ในประเทศไทยมีกระแสความสนใจว่าการแข่งขันในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซประเทศไทยจะดุเดือดยิ่งขึ้น และผู้ประกอบการไทยจะอยู่ยากมากขึ้น หลังจากมีการรายงานข่าวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2024 ว่า เทมู (Temu) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเครือ พินตัวตัว (Pinduoduo) บริษัทผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จากจีน ได้เข้ามาเปิดให้บริการในไทย
ในวันเดียวกัน (30 กรกฎาคม) ที่ประเทศจีน หน่วยงานศุลกากรของจีนเผยแพร่ตัวเลขการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน ซึ่งสำนักข่าวในจีนรายงานว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มูลค่าการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนรวมอยู่ที่ 1.22 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 6.05 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY)
สำหรับจีน “อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน” เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ และเป็นเครื่องยนต์ไม่กี่ตัวของจีนที่ยังทำงานได้ดีในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะที่การบริโภคภายในประเทศของจีนอ่อนแอ เศรษฐกิจจีนจึงต้องหวังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนเติบโตขึ้นมากกว่า 10 เท่า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของจีนยกย่องว่า อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน “เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศของจีน”
ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2024 จีนมีบริษัทด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากกว่า 120,000 บริษัท มีนิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากกว่า 1,000 แห่ง และมีจำนวนคลังสินค้าในต่างประเทศกว่า 2,500 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่รวมกว่า 30 ล้านตารางเมตร
ขณะที่การสร้างแบรนด์สินค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย ณ สิ้นปี 2023 จีนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศแล้วมากกว่า 30,000 รายการ จากปี 2022 ที่มีจำนวน 20,000 รายการ นอกจากนั้น จีนมีเครื่องบินขนส่งสินค้า 255 ลำ ณ สิ้นปี 2023
รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมภาคการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนให้เติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งความคาดหวังและความพยายามของทางการจีนกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนนั้นสะท้อนให้เห็นในการดำเนินการหลาย ๆ อย่างเพื่อพัฒนาการค้าอีคอมเมิร์ซ โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
หนึ่งในการดำเนินการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน คือ การสร้างเขตนำร่องบูรณาการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน นับตั้งแต่ปี 2015 ถึงเดือนพฤษภาคม 2024 กระทรวงพาณิชย์จีนได้จัดตั้งเขตนำร่องบูรณาการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแล้ว 165 แห่ง ซึ่งขนาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนขององค์กรที่อยู่ในเขตนำร่องเหล่านี้คิดเป็นกว่า 95% ของขนาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้งหมดในจีน
เมื่อเดือนมีนาคม 2024 จีนเผยแพร่ “สมุดปกฟ้า” หรือ รายงานว่าด้วยการพัฒนาในต่างประเทศสำหรับบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน อย่างเป็นทางการในงานแสดงสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ซึ่งในสมุดปกฟ้าระบุไว้ว่า การพัฒนาตลาดเกิดใหม่จะเป็นจุดเน้นของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน โดยภูมิภาคต่าง ๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา จะเป็นขั้วการเจริญเติบโตใหม่ (New Growth Pole)
“ในปี 2023 อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนได้แสดงให้เห็นถึงพลวัตและความยืดหยุ่นอันแข็งแกร่งมั่นคง ขณะที่การเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนได้ส่งอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั่วโลก” ข้อความส่วนหนึ่งในสมุดปกฟ้า
นอกจากนั้น มีการระบุในสมุดปกฟ้าอีกว่า บริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนได้คว้าโอกาสจากความร่วมมือระหว่างประเทศ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” โดยได้เจาะตลาดเกิดใหม่ ขยายความครอบคลุมของบริการ และพัฒนาระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนให้ดียิ่งขึ้น
อีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะขยายการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพร้อมแดน คือ ส่งเสริมการสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศ ดังที่สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ของทางการจีนรายงานเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2024 ว่า เหอ ย่าตง (He Yadong) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า จีนเตรียมส่งเสริมการก่อสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศและขยายการส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศของจีน
ต่อมา ในวันที่ 11 มิถุนายน 2567 มีการรายงานข่าวโดยรอยเตอร์ (Reuters) ว่า กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ออกกฎเพื่อส่งเสริมการก่อสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศและขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน
โดยประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ครอบคลุมร่างกฎสำหรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั้งขาเข้าและขาออกระบุว่า กระทรวงจะพยายามปรับปรุงการจัดการข้อมูลข้ามพรมแดน และเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการส่งออกข้ามพรมแดน และบอกอีกว่า กระทรวงและหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะปรับปรุงช่องทางการจัดหาเงินทุนให้ราบรื่น และช่วยให้บริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนก้าวไปสู่ระดับโลก
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในการแถลงตัวเลขการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 “หลิว ต้าเหลียง” (Lyu Daliang) ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์สถิติและโฆษกสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนกล่าวว่า ตัวเลขที่เติบโตขึ้นนี้ได้รับการส่งเสริมจากนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งเขตนำร่องสำหรับการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินพิธีการศุลกากร
หลิวกล่าวอีกว่า จีนจะเดินหน้าปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินพิธีการศุลกากรให้คล่องตัวยิ่งขึ้นในอนาคต และพัฒนาบริการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนต่อไป และบอกอีกว่า ขณะนี้ จีนกำลังดำเนินการส่งเสริมกลไกการตรวจสอบสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนก่อนการขนส่ง และขยายแผนนำร่องการส่งคืนสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนภายในเขตการค้าเสรี เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าและธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น