ชาร์ลส์ที่สาม : บทเรียนจากราชวงศ์ยุโรปสอนอะไรแก่กษัตริย์อังกฤษบ้าง

Getty Images เจ้าหญิงแมร์ธา ลูอีส แห่งนอร์เวย์

การเสด็จขึ้นครองราชย์ในฐานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ทรงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งเหล่าสื่อมวลชนที่หิวกระหายข่าว อดีตอันดำมืดในยุคล่าอาณานิคมของชาติ ตลอดจนความบาดหมางกับองค์รัชทายาทหัวขบถ

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ทรงอาจใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นกับบรรดาราชวงศ์ในยุโรปเป็นกรณีศึกษาในการนำพาสถาบันกษัตริย์อังกฤษให้ดำรงอยู่ต่อไปท่ามกลางกระแสสังคมในยุคปัจจุบัน

นอร์เวย์ – การคลี่คลายความขัดแย้งในราชวงศ์

เจ้าชายแฮร์รี พระราชโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ทรงลดบทบาทในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูง แล้วย้ายไปประทับในสหรัฐฯ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์สมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งรวมถึงพระราชบิดาอย่างเผ็ดร้อน กลายเป็นฉากความขัดแย้งในครอบครัวอันน่าเศร้าที่ถูกเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้งต่อสายตาสาธารณชน

ราชวงศ์นอร์เวย์ก็เผชิญความท้าทายจากองค์รัชทายาทหัวขบถ ผู้ไม่ยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของราชสำนักเช่นกัน

เจ้าหญิงแมร์ธา ลูอีส คือพระราชธิดาองค์โตในสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ ทว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ที่ไม่ก้าวหน้าของนอร์เวย์ทำให้พระอนุชา (น้องชาย) ของพระองค์ทรงอยู่ในฐานะรัชทายาทอันดับหนึ่งผู้จะได้ครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์นอร์เวย์พระองค์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เจ้าหญิงแมร์ธา ลูอีส ทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์ผู้มีชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน อีกทั้งเป็นผู้จุดประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางในนอร์เวย์

เจ้าหญิงแมร์ธา ลูอีส ทรงเล่าให้บีบีซีฟังถึงความสามารถในการสื่อสารกับทูตสวรรค์ของพระองค์ โดยไม่กี่ปีก่อนพระองค์ได้เปิดโรงเรียนสอนผู้คนให้รู้จัก “ติดต่อกับเทวดานางฟ้า” ขณะที่พระคู่หมั้นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันของพระองค์ที่ชื่อ ดูเร็ก เวอร์เร็ต ซึ่งตั้งตนเองเป็นผู้วิเศษที่สื่อสารกับวิญญาณได้นั้น ก็ทำธุรกิจขาย “เหรียญเพิ่มพลังจิตวิญญาณ” ที่เขาอ้างว่าช่วยให้เขาหายขาดจากโควิด

Princess Martha Louise with fiance Durek Verrett

Getty Images
เจ้าหญิงแมร์ธา ลูอีส และ ดูเร็ก เวอร์เร็ต พระคู่หมั้น

พระองค์เล่าว่า การเลือกทางเดินชีวิตที่แตกต่างจากสมาชิกราชวงศ์นอร์เวย์คนอื่นทำให้พระองค์ต้องเผชิญกับความวุ่นวายต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งตกเป็นเป้าการวิจารณ์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หนึ่งในกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ดังกล่าวคือ กรณีที่พระองค์ใช้พระอิสริยยศในการหาเงินจากธุรกิจต่าง ๆ ทำให้ในปี 2022 เจ้าหญิงแมร์ธา ลูอีส ทรงลดบทบาทการทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์ลง เพื่อมุ่งทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์

แต่ผู้สันทัดกรณีชี้ว่าสิ่งที่ทำให้ราชวงศ์นอร์เวย์สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเจ้าหญิงแมร์ธา ลูอีส ทั้งเรื่องการดำเนินชีวิตอันแสนขบถ และการลดชั้นยศของพระองค์ โดยไม่สร้างความร้าวฉานในครอบครัวนั้น คือ “ความรัก”

