สัมพันธ์จีน-ปากีฯ สู่โหมดชะงักงัน โยงสหรัฐแซงก์ชั่นซัพพลายเออร์มิสไซล์

หวัง อี้ รมว.การต่างประเทศจีนหารือกับนายราฮีน ชารีฟ ผู้บัญชาการทหาร กองทัพปากีสถาน เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 (เอเอฟพี)

ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างจีนและปากีสถานกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ผลจากการที่สหรัฐลงโทษทางเศรษฐกิจ หรือแซงก์ชั่นซัพพลายเออร์ขีปนาวุธของจีนล่าสุด อ้างทำตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานตามเวลาท้องถิ่นญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2024 ว่า ผลจากการที่สหรัฐลงโทษทางเศรษฐกิจ หรือแซงก์ชั่นซัพพลายเออร์ขีปนาวุธของจีนครั้งใหม่ กำลังทำให้ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างจีนและปากีสถานมุ่งสู่ภาวะชะงักงัน และลากปากีสถานไปเกี่ยวข้องกับการแข่งขันที่รุนแรงของสองมหาอำนาจ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแซงก์ชั่นบริษัทวิจัยด้านระบบอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร และเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ หรือ Beijing Research Institute of Automation for Machine Building Industry โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวหลายอย่างของบริษัทในการจัดหาอุปกรณ์เพื่อการทดสอบเครื่องยนต์จรวดปากีสถาน นอกจากนี้ มาตรการแซงก์ชั่นยังครอบคลุมถึงบริษัทจีนอีก 3 แห่ง เนื่องจากถ่ายโอนเทคโนโลยีที่ถูกควบคุมภายใต้ข้อห้ามของเทคโนโลยีมิสไซล์ ตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ Nuclear Non-Proliferation Treaty (NPT)

ฝ่ายสหรัฐระบุว่าซัพพลายเออร์จีนจัดหาอุปกรณ์สำหรับขีปนาวุธชาฮีน 3 และอบาบีลของปากีสถาน โดยชาฮีน 3 เป็นขีปนาวุธพิสัยกลางยิงจากภาคพื้น ด้วยระยะ 2,750 กิโลเมตรที่สามารถยิงได้ไกลถึงอินเดียคู่แข่งปากีสถาน และลึกเข้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย ส่วนอบาบีลเป็นขีปนาวุธทิ้งตัวทางยุทธวิธี ระยะยิงตามปกติที่ 1,800 กิโลเมตร

นายไซยิด มูฮัมเหม็ด อาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในกรุงอิสลามาบัด กล่าวว่า มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การใช้กำลังบังคับทางเศรษฐกิจที่ขยายใหญ่ขึ้นของสหรัฐ มุ่งที่การสกัดกั้นหรือปิดล้อมการทะยานขึ้นของจีนมากกว่าพุ่งเป้าไปที่ปากีสถาน และว่ามีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่แสดงว่าจีนกำลังเข้าร่วมในโครงการขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์

ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างจีนและปากีสถานเกี่ยวข้องกับอาวุธแบบดั้งเดิม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการจาก 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพอากาศ กองทัพบก และกองทัพเรือ และเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้อิงอยู่บนขีปนาวุธ ซึ่งปากีสถานผลิตได้เอง

ADVERTISMENT

ด้านรัฐบาลปากีสถานปฏิเสธการแซงก์ชั่นทันที โดยบอกว่าเกิดจากอคติและมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยด้านสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม ระบุว่าจีนเป็นแหล่งอาวุธต่างชาติใหญ่ที่สุดของปากีสถาน ในระหว่างปี 2000-2003 ปากีสถานได้รับอาวุธจากจีนสัดส่วน 44% ของการส่งออกอาวุธขนาดใหญ่ทั้งหมดจากจีน

นายไมเคิล คูเกลแมน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้ จากศูนย์วิลสัน เซ็นเตอร์ สถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตันระบุว่า ขณะที่การแซงก์ชั่นใหม่ล่าสุดนี้อาจไม่กระทบโครงการขีปนาวุธปากีสถานในระยะสั้น แต่อาจทำให้ปากีสถานเหลือทางเลือกไม่มาก เพราะปากีสถานมีความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่พิเศษกับจีน และไม่มีหุ้นส่วนอื่นใดที่ปากีสถานจะหันหน้าไปพึ่งพาในการพัฒนาขีปนาวุธได้อีก หากจีนยังคงเป็นเป้าหมายลงโทษของสหรัฐต่อไป

ADVERTISMENT

อำนาจครอบงำของสกุลเงินดอลลาร์ในตลาดโลกจะบีบให้บริษัทจีนต้องทำตามมาตรการของสหรัฐในที่สุด และทำให้บริษัทจีนต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เมื่อต้องทำข้อตกลงกับฝ่ายปากีสถานในอนาคต และในระยะยาว ความสัมพันธ์ปากีสถานและจีนอาจเจอความท้าทายด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติอย่างมาก หากการแซงก์ชั่นอุตสาหกรรมมิสไซล์จีนจากสหรัฐอย่างไม่หยุดหย่อนนี้ ทำให้จีนประสบความยากลำบากที่จะจัดหาอาวุธที่รัฐบาลปากีสถานพึ่งพามาอย่างยาวนาน