ไบเดน หาทางยับยั้งอิสราเอล ไม่ให้โจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน

ผู้คนมองดูซากขีปนาวุธในทะเลทราย หลังจากอิหร่านโจมตีอิสราเอล ใกล้เมืองอารัด ทางตอนใต้ของอิสราเอล เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2024 (รอยเตอร์)

โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐหาทางขัดขวางไม่ให้อิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยจะหารือกับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และชี้ว่าอิสราเอลมีสิทธิตอบโต้ แต่ต้องทำในระดับที่เหมาะสม ตามแนวทางที่กลุ่มชาติร่ำรวยจี 7 พยายามลดอุณหภูมิความขัดแย้ง

วันที่ 3 ตุลาคม 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหาหนทางที่จะยับยั้งอิสราเอลไม่ให้โจมตีพื้นที่ทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน เมื่อเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯอิสราเอลประกาศกร้าวอิหร่านต้องชดใช้ หลังจากอิหร่านระดมยิงจรวดราว 200 ลูกใส่สถานที่และทรัพยากรทางทหารของประเทศ ขณะที่กลุ่มประเทศร่ำรวย จี 7 พยายามที่จะระงับความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรง ซึ่งเสี่ยงจะดึงให้สหรัฐเข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้น

เมื่อถูกถามว่าเขาจะสนับสนุนการโจมตีพื้นที่ทางนิวเคลียร์ ตามที่นักการเมืองอิสราเอลจำนวนหนึ่งเรียกร้องหรือไม่ ไบเดนกล่าวตอบว่า “คำตอบคือ ไม่”  และระบุว่าตนเองกำลังจะหารือกับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู และกลุ่มชาติร่ำรวย จี 7 (G7) วางแผนที่จะออกแถลงการณ์ในความพยายามที่จะลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลง ขณะเดียวกัน มาตรการแซงก์ชั่น หรือการลงโทษทางเศรษฐกิจอาจจะนำมาบังคับใช้กับอิหร่าน

“พวกเราทั้ง 7 ชาติเห็นพ้องว่า พวกเขามีสิทธิที่จะตอบโต้ แต่พวกเขาต้องตอบโต้ตามสัดส่วน” ไบเดนกล่าว

ความเห็นดังกล่าวของไบเดนถือเป็นความพยายามครั้งใหม่ของสหรัฐที่จะควบคุมอิสราเอล ซึ่งหลายครั้งล้มเหลว โดยจะเห็นได้จากในช่วงเกือบหนึ่งปีของความขัดแย้งทางการทหาร อิสราเอลไม่ฟังคำเรียกร้องของรัฐบาลสหรัฐที่จะให้หยุดยิงในฉนวนกาซา และเมื่อวาน (2 ตุลาคม) อิสราเอลยังคงเดินหน้าโจมตีภาคพื้นดินต่อกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ทางใต้ของเลบานอน แม้สหรัฐจะกดดันให้ลดระดับความรุนแรงก็ตาม

ความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งจะคลี่คลายลงนั้นดูจะยิ่งเกินเอื้อม เมื่อการประเมินผลเบื้องต้นหลังจากที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลเมื่อคืนของวันที่ 1 ตุลาคม โดยยิงขีปนาวุธประมาณ 200 ลูก บางลูกทะลุผ่านระบบป้องกันทางอากาศมาได้และสร้างความเสียหายให้กับฐานทัพอิสราเอล มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย และในเลบานอน ทหารอิสราเอลเสียชีวิต 8 นายจากการปะทะกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งนับเป็นการรายงานความสูญเสียครั้งแรก ในการโจมตีภาคพื้นดินที่ขยายวงกว้างขึ้นของอิสราเอล

Advertisment

เสียงเรียกร้องดังกล่าวเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในครั้งนั้นอิสราเอลตอบโต้อิหร่านที่โจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธที่มีจำนวนน้อยกว่า อิสราเอลจึงโจมตีแบบจำกัดต่อฐานทัพอากาศอิหร่าน ซึ่งสร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อย

ตัวเลือกอื่น ๆ ในการโจมตีเอาคืนในครั้งนี้ของอิสราเอล ได้แก่ การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน หรือฐานทัพทหารของอิหร่าน ซึ่งเป็นสมาชิกโอเปก (OPEC) ด้วย โดยสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้คือการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์

Advertisment

ด้านเวนดี้ เชอร์แมน (Wendy Sherman) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ หรือนักการทูตเบอร์ 2 ของกระทรวงตั้งแต่ปี 2021 ถึง 2023 อีกทั้งเป็นผู้มีบทบาทนำในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ซึ่งบรรลุผลในปี 2015 มองว่าประเด็นต่อไปคืออิสราเอลจะตอบสนองอย่างไร “หากคุณตอบสนองอย่างแม่นยำ คุณก็สามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้เท่านั้น และจะไม่ทำมากกว่านั้น แต่หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น คุณก็อาจยกระดับความรุนแรงเกินจุดที่คุณต้องการได้” เชอร์แมนกล่าว

ฝ่ายอิหร่านเตือนว่าหากอิสราเอลโจมตี อาจเจอกับผลกระทบที่ร้ายแรงยิ่งกว่า ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า อิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์อาจโจมตีสถานทูตอิสราเอลหรือเป้าหมายอื่น ๆ ในต่างประเทศอีกครั้ง

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์เพิ่มขึ้นเป็นวันที่สองในวันพุธที่ 2 ตุลาคม จากปัจจัยความเสี่ยงในภูมิภาคตะวันออกกลาง แม้ว่าราคาจะยังคงลดลงในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนผู้ค้าไม่เชื่อว่าจะมีการหยุดชะงักของซัพพลายครั้งใหญ่ในอิหร่าน หรือส่วนอื่น ๆ ของอ่าวเปอร์เซียที่อุดมด้วยทรัพยากรน้ำมัน