ชาร์ลส์ที่สาม : เหตุใดกษัตริย์อังกฤษต้องมีพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คิงชาร์ลสที่ 3
Getty Images/ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ ใช้บัลลังก์เก่าแก่อายุ 700 ปี รวมทั้งมีการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับธรรมเนียมเมื่อครั้งโบราณ

 

ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า พสกนิกรทั่วสหราชอาณาจักรและผู้คนทั่วโลกจะได้ชมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่หาได้ยาก ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี หรือเกือบจะหนึ่งศตวรรษเลยทีเดียว

เหตุการณ์นั้นก็คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษพระองค์ใหม่ สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ในวันที่ 6 พ.ค. ที่จะถึงนี้

แม้พิธีการส่วนใหญ่จะเป็นไปตามธรรมเนียมในยุคโบราณ โดยรายละเอียดว่าด้วยสิ่งของและวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ในพระราชพิธีแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย ตลอดระยะเวลากว่า 1,000 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่พระราชพิธีนี้ยังคงมีความสำคัญและมีความจำเป็นยิ่งยวดต่อสถาบันกษัตริย์ในสังคมยุคใหม่

ในทางกฎหมายแล้ว แม้เราจะถือว่าสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่โดยอัตโนมัติ ในทันทีที่พระราชมารดาเสด็จสวรรคต แต่ราชวงศ์อังกฤษและรัฐบาลสหราชอาณาจักรก็ยังคงต้องจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามธรรมเนียมโบราณ เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเริ่มต้นรัชสมัยใหม่อย่างแท้จริง

นอกจากการที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตามธรรมเนียมในยุคกลางแล้ว พระราชพิธีบรมราชาภิเษกแบบอังกฤษยังประกอบไปด้วยขั้นตอนอื่น ๆ รวมถึงการประทับบนบัลลังก์เก่าแก่อายุ 700 ปี ซึ่งตั้งอยู่เหนือ “หินแห่งโชคชะตา” (Stone of Destiny) และการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ตามพระวรกายด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์มองว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นคล้ายกับการสมรสหรือพิธีแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาว เพียงแต่ว่าในครั้งนี้กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอภิเษกสมรสในเชิงสัญลักษณ์กับราชอาณาจักรของพระองค์เอง โดยหลังจากผู้เข้าร่วมพิธี 2,000 คน กล่าวถวายความจงรักภักดีและรับรองฐานะของพระมหากษัตริย์แล้ว จะมีการถวายพระธำมรงค์หรือแหวนประจำองค์พระประมุข ก่อนจะทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณต่อไป

ดร. จอร์จ กรอสส์ หัวหน้าโครงการวิจัยความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากราชวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน (KCL) บอกว่าพระราชพิธีดังกล่าวเป็นการแสดงออกอย่างเป็นทางการ ถึงพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นและแน่วแน่จริงจังต่อพันธกิจหรือบทบาทหน้าที่ในฐานะพระมหากษัตริย์

“การที่ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่า จะทรงเคารพกฎหมายและดำรงความเป็นธรรมด้วยพระเมตตานั้น ถือเป็นพระราชดำรัสที่มีความพิเศษอย่างยิ่ง ในโลกที่ผู้นำของรัฐจำนวนไม่น้อยพากันละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กษัตริย์อังกฤษกลับทรงต้องกล่าวถ้อยคำเหล่านี้ เพื่อเน้นย้ำว่ากฎหมายเป็นสิ่งพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่ง และการปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางหรือขัดแย้งกับบทบาทของกษัตริย์แต่อย่างใด” ดร. กรอสส์ กล่าวอธิบาย

Coronation spoon
Universal History Archive/ Getty Images/ ฉลองพระหัตถ์ช้อนสำหรับพิธีบรมราชาภิเษก ปรากฏอยู่ในบันทึกเครื่องราชกกุธภัณฑ์ครั้งแรกเมื่อปี 1349 โดยระบุว่าเป็น “ของโบราณเก่าแก่” ที่มีมานานก่อนหน้านั้น

ผสานธรรมเนียมโบราณกับความเป็นสมัยใหม่

โดยเนื้อแท้แล้วพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายกางเขนลงตามจุดต่าง ๆ บนพระวรกาย ทั้งที่พระนลาฏ (หน้าผาก), พระหัตถ์ทั้งสองข้าง, และที่พระอุระ (หน้าอก)

การเจิมนี้เท่ากับยกสถานะของกษัตริย์ให้มีความศักดิ์สิทธิ์เสมือนนักบวช และเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการที่ทรงรับถ่ายทอด “เทวสิทธิ์” (divine right) มาจากพระเจ้า ทำให้ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครอง รวมทั้งทรงเป็นผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณของประชาชน

ดร. เดวิด ทอร์แรนซ์ ผู้เขียนรายงานวิจัยเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้กับรัฐสภาของสหราชอาณาจักร บอกว่า “การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นพิธีกรรมในนิกายแองกลิกัน หรือในแบบของศาสนจักรอังกฤษนั่นเอง โดยเป็นการถ่ายทอดพระคุณของพระเจ้า (God’s grace) ให้มาสถิตในองค์พระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการเตือนให้ประชาชนรำลึกไว้เสมอว่า ทรงเป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษที่พวกเขาเคารพนับถือ”

