ญี่ปุ่นจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2024 ดีเกินคาด โต 3.1% จากปีก่อนหน้า และโต 0.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ได้แรงหนุนหลักจากการซื้อรถยนต์และสินค้าคงทน นักเศรษฐศาสตร์-นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเชื่อ ญี่ปุ่นพ้น “เงินฝืด” แล้ว คาด BOJ ขึ้นดอกเบี้ยอีกปลายปีนี้
วันที่ 15 สิงหาคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปี 2024 (เป็นไตรมาส 1 ในปีงบฯ 2024 ของญี่ปุ่น) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และขยายตัว 0.8% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคยานยนต์และสินค้าคงทนอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นจากการหดตัวในไตรมาสก่อนหน้า
ตัวเลขอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ออกมานี้สูงกว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่โพลของควิก (QUICK) ที่คาดการณ์ไว้โดยเฉลี่ยว่าจีดีพีจะหดตัว 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
การบริโภคภาคเอกชนรวมถึงการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนประกอบที่ใหญ่ที่สุดของจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยเพิ่มขึ้น 1.0% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ส่วนยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภค หรือยอดขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าคงทนอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 8.1% (QOQ)
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ประกาศนี้ยังเป็นข้อมูลเบื้องต้นและอาจมีการแก้ไขในภายหลัง
ทั้งนี้ การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.0%-0.1% สู่ 0.25% พร้อมประกาศแผนการลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงรุกที่ส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และต่อชัยชนะของการต่อสู้ที่ยาวนานเพื่อเอาชนะภาวะเงินฝืด รวมถึงเน้นย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินเยน ในการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของวงจรอันดีงามของการขึ้นค่าจ้างและภาวะเงินเฟ้อ
การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นตามมาด้วยข้อมูลตลาดแรงงานเดือนมิถุนายน ซึ่ง “ค่าจ้างที่แท้จริง” (รวมถึงโบนัส) เพิ่มขึ้น 1.1% จากปีก่อนหน้า (YOY) เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบปีกว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ขณะที่ค่าจ้างทั่วไปลดลง 1%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนยังคงสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.6%
มาร์เซล ธีเลียนธ์ (Marcel Thieliant) หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของบริษัทวิจัย แคปิตัล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) แสดงความเห็นหลังทราบตัวเลขจีดีพีญี่ปุ่นว่า การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของจีดีพีในไตรมาสล่าสุด (เมษายน-มิถุนายน) เกิดจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี และน่าจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะให้มุมมองเชิงบวกในไตรมาสดังกล่าวนี้ยังมีข้อควรระวังบางอย่าง นั่นคือ ตัวเลขการบริโภคในเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้น อาจสะท้อนถึงผลกระทบจากการลดหย่อนภาษีครั้งเดียว 40,000 เยน (ประมาณ 9,500 บาท) ต่อคน ซึ่งเริ่มในเดือนมิถุนายนและจะมีผลบังคับใช้เพียงช่วงเวลาจำกัด ซึ่งหมายถึงเป็นปัจจัยบวกที่ไม่ยั่งยืน
ทาโร ไซโตะ (Taro Saito) นักวิจัยของบริษัทวิจัยเอ็นแอลไอ รีเสิร์ช อินสทิทิวท์ส (NLI Research Institute) คาดว่า การบริโภคจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 3% ในไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายน เนื่องจากครัวเรือนมีเงินจากการหักลดหย่อนภาษีที่เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน
“ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจของเราพ้นจากภาวะเงินฝืดแล้ว” ไซโตะกล่าว
นอกจากนั้น ไซโตะกล่าวอีกว่า ค่าจ้างที่แท้จริงในเดือนมิถุนายนที่เป็นบวกครั้งแรกในรอบเวลานานหลายเดือนนั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวที่เป็นผลจากการจ่ายโบนัสที่มากขึ้น แต่มันจะลดลงอีกในเดือนถัด ๆ ไป และน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างเสถียรตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป
ในอีกด้านหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า สัญญาณบวกนี้ยังไม่ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าญี่ปุ่นเอาชนะภาวะเงินฝืดได้จริงหรือยัง