“America Forward” แผนเศรษฐกิจแฮร์ริส ทุ่ม 100,000 ล้านเหรียญ หนุนการลงทุน

คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีและผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวปราศรัยหาเสียง เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมา (ภาพ รอยเตอร์)

เหลือเวลาเพียง 1 เดือนจะถึงวันเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนอ่านแผนเศรษฐกิจของ คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐและตัวแทนพรรคเดโมแครต ที่รอยเตอร์ (Reuters) และ ซีเอ็นบีซี (CNBC) รวบรวมจากการประกาศข้อเสนอทางเศรษฐกิจต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันพุธที่ 25 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐสมรภูมิแข่งดุอย่างเพนซิลเวเนีย 

แผนเศรษฐกิจของแฮร์ริสมุ่งลดค่าครองชีพชาวอเมริกันชนชั้นกลางและล่าง ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม โดยการใช้สิ่งจูงใจทางภาษีและการผลักภาระภาษี หรือก็คือเธอมองตัวเองเป็นผู้สมัครของชนชั้นกลาง ในขณะที่วาดภาพทรัมป์ในฐานะแคนดิเดตแห่งชนชั้นมหาเศรษฐี

บางแนวคิดของแฮร์ริส เกิดจากวาระงานทางเศรษฐกิจที่ยังทำไม่เสร็จของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Bide) แต่เธอนำมาขยายในแง่ขอบเขตและขนาด 

ใช้เงิน 100,000 ล้านเหรียญหนุนการลงทุน

แฮร์ริสให้คำมั่นว่าจะบริหารในฐานะนักปฏิบัตินิยมที่จะไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ เธอเสนอวาระ “America Forward” หรือ “อเมริกาก้าวไปข้างหน้า” ที่เรียกร้องให้มีเครดิตภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนและสร้างงานทางอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการลงทุนในด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) วิทยาศาสตร์ และการพัฒนาพลังงาน ตลอดจนการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในสหรัฐ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในรัฐสมรภูมินี้ 

เอกสารหาเสียงของแฮร์ริสระบุว่า แผนนี้จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งเงินที่ใช้จ่ายส่วนหนึ่งจะมาจากรายได้จากการปฏิรูปภาษีสากล (International Tax Reform) ซึ่งเป็นการปฏิรูปเพื่อพยายามจะป้องกันไม่ให้ทั่วโลกเกิด “การแข่งขันกันไปสู่จุดต่ำสุด” (Race to the Bottom) และเพื่อป้องกันการลดค่าใช้จ่ายทางภาษี การเอาต์ซอร์ซ หรือกลยุทธ์ทางภาษีระหว่างประเทศของบริษัทต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายส่วนแบ่งที่ยุติธรรมให้สหรัฐ

เก็บภาษีคนรวย

แฮร์ริสทำตามคำมั่นสัญญาของไบเดนที่ไม่ขึ้นภาษีครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13 ล้านบาท) แฮร์ริสให้การสนับสนุนอย่างเงียบ ๆ กับข้อเสนอการขึ้นภาษีของไบเดนซึ่งมีมูลค่าเกือบ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 163 ล้านล้านบาท ตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า ในแผนงบประมาณปีงบประมาณ 2025 ซึ่งจะเพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดจาก 37% เป็น 39.6% 

ADVERTISMENT

รวมถึงกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นต่ำใหม่เป็นอัตรา 25% สำหรับผู้ที่มีเงินได้เกิน 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,200 ล้านบาท) รวมถึงกำไรของพอร์ตการลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง

สำหรับผู้ที่มีเงินได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 32 ล้านบาท) แฮร์ริสได้เสนอให้เพิ่มอัตราภาษีกำไรจากการขายหุ้นระยะยาวที่จ่ายหลังการขายสินทรัพย์ อย่างเช่น หุ้น จาก 20% เป็น 28% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอัตราภาษีเงินได้สูงสุดที่ไบเดนเสนอให้เพิ่มขึ้นอัตรา 39.6%

ADVERTISMENT

ภาษีธุรกิจ

แฮร์ริสเสนอให้เพิ่มอัตราภาษีนิติบุคคลเป็น 28% ซึ่งบางส่วนเป็นการพลิกกลับกฎหมายภาษีปี 2017 ในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งในปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 21% จาก 35% 

ผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณประมาณการว่าแผนการเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของแฮร์ริสจะเพิ่มรายได้ของรัฐบาลกลาง 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 32 ล้านล้านบาท) ในระยะเวลา 10 ปี แต่วอลล์สตรีตกล่าวว่าภาษีจะตัดทอนผลกำไรบริษัทออกไป

จากการวิเคราะห์ของรอยเตอร์แสดงให้เห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่ ๆ ในสหรัฐจ่ายอัตราภาษีที่แท้จริงที่ต่ำกว่าคู่แข่งในต่างประเทศมาก โดยจ่ายเฉลี่ยที่อัตรา 16% 

อย่างไรก็ตาม การจะเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนิติบุคคลในวงกว้างใด ๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อน

เครดิตภาษีธุรกิจขนาดเล็ก

แฮร์ริสได้เสนอแผนที่เปลี่ยนไปจากแผนเศรษฐกิจของไบเดน ด้วยการเสนอให้เพิ่มการลดหย่อนภาษีสูงสุดเป็น 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านบาท) สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กแห่งใหม่ จากปัจจุบันให้ลดหย่อน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (160,000 ล้านบาท) เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลขององค์กรการบริหารธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐ (U.S. Small Business Administration) ธุรกิจขนาดเล็ก 33 ล้านบริษัทในสหรัฐ มีส่วนในการสร้างงานใหม่คิดเป็น 70% ของงานใหม่ที่สร้างขึ้นทั้งหมดนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา 

จัดการการโก่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์

แฮร์ริสให้คำมั่นจะออกกฎหมายรัฐบาลกลางว่าด้วยการโก่งราคาอาหารและของชำเป็นครั้งแรก ซึ่งมุ่งที่จะหยุดยั้งบริษัทรายใหญ่ที่ทำกำไรเกินควรจากการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ การนิยาม “การตั้งราคาสินค้าที่สูงเกินไป” ยังไม่ชัดเจน แต่ข้อเสนอบางประการที่อยู่ในชั้นวุฒิสภาแสดงให้เห็นแนวทางที่เป็นไปได้ในการตราขึ้นเป็นกฎหมาย

 

คำกล่าวปราศรัยนี้เป็นความพยายามของแฮร์ริสที่จะลดความได้เปรียบของทรัมป์ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและจัดการประเด็นค่าครองชีพ ซึ่งถือเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญมาโดยตลอด 

ในการสำรวจความคิดเห็นของเอ็นบีซีนิวส์ (NBC News) พบว่า การรณรงค์หาเสียงของแฮร์ริสในด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เข้าถึงและโน้มน้าวใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ส่วนหนึ่งแล้ว โดยเฉือนคะแนนนำของทรัมป์ที่มีเหนือ โจ ไบเดน 22 แต้มในเดือนมกราคม 2024 ให้เหลือนำแฮร์ริสอยู่เพียง 9 แต้ม ซึ่งสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจในรัฐสมรภูมิอย่างเพนซิลเวเนียแล้ว อาจถือเป็นเรื่องสำคัญมากเลยทีเดียว