คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
ภายหลังจากได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำตามสัญญานั่นคือจะให้ “อีลอน มัสก์” เจ้าพ่อเทสลา เข้ามามีส่วนร่วมในรัฐบาล
โดยทรัมป์ระบุว่า อีลอน มัสก์ จะได้เป็นผู้นำ “กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล” ที่จะตั้งขึ้นใหม่ร่วมกับ วิเวก รามาสวามี นักธุรกิจยาและอดีตผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน โดยสองคนนี้จะมารื้อระบบราชการ ตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดกฎระเบียบที่มากเกินไป ตลอดจนปฏิรูปหน่วยงานรัฐบาลกลางทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ชื่อของอีลอน มัสก์ โดดเด่นที่สุด เนื่องจากเขาคือผู้สนับสนุนรายใหญ่ของทรัมป์ และทำเรื่องไต่เส้นกฎหมาย อย่างการแจกเงินวันละ 1 ล้านดอลลาร์แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคนใดก็ตามที่ลงนามเรียกร้องเสรีภาพในการพูดและการใช้อาวุธปืน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการซื้อเสียงทางอ้อม
ซีเอ็นเอ็นระบุว่า การประกาศของทรัมป์ในการเตรียมแต่งตั้งสองคนนี้ โดยเฉพาะ “อีลอน มัสก์” ก่อให้เกิดคำถามเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ขึ้นมาทันที เพราะมัสก์มีสัญญางานกับรัฐบาลอยู่แล้วมากมายในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่ากระทรวงใหม่นี้จะดำเนินการอย่างไร อีกทั้งสภาคองเกรสที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากจะเห็นชอบให้มีการยกเครื่องการใช้จ่ายของรัฐบาล ตลอดจนปฏิรูปหน่วยงานรัฐบาลครั้งใหญ่หรือไม่
หลังจากทรัมป์ประกาศจะแต่งตั้งเขา ทางมัสก์ได้โพสต์ผ่าน X ด้วยข้อความ “มันจะส่งคลื่นความช็อกไปทั่วระบบ รวมทั้งใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการทำให้รัฐบาลสิ้นเปลือง ซึ่งมีหลายคนเสียด้วย” ส่วน รามาสวามี ก็ตอบรับด้วยสโลแกน “ปิดมันให้หมด” หรือ Shut it Down ซึ่งเป็นคำที่เขาชอบใช้ตลอดการหาเสียงช่วยทรัมป์ เพื่อเรียกร้องให้มีการ “ยุบทิ้ง” หน่วยงานรัฐบาลกลางหลายแห่ง ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างหลายพันคนตกงาน
มัสก์ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องลดค่าใช้จ่ายด้วยการลอยแพพนักงาน โดยเฉพาะตอนที่เข้าซื้อ “ทวิตเตอร์” และเปลี่ยนมาเป็น X ในปัจจุบัน อ้างว่ากระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลลงอย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่เชื่อว่ามัสก์จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากขนาดนั้น
“ลาร์รี ซัมเมอร์” อดีตรัฐมนตรีคลัง บอกว่า ถ้ามัสก์สามารถตัดลดได้ 2 แสนล้านดอลลาร์ก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว เพราะกรอบการตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นค่อนข้างจำกัด เช่นเดียวกับ เกลนน์ ฮับบาร์ด นักเศรษฐศาสตร์ที่ชี้ว่า ในทางคณิตศาสตร์ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะลดค่าใช้จ่ายลงมากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์
สื่ออเมริกันบางสำนักมองว่า ความกระหายของอีลอน มัสก์ ที่อยากแทรกแซงและควบคุมบทบาทของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเป็นท่วงทำนองที่สอดคล้องกับทรัมป์ สะท้อนให้เห็นว่ามัสก์ต้องการเปลี่ยนอำนาจการควบคุม “ปริมาณเงิน” ในระบบไปจากเฟด เห็นได้จากการที่เขาแชร์โพสต์ของ ไมก์ ลี สมาชิกวุฒิสภารัฐยูทาห์ พรรครีพับลิกัน ซึ่งเรียกร้องให้ “กำจัด-ยุบทิ้ง” เฟดมาอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อความของ สว.รายนี้ระบุว่า “ฝ่ายบริหารควรอยู่ภายใต้การกำกับของประธานาธิบดี” หลังจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ตอบคำถามนักข่าวว่าจะลาออกหรือไม่หากทรัมป์ขอให้ลาออก ซึ่งประธานเฟดตอบอย่างรวดเร็วว่า “ไม่ลาออก”
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทรัมป์ยังไม่ได้มีการแสดงออกอย่างเปิดเผยหรือเป็นทางการเกี่ยวกับการยุบทิ้งเฟด แต่การขู่จะยุบทิ้งเฟดไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีคนจากรีพับลิกันที่เคยลงชิงประธานาธิบดี เคยใช้การขู่แบบนี้มาแล้ว เช่น รอน พอล และโทมัส แมสซี ส่วนทรัมป์เองก็เคยขู่ว่าจะปลดประธานเฟดตอนที่เขาเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เพราะไม่พอใจที่ดอกเบี้ยสูงเกินไป
เพราะส่อแววจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในรัฐบาลทรัมป์สมัยสอง ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นอย่างกว้างขวางในประเทศจีนว่า มัสก์จะสามารถเป็น “คิสซิงเจอร์” คนใหม่ ที่จะเป็นตัวกลางช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐลดความตึงเครียดลงได้หรือไม่ เพราะมัสก์มีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของจีน เพราะมีโรงงานผลิตรถยนต์เทสลาอยู่ที่นั่น บางคนก็ถึงกับหวังว่ามัสก์จะช่วยผลักดันให้ทรัมป์มีความยืดหยุ่น หรือยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าจีนในอัตราสูง หรือแม้กระทั่งจะช่วยเจรจากับทรัมป์เพื่อให้บริษัทจีนสามารถตั้งโรงงานในสหรัฐได้
สำหรับ เฮนรี คิสซิงเจอร์ เป็นอดีตนักการทูตสหรัฐ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทำให้ความสัมพันธ์จีนและสหรัฐกลับมาเป็นปกติในปี 1971