทานกพิราบ แล้วจึงถวายการสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งในระหว่างถวายการสวมมหามงกุฎนั้นจะมีการเป่าแตรและยิงสลุตจากหลายสถานที่ทั่วสหราชอาณาจักรอย่างพร้อมเพรียงกันรวม 62 นัด 

แล้วจากนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้าย กษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชอาสน์อันเป็นสัญลักษณ์ของการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ 

ตามธรรมเนียมดั้งเดิม ในขั้นตอนนี้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางจะพากันต่อแถวยาว เพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายความเคารพ โดยพวกเขาจะคุกเข่าลงต่อหน้าพระพักตร์ กล่าวถวายความจงรักภักดี ก่อนจะจุมพิตที่พระหัตถ์ขวา

อย่างไรก็ตาม คาดว่าครั้งนี้พิธีการจะเปลี่ยนแปลงไป โดยเจ้าชายวิลเลียมจะเป็นพระราชวงศ์ที่มีฐานันดรชั้นดยุกเพียงพระองค์เดียวที่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายความเคารพต่อสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงอังกฤษ
คิงชาร์ลส์ที่ 3 กับพระราชินีคามิลลา/ AFP/ POOL/ Yui Mok

นอกจากนั้น หลังจากพิธีการของกษัตริย์แล้วเสร็จ จะมีการประกอบพระราชพิธีอภิเษกหรือการสถาปนาแต่งตั้งสมเด็จพระราชินี โดยนักบวชจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระอัครมเหสี และถวายการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรี โดยดำเนินพิธีการขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเรียบง่ายกว่า และราชีนีไม่ต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตามแบบของกษัตริย์

 

การเฉลิมฉลองประกอบพิธีบรมราชาภิเษกมีอะไรบ้าง

ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม ในเวลากลางวันจะมีผู้คนจำนวนมากได้รับเชิญเข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่เรียกว่า “coronation big lunch”

ส่วนในช่วงค่ำจะมีพิธีเฉลิมฉลองที่สนามหญ้าของพระราชวังวินด์เซอร์ มีการแสดงคอนเสิร์ตโดยวงออเคสตรา คณะนักร้องประสานเสียง นักร้องนักดนตรีร่วมสมัยชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง และมีการเต้นรำ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ BBC

นอกจากนั้น สำนักพระราชวังคาดว่าจะมีอีเวนต์หลายพันอีเวนต์เกิดขึ้นตามท้องถนน สวนในชุมชน และสวนสาธารณะทั่วสหราชอาณาจักร 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงอังกฤษ
บรรยากาศถนน The Mall หน้าพระราชวังบักกิงแฮม/ AFP/ JUSTIN TALLIS

ในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดธนาคาร จะเป็นวันสำหรับกิจกรรมอาสาสมัครและเปิดรับบริจาคในนาม “The Big Help Out” จัดโดยองค์กร The Together Coalition ร่วมกับพันธมิตรมากมาย และกลุ่มอาสาสมัครจากทั่วสหราชอาณาจักร 

สำนักพระราชวังกล่าวว่า เพื่อยกย่องการทรงงานเพื่อสาธารณะของพระมหากษัตริย์ โครงการ The Big Help Out จะกระตุ้นให้ประชาชนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร และร่วมทำงานเพื่อสนับสนุนท้องถิ่นของตนเอง โดยเป้าหมายของกิจกรรม คือ การใช้อาสาสมัครเป็นตัวเชื่อมชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และร่วมสร้างมรดก “อาสาสมัครที่ยั่งยืน”

 

อ้างอิง :

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง