ถกภาษีเวียดนาม-สหรัฐ ทำไมผลลัพธ์ไม่ดีอย่างที่คาด

Vietnam-USA
FILE PHOTO: U.S. President Donald Trump arrives aboard Air Force One at Noi Bai International Airport in Hanoi, Vietnam November 11, 2017. REUTERS/Jonathan Ernst/File Photo
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

จนกระทั่งถึงตอนนี้ การเจรจาว่าด้วยเรื่องภาษีและการค้าระหว่าง “เวียดนาม” กับ “สหรัฐอเมริกา” ไม่เพียงไม่คืบหน้าไปด้วยดีอย่างที่คิด ยังกลับมีแนวโน้มว่า ทุกอย่างจะลงเอยด้วยผลลัพธ์ที่ย่ำแย่สำหรับประเทศเล็ก ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น ชนิดที่อาจทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียมากที่สุดจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้

สถานการณ์ดังกล่าวของเวียดนามเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ประเทศเล็ก ๆ ที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพียงแค่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางประเทศหนึ่ง แต่เวียดนามกลับได้เปรียบดุลการค้าเหนือสหรัฐอเมริกาอยู่มหาศาล เป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกามากที่สุดเป็นลำดับ 3 เมื่อเทียบกับทุกประเทศในโลก

ทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญที่สุดในการนำเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นในจีน เข้ามาประกอบภายในประเทศสำหรับส่งเป็นสินค้าออกไปขายให้กับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ด้วยอีกต่างหาก

ทั้งสองประการนี้กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ทรัมป์และคณะทำงานยึดถือเอาเวียดนามเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการดำเนินนโยบายภาษีในครั้งนี้

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงมากยิ่งขึ้นก็คือ เวียดนามไม่ได้มีความมั่งคั่งเหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นมี ทั้งยังไม่ได้มีอิทธิพลในระดับโลกเหมือนอย่างที่จีนมี และแม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน แต่อาเซียนเองกลับไม่ได้มีความร่วมมือซึ่งกันและกันในเชิงยุทธศาสตร์ที่แนบแน่น เหมือนอย่างที่สหภาพยุโรป (อียู) ต้นแบบในการรวมตัวกันของอาเซียน พยายามดำเนินการในการต่อรองทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา

พูดง่าย ๆ ก็คือ ในขณะที่เวียดนามกลายเป็นชาติที่ตกเป็นเป้าใหญ่ในสงครามภาษี เวียดนามเองกลับไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือใด ๆ ติดตัวอยู่เลย เมื่อต้องเจรจาต่อรองกับทางการสหรัฐอเมริกา

ADVERTISMENT

โต ลัม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ถือเป็นผู้นำต่างชาติรายแรก ๆ ที่ได้สนทนาโดยตรงกับทรัมป์ผ่านทางโทรศัพท์ เป็นการสนทนาที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาบรรยายไว้ว่า “เป็นผลดีมาก ๆ” พร้อมกับเปิดเผยว่า เวียดนามยินดีที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาลงเป็นศูนย์ ถ้าหากทั้งสองประเทศสามารถบรรลุความตกลงกันได้

เป็นเหตุให้ต่อมา ฝ่ายเวียดนามออกข่าวว่า โต ลัม เตรียมพบหารือกับทรัมป์ในอีกไม่ช้าไม่นาน โดยเวียดนามจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาทั้งหมด โดยหวังว่า สหรัฐจะตอบสนองในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าทรัมป์จะไม่เคยรับปากเช่นนั้นเลยก็ตามที

ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐ ยังคงออกมาต่อว่าต่อขานการดำเนินการของเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้นำเวียดนามเสนอจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาลงเป็นศูนย์นั้น ปีเตอร์ นาวาโร ที่ปรึกษาอาวุโสทางการค้าของประธานาธิบดี ทรัมป์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทันทีว่า

“ลองดูกรณีของเวียดนาม เมื่อพวกเขามาหาเราแล้วบอกว่า จะทำให้ภาษีเป็นศูนย์ นั่นไม่ได้มีความหมายใด ๆ กับเราเลย เพราะสิ่งสำคัญก็คือ การฉ้อฉลที่ไม่ใช่ภาษีต่างหากที่สำคัญ”

