
เศรษฐกิจสหรัฐพิสูจน์ตัวเองว่าแข็งแกร่งเกินคาด อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” (Recession) มาได้ตลอดห้วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กลางปี 2022 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมีนาคม 2022 เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น อันเป็นผลกระทบจากสงครามในยูเครน
มีการคาดการณ์ระลอกแล้วระลอกเล่าว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็รอดมาระลอกแล้วระลอกเล่าเช่นกัน
ล่าสุด ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยได้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง พร้อมกับทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก 0.50% ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นอัตราที่แรงกว่าที่คาดกันไว้ก่อนหน้านี้
สิ่งที่จุดชนวนความกังวลของนักลงทุนขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์หุ้นร่วงถล่มทลายในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม คือ ข้อมูลตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม
การจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 114,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ 177,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้น 179,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021
ความสัมพันธ์อัตราการว่างงานกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นอธิบายได้ด้วย “กฎของซาห์ม” (Sahm Rule) ซึ่งเป็นหนึ่งตัวชี้วัดเศรษฐกิจถดถอยที่มีความแม่นยำ ใช้กันมาแล้วหลายทศวรรษ
การใช้เกณฑ์ “กฎของซาห์ม” เพื่อหาคำตอบว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะถดถอยหรือไม่นั้น คำนวณโดยนำตัวเลขอัตราว่างงานเฉลี่ย 3 เดือนล่าสุดลบด้วยอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดใน 12 เดือนล่าสุด หากผลลัพธ์ที่ได้สูงกว่า 0.50% บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังจะถดถอย ซึ่งเมื่อคำนวณจากตัวเลขอัตราว่างงานล่าสุด ส่วนต่างอยู่ที่ 0.53% แล้ว
ถึงแม้ตัวเลขตามกฎของซาห์มบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังถดถอย และมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะถดถอยจริง แต่ก็ยังมีความเห็นต่างหลากเฉดของการคาดการณ์ที่ชวนคิดว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะถดถอยจริงหรือ ?
โกลด์แมน แซกส์ (Goldman Sachs) เป็นสถาบันการเงินที่มองว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย “มีจำกัด” แม้ว่าโกลด์แมนได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมว่า มีความเป็นไปได้ 25% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในปีหน้า จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 15% แต่ก็ยังเป็นระดับความเป็นไปได้ที่ไม่สูง
“เศรษฐกิจโดยรวมยังคงดูดี ไม่มีภาวะไม่สมดุลที่สำคัญในระบบการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐยังมีที่ว่างอีกมากสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และสามารถทำได้อย่างรวดเร็วหากจำเป็น”
นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมนยังบอกด้วยว่า พวกเขาไม่เชื่อว่าตลาดแรงงานมีความเสี่ยงที่จะแย่ลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตำแหน่งงานว่างบ่งชี้ว่า ความต้องการแรงงานยังคงแข็งแกร่ง และไม่มีปัจจัยกระตุ้นที่เห็นได้ชัดเจนว่าจะกระตุ้นให้เกิดภาวะตลาดแรงงานตกต่ำ
ขณะที่ เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค. (JPMorgan Chase & Co.) มองความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าที่โกลด์แมน แซกส์ มอง
เจพีได้ปรับคาดการณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่มน้ำหนักว่ามีความเป็นไปได้ 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยภายในสิ้นปีนี้ จากคาดการณ์เมื่อเดือนกกฎาคมให้น้ำหนัก 25% และเจพีมองความเป็นไปได้ 45% ที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดในครึ่งหลังของปี 2025
ฝั่งที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่น่าจะถดถอยนั้นมีตัวเลขหลายตัวมาสนับสนุนคาดการณ์ ที่สำคัญคือการเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 2 ตามประมาณการของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอยู่ที่ 2.8% ซึ่งยังเป็นอัตราที่ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสแรกที่โต 1.3% อีกทั้งเป็นอัตราที่เท่ากับค่าเฉลี่ยของ 6 ไตรมาสล่าสุด และเท่ากับอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีก่อนเกิดโควิด-19 ด้วย
ขณะที่กิจกรรมภาคบริการซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐก็ยังดูดี ตามตัวเลขที่สำรวจโดย เอสแอนด์พี โกลบอลมาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) ที่พบว่า ตัวเลขของเดือนกรกฎาคมอยู่ในระดับเกือบสูงสุดในรอบ 2 ปีกว่า และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นไตรมาส 3 ในอัตราที่เทียบได้กับอัตราการเติบโตของจีดีพีที่เพิ่มขึ้น 2.2% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ฝั่งที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจถดถอยก็มีตัวเลขสนับสนุนหลายตัวเช่นกัน
ส่วนมุมมองกลาง ๆ ในตอนนี้ก็สรุปออกมาว่า เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะไม่ “ถดถอย” แต่จะ “ชะลอ” เท่านั้น
อ้างอิง :