น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เจิมนั้น มาจากผลมะกอกที่ปลูกและผ่านการปลุกเสกจากนครเยรูซาเลม โดยจะเทจากภาชนะบรรจุลงบนฉลองพระหัตถ์ช้อนสำหรับพิธีบรมราชาภิเษก (coronation spoon) ซึ่งอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี นักบวชผู้มีสมณศักดิ์สูงสุดระดับอัครสังฆราชของศาสนจักรอังกฤษ จะเป็นผู้ถวายการเจิมด้วยตนเอง

Canopy placed over the Queen before she is anointed at her coronation
Keystone/ Getty Images/ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประทับใต้ผ้าคลุมที่กั้นเป็นเพดานและม่านบังสายตา เพื่อทรงรับการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1952

ดร. เอเลนา วูดแคลร์ ผู้อำนวยการเครือข่ายศึกษาสถาบันกษัตริย์ (Royal Studies Network) บอกว่าการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จะทำภายใต้ผ้าคลุมที่กั้นให้คล้ายเพดานและม่านบังสายตา เนื่องจากกษัตริย์จะทรงเพียงฉลองพระองค์ผ้าขาวบางชั้นใน ทั้งยังถือเป็นพิธีกรรมส่วนพระองค์ระหว่างกษัตริย์กับพระเจ้าที่สามัญชนไม่ควรเห็น และหากมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ กล้องก็จะไม่จับภาพพระราชพิธีในช่วงนี้

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ในรัชกาลปัจจุบันได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับค่านิยมของยุคสมัย โดยไม่ได้ใช้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่เหลือจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลก่อน เนื่องจากมีส่วนผสมของชะมดเช็ดและอำพันทะเล หรือที่เรียกว่าอาเจียนของวาฬสเปิร์ม ซึ่งขัดกับค่านิยมพิทักษ์สิทธิสัตว์และการบริโภคมังสวิรัติของคนรุ่นใหม่

น้ำมันเจิมศักดิ์สิทธิ์บางส่วนจึงถูกสกัดขึ้นอีกครั้ง จากผลมะกอกที่ปลูกในอารามแมรี แม็กดาลีน ของนครเยรูซาเลม ซึ่งเป็นที่ฝังพระศพของเจ้าหญิงอลิซแห่งแบตแทนเบิร์ก พระอัยกี (ย่า) ผู้เป็นพระมารดาของเจ้าชายฟิลิป

ดร. วูดแคลร์บอกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนับเป็นโอกาสอันดีของกษัตริย์พระองค์ใหม่ ที่จะทรงผสานธรรมเนียมโบราณเก่าแก่ที่มีมายาวนานเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยใช้ประโยชน์จากความเข้มขลังของราชประเพณีแบบดั้งเดิม เพื่อปูทางไปสู่การสร้างอนาคต”

Consecration of coronation oil
Patriarchate of Jerusalem and Buckingham Palace/ น้ำมันศักดิ์สิทธิ์มาจากผลมะกอกที่ปลูกและผ่านการปลุกเสกจากนครเยรูซาเลม

คนอังกฤษคิดเห็นอย่างไรกับพิธีราชาภิเษก

เกรแฮม สมิธ ตัวแทนของกลุ่มรีพับลิก (Republic) ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์เพื่อให้สหราชอาณาจักรมีประมุขของรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งคำถามว่าสมควรหรือไม่ที่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการสืบทอดธรรมเนียมโบราณเพียงเท่านั้น

“พิธีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระและระดับความใหญ่โตของงานแทบทุกครั้ง จนผู้คนจำไม่ได้แล้วว่าครั้งล่าสุดนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นธรรมเนียมประเพณีโบราณจึงไม่ได้มีความหมายสำคัญอะไรกับใครทั้งสิ้น” นายสมิธกล่าว “พิธีราชาภิเษกไม่มีคุณค่าอะไรเมื่อคำนึงถึงรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักในการปกครอง มันไม่จำเป็นเลย และถึงเราไม่จัดพิธีนี้ชาร์ลส์ก็ยังได้เป็นกษัตริย์อยู่ดี”

สิ่งที่นายสมิธได้กล่าวไว้นั้นมีเค้ามูลความจริงอยู่พอสมควร เช่นในอดีตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ก็เคยขึ้นครองราชย์และสละราชสมบัติไป ก่อนที่จะได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสียด้วยซ้ำ ปัจจุบันกษัตริย์ราชวงศ์ต่าง ๆ ของยุโรป ก็ได้ล้มเลิกการจัดพิธีดังกล่าวไปนานหลายปีแล้ว

ผลการสำรวจความคิดเห็น YouGov หรือยูกอฟโพลครั้งล่าสุด ชี้ว่ามีพลเมืองสหราชอาณาจักรถึง 48% ที่บอกว่าไม่สนใจหรือคาดว่าจะไม่ติดตามชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ ส่วนผลการสำรวจความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำขึ้นตอนพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบรอบแพลทินัมของควีนเมื่อปีที่แล้ว ชี้ว่าคนอังกฤษ 6 ใน 10 ราย แม้จะสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ แต่ก็รู้สึกว่าพระราชวงศ์มีความสำคัญต่อประเทศชาติน้อยลงกว่าเดิม เมื่อเทียบกับตอนที่ควีนเพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ในปี 1952