ตัวอย่างของ “การฉ้อฉล” ที่นาวาโรพูดถึงเอาไว้นั้น ถูกขยายความยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเอาไว้ว่า เช่น การเปิดทางให้สินค้าที่ผลิตในจีนเข้ามาสวมสิทธิเป็นสินค้าจากเวียดนาม เพื่อส่งออกมายังสหรัฐอเมริกา, การล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และปัญหาเรื่องการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมเจรจาทางการค้าของเวียดนามเดินทางไปยังวอชิงตันอีกครั้ง เพื่อเจรจาต่อรองให้ได้ความตกลง ที่จะส่งผลให้เวียดนามสามารถหลีกเลี่ยง ไม่ตกเป็นเป้าการขึ้นภาษีศุลกากรมหาศาลต่อสินค้าออกของเวียดนามจากทางสหรัฐอเมริกาในทันทีที่สิ้นสุดระยะเวลา “พัก” ชั่วคราว 90 วัน โดยนอกจากจะเสนอลดภาษีให้สินค้านำเข้าจากสหรัฐเป็นศูนย์

และรับปากจะจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น อาทิ เครื่องบินโดยสารจากโบอิ้ง และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แล้ว ยังกระตุ้นให้บริษัทสัญชาติเวียดนามซื้อสินค้าอเมริกันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

โดยกระทรวงกิจการการค้าของเวียดนามออกมาร้องขอต่อบรรดาโรงงานผลิตสินค้าภายในเวียดนามทุกแห่ง ช่วยกันซื้อสินค้าอเมริกันเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยปรับดุลการค้าให้สมดุลมากยิ่งขึ้น

การตกเป็นเบี้ยล่างในการเจรจาการค้าและภาษีของเวียดนาม สะท้อนออกมาให้เห็นจากการที่บรรดาผู้นำระดับสูงของเวียดนามออกมาโจมตีสหรัฐอเมริกามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่มาของภาษีตามนโยบายของทรัมป์ พร้อมกันนั้น ก็แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการที่ประเทศอย่างเวียดนามตกเป็น “เครื่องมือ” ของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ซึ่งทำให้ก่อนหน้าที่จะมีการเจรจาต่อรองกันเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยทางการเวียดนามออกมาโจมตีภาษีของทรัมป์ตรง ๆ ว่า “ไม่เป็นเหตุเป็นผล” นายกรัฐมนตรี ฟาม มินห์ ชินห์ ออกมาสำทับซ้ำว่า ภาษีทรัมป์เป็นอันตรายต่อ “ห่วงโซ่อุปทาน” ของโลก ทำให้ประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกอย่างเวียดนามต้องเผชิญกับ “สถานการณ์คุกคาม”

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีเวียดนามตระหนักเป็นอย่างดีว่า นโยบายภาษีของทรัมป์สามารถทำลายโมเดลเศรษฐกิจของเวียดนามไปทั้งหมด บีบบังคับให้เวียดนามต้องหาตลาดทางเลือกเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย หรือส่วนอื่น ๆ ของโลก ซึ่งเวียดนามไม่ได้มีการเตรียมการไว้พร้อมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

นายกรัฐมนตรีเวียดนามอ้างว่า การเจรจาทวิภาคีระหว่างคณะของเวียดนาม กับ เจมีสัน เกรีย ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาและคณะดำเนินไปด้วยดี กระนั้น เวียดนามก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องการจากสหรัฐอเมริกา แม้จะ “ทุ่มสุดตัว” เพื่อแลกให้ได้มาก็ตาม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการยอมรับจากสหรัฐอเมริกา ว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่นำโดยตลาด (Market Economy) ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อย่างที่สหรัฐยึดถืออยู่ในเวลานี้

คณะทำงานของทรัมป์เตรียมแบ่งกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 18-20 ประเทศ โดยทุกชาติในแต่ละกลุ่มจะใช้ความตกลงการค้ากับสหรัฐอเมริกาฉบับเดียวกัน เป้าหมายก็เพื่อโดดเดี่ยวจีนให้ได้ในที่สุด ปัญหาของเวียดนามในกรณีนี้ก็คือ บรรดาผู้สันทัดกรณี ฟันธงตรงกันว่า เวียดนามไม่น่าจะถูกจัดรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มใด ๆ เหล่านั้นได้เลย ทั้งจากลักษณะทางเศรษฐกิจ และความใกล้ชิดกับจีนในเชิงภูมิศาสตร์กับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคต่อพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกัน

ซึ่งนั่นหมายความว่า เวียดนามกำลังสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะหากไม่สามารถบรรลุความตกลง “พิเศษ” กับสหรัฐอเมริกาได้ ก็อาจกลายเป็นประเทศที่ “ตกขบวน” ไปเลยในสงครามการค้าและภาษีหนนี้