คาโรไลน์ วอเกิล ผู้สื่อข่าวสายราชสำนักของนิตยสารแท็บลอยด์ SE og HØR ซึ่งมักตีพิมพ์ข่าวฉาวของเจ้าหญิงแมร์ธา ลูอีส และพระคู่หมั้นอธิบายว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 ทรงมีวิธีการรับมือเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างประนีประนอม

“สมเด็จพระราชาธิบดีตรัสว่ามันคือความขัดแย้งทางวัฒนธรรม และทรงออกแถลงการณ์ว่าราชวงศ์มีความแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้นภายหลังการพูดคุยกัน” เธอกล่าว

“ฉันคิดว่าสมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีความเป็นนักการทูต และทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา และพวกเขาอาจยอมรับความเห็นต่างระหว่างกัน”

วอเกิล บอกว่าสิ่งสำคัญที่ราชวงศ์นอร์เวย์ใช้รับมือกับสมาชิกผู้ไม่พอใจกับกฎเกณฑ์ของราชสำนักโดยที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกันก็คือ “พวกเขารักกัน มันคือสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัว”

สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เวลาที่ราชวงศ์บอกว่าพวกเขามีความรักใคร่ให้แก่กัน คนนอร์เวย์ก็เชื่อไปตามนั้นด้วย

เดนมาร์ก – การรับมือแรงกดดันจากสื่อมวลชน

สื่อมวลชนในประเทศแถบสแกนดิเนเวียมีความแตกต่างจากบรรดาแท็บลอยด์ในอังกฤษอยู่มาก

ยกตัวอย่างนิตยสาร SE og HØR ที่มักเลือกตีพิมพ์เฉพาะข่าวของราชวงศ์ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยในเดนมาร์ก ราชวงศ์มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับสื่อในประเทศเป็นอย่างมาก และนี่คือข้อได้เปรียบในยามที่ราชวงศ์เผชิญกับวิกฤต

เมื่อปีที่แล้ว สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กตัดสินพระราชหฤทัยถอดพระยศ “เจ้าชายและเจ้าหญิง” ของพระราชนัดดา (หลาน) 4 พระองค์เพื่อลดขนาดของราชวงศ์ และทำให้ราชวงศ์เดนมาร์ก “ทันกับยุคสมัย” ซึ่งตรงกับพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเจ้าชายโยอาคิม พระราชโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีนาถ ทรงทราบข่าวการถอดพระยศพระโอรสและพระธิดาของพระองค์จากข้าราชบริพาร ส่งผลให้รู้สึกไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อถูกสื่อมวลชนสัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ พระองค์จึงตรัสอย่างตรงไปตรงมาว่า “มันไม่สนุกเลยที่ต้องเห็นลูก ๆ ของคุณถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมเช่นนี้”

ทิน ก็อตส์เชอ ผู้สื่อข่าวสายราชสำนักเดนมาร์กอธิบายว่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างยิ่ง “เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่สมาชิกราชวงศ์พูดถึงสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วย”

ในตอนนั้นเกิดคำถามว่าการระเบิดอารมณ์ของเจ้าชายโยอาคิมจะส่งผลเสียต่อคะแนนนิยมที่มีอยู่สูงของราชวงศ์เดนมาร์กหรือไม่

อันที่จริงมันไม่ได้ส่งผลแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวที่มีเป้าหมายตัดลดค่าใช้จ่ายของราชวงศ์ และอีกส่วนเป็นเพราะการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2

พระองค์ทรงออกแถลงการณ์ยืนยันการตัดสินพระราชหฤทัยเรื่องดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าทรงประเมินความรู้สึกของพระราชโอรสและครอบครัวของพระองค์ต่ำเกินไป ซึ่งนี่ “ทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรง ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าต้องขอโทษด้วย”

แถลงการณ์ดังกล่าวกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก และได้ช่วยคลี่คลายปมขัดแย้งในราชวงศ์ อีกทั้งทำให้ราชวงศ์เดนมาร์กก้าวทันกับยุคสมัยปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับราชสำนักเดนมาร์ก เพราะผู้สื่อข่าวได้เรียนรู้แล้วว่าสามารถโยนคำถามไปยังสมาชิกราชวงศ์ได้ และพวกเขาก็อาจได้รับคำตอบแบบที่สื่อทูลถามเจ้าชายโยอาคิมบนถนนในกรุงปารีส

ขณะเดียวกัน ราชวงศ์ทั้งในเดนมาร์กและสหราชอาณาจักรก็ได้เรียนรู้ถึงการรับมือกับสื่อในยุคสมัยใหม่ ซึ่งต้องใช้ทั้งความอ่อนน้อมถ่อมตน และความฉลาดทางอารมณ์

เบลเยียม – การพูดถึงอดีตฉาวในยุคล่าอาณานิคม

หนึ่งเดือนก่อนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 เปิดเผยว่าพระองค์ทรงสนับสนุนการศึกษาวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่เกี่ยวข้องกับระบบทาส ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาอันดำมืดในหน้าประวัติศาสตร์ และอาจสร้างความมัวหมองให้แก่ราชวงศ์อังกฤษ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องที่เพิ่มมากขึ้นให้มีการยอมรับผิดถึงความโหดร้ายและความเสียหายที่เกิดจากการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ

ขบวนการ Black Lives Matter ที่ต่อต้านการกดขี่และเหยียดสีผิวเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในเบลเยียม ซึ่งเคยกระทำการอันทารุณโหดร้ายในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สมัยที่เป็นเจ้าอาณานิคมเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

เบลเยียมได้เข้ายึดครองประเทศในแอฟริกากลางแห่งนี้ในสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 ช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะยอมมอบเอกราชให้ในปี 1960 คาดว่า มีชาวคองโกเสียชีวิตจากการกดขี่รุนแรงในช่วงเวลาดังกล่าวกว่า 10 ล้านคน

ในปี 2020 สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป แห่งเบลเยียม ซึ่งเป็นผู้สืบสายโลหิตโดยตรงมาจากกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 ทรงมีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีที่ประเทศได้รับเอกราชจากเบลเยียม โดยพระองค์ทรงแสดงความเสียพระทัยอย่างที่สุดต่อการกระทำอันทารุณโหดร้ายที่เบลเยียมเคยก่อไว้ในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการแสดงความสำนึกผิดอย่างเป็นทางการ แต่กลับไม่มีการกล่าวขออภัยโดยตรงถึงเรื่องนี้

King Philippe with wife Mathilde in Democratic Republic of Congo

Reuters
สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป และสมเด็จพระราชินีมาตีลด์ แห่งเบลเยียม ขณะเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

หนึ่งในสมาชิกราชราชวงศ์เบลเยียมแสดงความไม่เห็นด้วยกับท่าทีดังกล่าว โดยเจ้าหญิงมารี-เอสเมราลดา แห่งเบลเยียม ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา (อาหญิง) ในสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป ทรงให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับบีบีซีว่า

“เราต้องเผชิญหน้ากับอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นว่าการเหยียดเชื้อชาติได้ฝังลึกในโครงสร้างสังคมของเรา และนั่นมีที่มาโดยตรงจากระบบทาสและการล่าอาณานิคม ดังนั้นเราจึงต้องเผชิญหน้ากับมัน”

พระองค์ทรงชี้ว่า การที่บรรพบุรุษของพระองค์ทรงมีบทบาทเป็นผู้ปกครองในยุคนั้น “ในฐานะสมาชิกราชวงศ์…ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ มันคือความรับผิดชอบ”

เจ้าหญิงมารี-เอสเมราลดา ทรงสามารถแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาเพราะพระองค์ไม่ใช่องค์รัชทายาทสายตรงของราชบัลลังก์เบลเยียม ซึ่งในฐานะสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้กษัตริย์เบลเยียมไม่สามารถแสดงความคิดเห็นส่วนพระองค์ต่อสาธารณชนได้

การที่สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปทรงแสดงท่าทีต่อประวัติศาสตร์ในคองโกมากกว่ากษัตริย์เบลเยียมพระองค์ใดในอดีต ถือเป็นการบ่งชี้ถึงท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของรัฐบาลเบลเยียม แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะกล่าวขออภัยอย่างเป็นทางการต่อการสังหารชาวคองโกหลายล้านคน

นี่คือความละเอียดอ่อนทางภาษาและกฎหมายที่สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 จะต้องเผชิญเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว