
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดือนมีนาคม 2025 ถือเป็นการประชุมที่ถูกจับตามองค่อนข้างมากอีกครั้งหนึ่ง
เนื่องจากตลาดอยากจะเห็นความเคลื่อนไหวของเฟดว่าจะขยับตอบสนองอย่างไรต่อนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งมาพร้อมกับมาตรการภาษีศุลกากรที่แข็งกร้าวที่ผู้นำสหรัฐได้เริ่มดำเนินการอย่างดุเดือดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ประกาศจัดเก็บภาษีสินค้าจากทุกประเทศอย่างกว้างขวางไม่เว้นแม้แต่ประเทศพันธมิตร กระทั่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ
ถึงแม้การประชุมครั้งนี้ตลาดและนักลงทุนคาดหมายอยู่แล้วว่าจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เรื่องอัตราดอกเบี้ยของเฟด เพราะเฟดต้องการรอดูผลกระทบที่ชัดเจนจากนโยบายของทรัมป์ไปอีกระยะเสียก่อน แต่สิ่งที่นักลงทุนเฝ้ามองก็คือสัญญาณที่จะส่งออกมาเพื่อบ่งบอกว่าเฟดจะทำอะไรในอนาคต
การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการลงมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมที่ 4.25-4.5% โดยให้เหตุผลว่า “ความไม่แน่นอน” ที่มีต่อเศรษฐกิจสูงขึ้น พร้อมกันนี้ได้ปรับลดคาดการณ์ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2025 ลงสู่ 1.7% ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า 0.4%
ขณะเดียวกันปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 2.8% สูงขึ้นจากครั้งก่อนหน้า 0.3% อย่างไรก็ตาม เฟดส่งสัญญาณว่าจะยังคงลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปีนี้ตามเดิม
“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟดชี้ว่า โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง แต่บางอย่าง เช่น การบริโภคของผู้บริโภคมีสัญญาณอ่อนแอลง จากที่เคยแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ในส่วนของเงินเฟ้อนั้น นโยบายภาษีศุลกากรของรัฐบาลเพิ่มแรงกดดันต่อ “ความคาดหวัง” เงินเฟ้อ โดยความคาดหวังเงินเฟ้อระยะสั้นบางอย่างแสดงให้เห็นว่าขยับขึ้น
“เรากำลังเข้าใกล้จุดที่จะทำให้เงินเฟ้อมีเสถียรภาพ แต่ผมคิดว่าภาษีศุลกากรอาจทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้นในการทำให้เงินเฟ้อต่ำลงตามเป้าหมาย ภาษีศุลกากรมีส่วนทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อสูงขึ้น”
ประธานเฟดกล่าวและว่า เมื่อมองไปข้างหน้ารัฐบาลอยู่ในกระบวนการลงมือปฏิบัติตามนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลง 4 เรื่องสำคัญ คือ การค้า ผู้อพยพ นโยบายการคลังและการลดกฎระเบียบ ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบสุทธิที่จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและแนวทางนโยบายการเงินในอนาคต
ประธานเฟดอธิบายถึงสาเหตุที่ยังคงเป้าหมายการลดดอกเบี้ยอีกสองครั้งในปีนี้ ทั้งที่ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตน้อยลงแต่เงินเฟ้อสูงว่า หากกล่าวโดยทั่วไปสองสิ่งนี้ ซึ่งก็คือเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจเติบโตน้อยจะสามารถสร้างสมดุลชดเชยกันได้
ส่วนกรณีที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่อยู่นอกเฟด ได้ปรับเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจจะ “ถดถอย” สูงขึ้นนั้น จะเห็นว่ามีการปรับเพิ่มเพียงปานกลางเท่านั้น ไม่รุนแรงอะไร สำหรับเฟดเองไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะถดถอย
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง เช่น เจฟฟรีย์ โรช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ LPL ชี้ว่า การประเมินเกี่ยวกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของเฟดในรอบนี้ ที่มีการปรับลดจีดีพีแต่ขยับเงินเฟ้อสูงขึ้น จุดประกายให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเผชิญภาวะ Stagflation ซึ่งก็คือเงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจกลับเติบโตต่ำ เป็นภาวะที่ไม่สอดคล้องกัน “จะเห็นนักลงทุนกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับ Stagflation เพราะคาดการณ์ล่าสุดของเฟดเป็นไปในทางต่ำลง จะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ในระยะสั้น”
วิตนีย์ วัตสัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนตราสารหนี้ของโกลด์แมน แซกส์ แอสเซต แมเนจเมนต์ ระบุว่า การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของเฟดในรอบนี้ ค่อนข้างให้ความรู้สึกของ “Stagflation” เพราะเป็นการคาดการณ์สวนทางกันระหว่างเงินเฟ้อกับอัตราเติบโตเศรษฐกิจ
จิม คารอน หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของมอร์แกน สแตนลีย์ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ เชื่อว่าการประชุมเฟดในเดือนพฤษภาคม สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปจากตอนนี้ เพราะการเก็บภาษีแบบโต้กลับหรือเก็บมาเท่าไรก็เก็บกลับในอัตราเดียวกันกับทุกประเทศ (Reciprocal Tariffs) ของทรัมป์ จะเริ่มมีผลในต้นเดือนเมษายน
“สถานการณ์ในเดือนเมษายนจะมีความสำคัญอย่างมาก ๆ และเชื่อว่าโทนเสียงของเฟดจะเปลี่ยนไปในการประชุมครั้งหน้า ในวันที่ 7 พฤษภาคม นอกจากนั้นผมไม่คิดว่าจะมีข่าวดีมากนัก เมื่อผลประกอบการไตรมาส 1 เปิดเผยออกมา” คารอนกล่าวและว่า น่าจะได้เห็นการลดดอกเบี้ยเดือนมิถุนายน
นอกจากการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยแล้ว เฟดยังได้ประกาศลดความเร็วในการลดงบดุล ด้วยการลดการไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลจากเดือนละ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เหลือเพียง 5 พันล้านดอลลาร์ เริ่มในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งความหมายก็คือ ลดความตึงด้านนโยบายการเงินลงนั่นเอง เป็นเหตุให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวลง หลังจากเฟดออกแถลงการณ์
เจมี ค็อกซ์ ผู้จัดการร่วมของแฮร์ริส ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ชี้ว่าการชะลอความเร็วในการลดงบดุล เท่ากับว่าเฟดลดดอกเบี้ยทางอ้อมไปแล้ว เฟดมีหลายอย่างที่ต้องพิจารณาเพื่อสร้างสมดุลความเสี่ยง วิธีนี้เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด มันจะเป็นการปูทางไปสู่การหยุดการลดงบดุลในฤดูร้อนนี้
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐ ตอบสนองทางบวก ปรับขึ้นทุกกระดาน ถึงแม้เฟดจะทำนายเศรษฐกิจในทางต่ำลง เพราะนักลงทุนรู้สึกโล่งใจที่เฟดยังคงเป้าหมายที่จะลดดอกเบี้ยอีกสองครั้งในปีนี้
ขณะที่ ไบรอัน มอยนิฮัน ซีอีโอของแบงก์ ออฟ อเมริกา กล่าวว่า ถึงแม้ผู้บริโภคจะพูดว่าพวกเขามองเศรษฐกิจในด้านลบมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะเห็นว่าพวกเขายังใช้จ่ายเงิน ยังช็อปปิ้ง ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสามารถประคองตัวได้ดีกว่าที่คิด ดังนั้น เศรษฐกิจปีนี้น่าจะเติบโตได้ราว 2%
ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจผู้บริโภคจัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนกลางเดือนมีนาคม พบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 57.9 ลดลง 10% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์และต่ำกว่าที่ประเมินโดยดาวโจนส์ที่เชื่อว่าจะอยู่ที่ 63.2 ส่วนมุมมองเงินเฟ้อในระยะ 1 ปี พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 4.9% สูงที่สุดนับจากเดือนพฤศจิกายน 2022 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล