ชาร์ลส์ที่สาม : เหตุใดผู้นำสหรัฐฯ ไม่เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษพระองค์ใหม่

Jane Barlow/PA Media ทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะไม่เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3

สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์พิเศษ นับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีวินสตัน เชอร์ชิลล์ ทว่ายังไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใด ที่เคยเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์แห่งราชบัลลังก์อังกฤษเลย

ธรรมเนียมปฏิบัตินี้บ่งชี้ว่า ชาติทั้งสองมีความเป็นปรปักษ์กันหรือไม่ หรือเป็นเพียงเรื่องธรรมดากันแน่

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 จะมีขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. ที่จะถึงนี้ โดยจัดขึ้นธรรมเนียมยุคโบราณ โดยรายละเอียดว่าด้วยสิ่งของและขั้นตอนปฏิบัติต่าง ๆ ในพระราชพิธี แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย ตลอดระยะเวลากว่า 1,000 ปีที่ผ่าน

ท่ามกลางประมุขของแต่ละประเทศ และผู้นำโลกที่จะเดินทางมาร่วมพิธีในฐานะสักขีพยาน แต่ในวันพระราชพิธีสำคัญนี้ จะไม่มี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ อยู่ร่วม

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวบอกกับบีบีซีว่า นายไบเดนได้รับคำเชิญเข้าร่วมพระราชพิธีดังกล่าว แต่ในการสนทนาทางโทรศัพท์กับสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า จะให้นางจิล ไบเดน สตรีหมายเลขหนึ่ง และนักการทูตเดินทางไปเป็นผู้แทน

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวไม่ได้ระบุถึงเหตุผลที่นายไบเดนไม่ร่วมเดินทางไปด้วย โดยระบุเพียงว่า เขามีความปรารถนาที่จะเข้าเฝ้าพระองค์ในอนาคต เท่านั้น

การที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ปรากฏตัวในพระราชพิธีดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง

นายบ๊อบ ซีลี ส.ส. จากพรรคอนุรักษนิยม บอกกับเว็บไซต์เทเลกราฟของอังกฤษว่า นายไบเดน ทำตัวเหมือนเมินเฉย ที่ไม่เข้าร่วมเหตุการณ์สำคัญที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะเกิดขึ้น

ด้านนายรัสเซล ไมเยอร์ ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะ เดลี เมล ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ว่า การไม่เข้าร่วมพระราชพิธีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผลสืบเนื่องจากความภูมิใจรากเหง้าของเขาที่มาจากเชื้อสายชาวไอริช

“ผมไม่คิดว่า จะมีโอกาสที่เขาจะมาร่วมงาน” นายไมเยอร์ กล่าว

นักประวัติศาสตร์อธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจไม่เข้าร่วมงานพระราชพิธีนี้ ว่า มีเหตุผลทางการเมืองน้อยมาก เพราะแท้ที่จริงแล้ว เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของประธานาธิบดีชาวอเมริกัน ที่ดำเนินมายาวนานเป็นศตวรรษ

“ไม่ใช่การเพิกเฉย”

ลอรา เบียร์ส ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอังกฤษยุคใหม่ จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน ไม่ได้มองว่า เหตุผลเบื้องหลังการกระทำของผู้นำสหรัฐฯ เป็นการเพิกเฉย

“แนวความคิดที่ว่านายไบเดนเป็นคนต่อต้านอังกฤษเป็นเรื่องไร้สาระ ที่เขาไม่เข้าร่วมพระราชพิธี ก็เพราะว่ายังไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดที่เคยเข้าร่วมพิธีดังกล่าว แล้วเหตุใดจะมาเริ่มในศตวรรษที่ 21” เธออธิบาย

ก่อนรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ศาสตราจารย์เบียร์ส รับทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นคู่ขัดแย้ง ภายหลังการปฏิวัติอเมริกาและสงครามปี 1812 (ระหว่างสหรัฐฯ และอังกฤษ)