Crowds line the streets as the Queen's hearse drives past
Getty/ SOPA Images/ ผู้คนจำนวนมากในกรุงลอนดอน มาเฝ้าถวายความเคารพขบวนอัญเชิญพระบรมศพของควีน

สตีเฟน อีแวนส์ ประธานผู้บริหารของสมาคม National Secular Society บอกว่าสภาพการณ์ทางศาสนาและความเชื่อทางจิตวิญญาณของชาวอังกฤษเปลี่ยนแปลงไปมาก จนพิธีกรรมแบบนิกายแองกลิกันอาจดูแปลกแยกไปจากสภาพความเป็นจริงของสังคมอังกฤษยุคใหม่ ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางศาสนามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดร. ทอร์แรนซ์ กล่าวแย้งในประเด็นนี้ว่า “ผลสำรวจทางสถิติชี้ว่า ทุกวันนี้ผู้คนในกรุงลอนดอนพากันเข้าโบสถ์ของศาสนจักรอังกฤษมากขึ้น ในตอนที่ควีนเสด็จสวรรคตผู้คนต่างให้ความสนใจต่อพิธีกรรมทางศาสนา จนทางสำนักพระราชวังยังประหลาดใจต่อการตอบสนองของประชาชนที่คาดไม่ถึง หากสามารถทำให้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้มีความเป็นสากลและมีความเป็นนิกายแองกลิกันน้อยลง ก็อาจดึงความสนใจจากสังคมที่มีความหลากหลายทางความเชื่อได้”

พิธีราชาภิเษกแห่งศตวรรษที่ 21 ?

ศาสตราจารย์ แอนนา ไวต์ล็อก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ มองว่าการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้มีความทันสมัยนั้น ยังคงมีอุปสรรคใหญ่ในเรื่องของศาสนา เพราะหัวใจสำคัญของพิธีกรรมนี้คือการที่กษัตริย์ทรงปฏิญาณว่า จะทรงพิทักษ์รักษาและอุปถัมภ์บำรุงศาสนจักรแห่งอังกฤษ ซึ่งมีสถานะพิเศษเหนือความเชื่ออื่น ๆ ในดินแดนเดียวกัน

“แม้ที่ผ่านมาจะมีความเปลี่ยนแปลงบ้าง ในเรื่องของการจำกัดจำนวนแขกรับเชิญให้น้อยลง เลือกเชิญผู้เข้าร่วมพิธีที่มีภูมิหลังหลากหลายมากขึ้น หรือการทำดนตรีประกอบที่มีความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยผิวเผินในเรื่องของรูปแบบภายนอกหรือสไตล์เท่านั้น”

ศ. ไวต์ล็อกยังมองว่า ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในประเด็นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่อาจต้องปรับเปลี่ยนสถานะเสมือนศาสนาประจำชาติของนิกายแองกลิกัน หรืออาจต้องมีการลงประชามติเรื่องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้เลยในอนาคตอันใกล้นี้

“ความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์อยู่ที่การสืบทอดบัลลังก์กันมายาวนานอย่างไม่ขาดสาย ดังนั้นหากเจ้าชายวิลเลียมเกิดอยากจะล้มเลิกพิธีราชาภิเษกในรัชสมัยของพระองค์ ผู้คนก็จะมองว่าทรงทำเกินไปและถือเป็นการบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ในอีกทางหนึ่ง สังคมอังกฤษในปัจจุบันยังไปไม่ถึงขั้นนั้น” ศ. ไวต์ล็อกกล่าว

Charles at the state opening of parliament in 2022
WPA Pool/ คาดว่าจะมีผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2,000 คน ซึ่งน้อยกว่าสมัยของรัชกาลก่อนถึง 4 เท่าตัว

ด้านดร. กรอสส์ แสดงความเห็นว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้มีความเป็นสมัยใหม่ โดยแสดงออกซึ่งความพยายามที่จะคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำและข้าวยากหมากแพง ทำให้มีการลดจำนวนแขกรับเชิญผู้เข้าร่วมพระราชพิธีลง จนเหลือเพียง 1 ใน 4 ของพิธีที่จัดขึ้นในสมัยของควีนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การตัดลดค่าใช้จ่ายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ โดยพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้ทรงเคยทำมาแล้ว เมื่อต้องเสด็จขึ้นครองราชย์ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression)

ในครั้งนี้ชาวอังกฤษจึงยังส่งเสียงโอดครวญ เมื่อรัฐบาลไม่อาจเปิดเผยตัวเลขค่าใช้จ่ายของพระราชพิธี ที่คาดว่ายังสูงอยู่ถึงหลายล้านปอนด์ โดยคนจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ในภาวะที่พลเมืองของสหราชอาณาจักรกำลังลำบากจากปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

หมายเหตุ : ข่าวบีบีซีไทยที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว