อิสราเอลโดน “ฟิทช์” ลดอันดับความน่าเชื่อถือ ใช้เงินทำสงครามกระทบฐานะการคลัง  

รถหุ้มเกราะของกองทัพอิสราเอลที่ใช้ทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา
รถหุ้มเกราะของกองทัพอิสราเอลที่ใช้ทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา (ภาพโดย AHMAD GHARABLI / AFP)

อิสราเอลโดน “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจาก A+ เป็น A และคงแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “ลบ” มีความเป็นไปได้ที่จะโดนปรับลดอันดับเครดิตลงอีก เหตุใช้จ่ายเงินทำสงครามมาก คาดปี 2024 ขาดดุลงบประมาณ 7.8% ของจีดีพี 

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2024 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของอิสราเอลลงจาก A+ เป็น A และคงแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook) ไว้เป็น “เชิงลบ” (Negative) ซึ่งหมายถึงมีความเป็นไปได้ที่จะโดนปรับลดอันดับเครดิตลงอีก 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ อธิบายถึงปัจจัยที่พิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลลงว่า สงครามในฉนวนกาซาที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และปฏิบัติการทางทหารในหลายแนวรบ ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของรัฐอิสราเอล

ฟิทช์คาดว่าอิสราเอลจะขาดดุลงบประมาณ 7.8% ของจีดีพีในปี 2024 นี้ และหนี้สาธารณะจะยังคงสูงกว่า 70% ของจีดีพีต่อไปในระยะกลาง นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลของอิสราเอลที่จัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) มีแนวโน้มที่จะลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอิสราเอล

ฟิทช์บอกอีกว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นนั้นหนุนแนวโน้มอันดับเครดิตเชิงลบ โดยฟิทช์มองว่าความขัดแย้งในฉนวนกาซาอาจดำเนินต่อไปจนถึงปี 2025 และมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะขยายไปสู่แนวรบอื่น ๆ ซึ่งนอกจากทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตแล้ว ยังอาจส่งผลให้มีการใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก โครงสร้างพื้นฐานจะถูกทำลาย และสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจัยชี้วัดเครดิตของอิสราเอลแย่ลงไปอีก 

ฟิทช์ประเมินว่า สงครามในฉนวนกาซาน่าจะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี 2024 และมีความเสี่ยงที่ปฏิบัติการอย่างเข้มข้นจะดำเนินต่อไป ซึ่งจะทำให้อิสราเอลมีค่าใช้จ่ายสูงอย่างต่อเนื่อง 

Advertisment

การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางอิสราเอลในปี 2024 คาดว่าจะสูง 7.8% ของจีดีพี หลังจากที่ขาดดุลงบประมาณ 4.1% ของจีดีพีในปี 2023 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีรายจ่ายจำนวนมากเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหาร การบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นฐานของผู้คน 

ส่วนปี 2025 ฟิทช์คาดว่าอิสราเอลจะขาดดุลงบประมาณ 4.6% ของจีดีพี และอาจจะมากกว่านี้ หากสงครามยังคงดำเนินต่อไปในปี 2025 นอกจากนั้น ฟิทช์คาดว่ารัฐบาลอิสราเอลจะเพิ่มงบประมาณด้านการทหารอย่างถาวรอีกเกือบ 1.5% ของจีดีพี  

Advertisment

ด้านหนี้สาธารณะ ฟิทช์คาดว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของอิสราเอลจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในปี 2024 และ 72% ในปี 2025 ซึ่งสูงกว่าระดับสูงสุดในช่วงโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 71% ของจีดีพี ในปี 2020 ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะของอิสราเอลสูงกว่าค่ากลาง (Median) ของกลุ่มประเทศที่มีอันดับเครดิต “A” ซึ่งคาดการณ์สำหรับปี 2025 อยู่ที่ 55% ของจีดีพี 

นอกจากนั้น ฟิทช์ระบุว่า ในกรณีที่มีการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารอย่างถาวร และแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่แน่นอน หนี้สาธารณะของอิสราเอลจะยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นต่อไปหลังปี 2025