แม้กระทั้งในครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จขึ้นครองราชย์ ที่ได้จุดกระแสความนิยมในตัวพระองค์ หรือที่เรียกว่า “Victoria Fever” และกลายเป็นยุคสมัยใหม่แห่งความคลั่งไคล้ราชวงศ์อังกฤษของบรรดาชาวอเมริกัน แต่กระแสนั้นก็ไม่ได้ทำให้ประธานาธิบดีมาร์ติน แวน บิวเรน (Martin Van Buren) ของสหรัฐฯ เข้าร่วมพระราชพิธีดังกล่าวเช่นกัน

“นี่ไม่ใช่พิธีปฏิบัติของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะเข้าร่วมพระราชพิธิ และคิดว่า นั่นจึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา” เธออธิบาย

ทรอย บิคแฮม นักวิชาการแห่งราชสมาคมประวัติศาสตร์ เล่าว่า การเดินทางข้ามทะเลไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติก่อนการเดินทางโดยเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเริ่มต้นขึ้นในปี 1939 หรือ 3 ปีหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 6

ไอเซนฮาวร์ กับ ควีนเอลิซาเบธที่ 2

นักประวัติศาสตร์ระบุว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

ตลอดระยะเวลาการทำสงคราม พระเจ้าจอร์จที่ 6 และพระราชธิดา ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับ พล.อ. ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรประจำการในกรุงลอนดอน ในยุทธการ “โอเวอร์ลอร์ด” ในการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี

Queen Elizabeth with President Dwight D Eisenhower

Getty Images
ควีนเอลิซาเบธ และประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ในงานเลี้ยงต้อนรับของทำเนียบขาวในปี 1957

พล.อ. ไอเซนฮาวร์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 34 เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต และควีนเอลิซาเบธเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

แม้ว่าความสัมพันธ์อันแนบแน่นต่อสหราชอาณาจักร แต่ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ยังคงรักษาธรรมเนียมปฏิบัติเดิม ด้วยการส่งผู้แทนทางการทูตไปร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกดังกล่าวแทน

แซม เอดเวิร์ดส์ นักประวัติศาสตร์อีกรายระบุว่า ในห้วงเวลานั้น สหรัฐฯ เองก็ยังคงวุ่นวายอยู่กับสงครามเกาหลี ขณะที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์มีความประสงค์ที่จะประจำการอยู่ในกรุงวอชิงตันด้วย

President Eisenhower meets the royal family, Queen Elizabeth and the future King Charles, in 1959

Getty Images
สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ขณะทรงพระเยาว์ ทรงร่วมฉายพระรูปกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ที่ปราสาทบัลมอรัล ระหว่างการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักร
Short presentational grey line

BBC

การไม่เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างเขาและสหราชอาณาจักร หรือ ราชวงศ์อังกฤษ ในเดือน ต.ค. 1957 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้การต้อนรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ อีกสองปีให้หลัง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงให้การต้อนรับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์และครอบครัวอย่างไม่เป็นทางการ ที่ปราสาทบัลมอรัลอีกด้วย

1 ราชินี กับ ประธานาธิบดี 14 คน

ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีถึง 14 คน ที่ได้เข้าเฝ้าพระองค์ รวมทั้งประธานาธิบดีคนปัจจุบันด้วย ในจำนวนนั้นมี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3 คนที่เคยเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ขณะที่ควีนเอลิซาเบธเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ ถึง 4 ครั้ง

ประธานาธิบดีไบเดนดูเหมือนเลือกที่จะไม่แหวกธรรมเนียมปฏิบัติ จึงส่งผู้แทนทูตเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะมีขึ้นแทน แต่เขาได้ตอบรับคำเชิญจากสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 แล้ว แต่ยังไม่กำหนดวันที่แน่นอน

นายเอดเวิร์ด ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นใครจะเข้าร่วมพระราชพิธีดังกล่าว สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ยังทรงตั้งปณิธานเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศเช่นเดิม

“การเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเพียงหนึ่งจิ๊กซอว์แห่งความสัมพันธ์ร่วมสมัยระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติก” เขากล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว