คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
หลังจากชนะเลือกตั้งก็แทบไม่เคยหยุดพักเรื่องการ “ขู่” เลย สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ล่าสุดนี้ได้ขู่กลุ่ม BRICS หรือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีสมาชิกดั้งเดิม 5 ชาติ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ต่อมาปี 2024 ได้รับสมาชิกเพิ่มอีก 4 ชาติ คือ อียิปต์ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเอธิโอเปีย คำขู่นั้นก็คือ จะเก็บภาษีจากประเทศเหล่านี้ 100% ถ้าพยายามจะแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐด้วยสกุลเงินอื่น
ทรัมป์ประกาศทางโซเชียลมีเดียว่า “เราต้องการคำมั่นสัญญาจากประเทศเหล่านี้ว่า จะไม่สร้างเงินสกุลใหม่ขึ้นมา หรือสนับสนุนให้ใช้เงินสกุลอื่นแทนดอลลาร์สหรัฐที่ทรงพลัง ไม่เช่นนั้นพวกคุณก็บอกลาการขายสินค้าให้กับสหรัฐที่มีเศรษฐกิจแสนวิเศษได้เลย”
คำขู่นี้เกิดขึ้นไม่นาน หลังจากเขาขู่ว่าจะเก็บภาษี 25% จากเพื่อนบ้านใกล้ ๆ อย่าง เม็กซิโกและแคนาดา พร้อมกับจะเก็บภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10%
ที่มาที่ไปของการขู่ ก็สืบเนื่องมาจากในระยะหลังนี้ กลุ่ม BRICS โดยเฉพาะรัสเซียได้ออกมาเรียกร้องให้มีการสร้างระบบการชำระเงินระหว่างประเทศใหม่ โดยระบุว่า ดอลลาร์สหรัฐถูกใช้เป็น “อาวุธ” เล่นงานประเทศอื่น หลังจากรัสเซียถูกชาติตะวันตกแซงก์ชั่นไม่ให้ทำธุรกรรมด้วยดอลลาร์สหรัฐ และถูกอายัดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อลงโทษฐานรุกรานยูเครน
ท่าทีของรัสเซียได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีบราซิล ที่เสนอให้มีการสร้างเงินสกุลใหม่ เพื่อใช้ร่วมกัน เพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐในการค้าขายระหว่างประเทศ
ในความเป็นจริงเงินสกุลใหม่ของ BRICS สามารถเป็นภัยคุกคามต่อดอลลาร์สหรัฐได้หรือไม่ ในสายตาผู้เชี่ยวชาญก็คือ “เป็นไปได้ยาก” อย่างเช่น ในความเห็นของมาร์ก เวนสต็อก ผู้เชี่ยวชาญการค้าโลก ระบุว่า ในแง่เศรษฐกิจ เงินสกุลใหม่ดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับดอลลาร์ เพราะว่าแค่แนวคิดก็เป็นไปไม่ได้แล้ว
ทั้งในระยะสั้นและกลาง กล่าวอีกอย่างก็คือ กลุ่มประเทศ BRICS จะประสบปัญหามากที่จะทำให้สกุลเงินใหม่นี้อยู่รอด เมื่อเทียบกับความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพของดอลลาร์สหรัฐที่นักลงทุนให้ความไว้วางใจ
นอกจากนี้ การสร้างเอกภาพให้กับสกุลเงินก็จะทำได้ยากจากปัญหาด้านการเมืองและความซับซ้อนทางเทคนิคภายในกลุ่ม
ความเป็นหนึ่งเดียวของสมาชิก BRICS เป็นสิ่งสำคัญหากต้องการสร้างเงินสกุลใหม่ เพราะหลังจากทรัมป์ออกมาขู่ สมาชิกบางประเทศก็แสดงออกถึงการ “ผ่อนคันเร่ง” แล้ว อย่างเช่น รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ออกแถลงการณ์ว่า “ไม่มีแผน” ที่จะสร้างสกุลเงิน BRICS
“รายงานข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ นำไปสู่การเข้าใจผิดว่า BRICS กำลังวางแผนจะสร้างสกุลเงินใหม่ ความจริงไม่ใช่เลย สิ่งที่พูดคุยกันในกลุ่มสมาชิกก็คือ มุ่งไปที่การค้าขายภายในกลุ่ม โดยที่แต่ละประเทศใช้สกุลเงินของตัวเอง”
ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นสกุลเงินหลักที่ธนาคารกลางทั่วโลกเก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 58% ในขณะที่การค้าขายสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างเช่น น้ำมันและทอง ส่วนใหญ่ยังค้าขายกันด้วยเงินดอลลาร์
ทางด้านนายดุฟวูริ ซับบาเรา อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย ให้ความเห็นว่า ความแตกต่างภายในกลุ่มทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ จะทำให้ BRICS ยากที่จะสร้างสกุลเงินทางเลือก แม้บางประเทศ โดยเฉพาะจีนและรัสเซียเรียกร้องบ่อย ๆ ให้มองหาทางเลือกอื่นแทนที่ดอลลาร์ หรือสร้างสกุลเงินตัวเองขึ้นมาใหม่ แต่บางประเทศ อย่างเช่น อินเดียไม่ได้เข้าร่วมในความเคลื่อนไหวนี้
ซับบาเราย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่สมาชิก โดยเฉพาะอินเดียจะเต็มใจยก “อธิปไตย” ด้านนโยบายการเงินให้กับใครและยอมเป็นตัวประกันให้กับเงินสกุลใหม่ที่มีความเปราะบางต่อภาวะไร้เสถียรภาพ ที่อาจเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ภายในประเทศสมาชิก
อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียระบุว่า ต้นทุนในการเลิกใช้ดอลลาร์สำหรับจีนและอินเดียจะสูง แต่จีนอยู่ในสถานะที่ดีกว่า เพราะมีการค้าขนาดใหญ่ และยังมีโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มากมายในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ส่วนใหญ่แล้วใช้เงินหยวน ส่วนอินเดียนั้นมีส่วนแบ่งในการค้าโลกต่ำ จึงยังต้องการเงินลงทุนจากสกุลที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะดอลลาร์
เขาระบุอีกว่า ยังไม่แน่ชัดว่าทรัมป์จะทำตามคำขู่มากน้อยแค่ไหน และยังมีคำถามอีกว่ากฎหมายอเมริกันอนุญาตให้แซงก์ชั่นประเทศใดประเทศหนึ่ง เพียงเพราะเลิกใช้ดอลลาร์หรือไม่ แต่เป็นที่รู้กันดีว่าทรัมป์ “ชอบเห่ามากกว่าจะกัดจริง ๆ”