วิกฤต “เวเนซุเอลา” ยังหนัก เสี่ยงเข้าสู่ภาวะ “รัฐล่มสลาย”

เศรษฐกิจ “เวเนซุเอลา” กำลังเข้าสู่ขั้นโคม่าจากปัญหาเงินเฟ้อในระดับรุนแรง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เวเนซุเอลาอาจกลายเป็น “รัฐล่มสลาย” หากผู้นำไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารประเทศ

รายงานข่าวบีบีซีตั้งคำถามว่า เวเนซุเอลา จากประเทศเศรษฐีน้ำมันและรุ่งเรืองที่สุดในอเมริกาใต้ กำลังจะเป็นรัฐล่มสลายหรือไม่ ? หากปัญหาอีนุงตุงนังของ “เงินเฟ้อ” ไม่มีวันสิ้นสุด

ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาจะยังคงรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะพุ่งถึง 1,000,000% ปลายปีนี้ หรือ ปี 2019 จากปัจจุบันอยู่ที่ 82,766% เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหากเทียบกับปี 2014 อยู่ที่ 69% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในโลกเวลานี้

ไอเอ็มเอฟ วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาต้องทรุดหนัก ว่าเป็นผลพวงจากการบริหารที่เน้น “ประชานิยม” เป็นเวลานาน อีกทั้งรัฐบาลยังเข้าไปแทรกแซงตลาด บิดเบือนราคาสินค้ามาตลอด

รายงานระบุว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลเวเนซุเอลา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ที่ชัดเจนมีเพียงการนำธนบัตรสกุลเงินใหม่ที่เรียกว่า “sovereign bolivar” (เลขศูนย์ลดลง 5 ตัว) ป้อนเข้าสู่ระบบเมื่อสัปดาห์ก่อน และการประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นกว่า 3,000% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ประชาชนมีเงินเพียงพอในการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม นายลูอิส บีเซนเต ลีออง นักเศรษฐศาสตร์กลับมองว่า ราคาสินค้าที่มีราคาแพงอยู่แล้ว การปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรง และพิมพ์ธนบัตรอัดเข้าระบบมากขึ้นอีก จะยิ่งทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นตาม ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้แทบไม่ได้ช่วยอะไร ขณะเดียวกัน สินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกอย่างยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องมือการแพทย์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในโรงพยาบาล

ขณะที่รอยเตอร์สรายงานว่า ทั่วประเทศกำลังขาดแคลนยาที่จำเป็นมากถึง 90% ส่วนยาที่มีอยู่ก็ราคาสูงขึ้นถึง 75% ส่งผลให้มีผู้ป่วยอย่างน้อย 13,000 ราย ไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินเมื่อปี 2017 คาดว่าในปีนี้จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลน่าจะสูงขึ้นเกือบ 1 เท่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และไม่เชื่อมั่นว่าประธานาธิบดีมาดูโรจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนแห่อพยพออกนอกประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยปัจจุบันราว 90% ของประชาชนชาวเวเนซุเอลามีรายได้ต่ำอยู่ในเกณฑ์ “ยากจน” โดยมากกว่า 60% ยอมรับว่าในแต่ละวันดำเนินชีวิตด้วยความหิวโหย ไม่สามารถซื้อหาอาหารตามท้องตลาดได้เพียงพอเนื่องจากมีราคาแพง

ขณะที่สหประชาชาติ (UN) ระบุว่าปัจจุบันมีชาวเวเนซุเอลาอพยพออกนอกประเทศแล้วกว่า 2.3 ล้านคน และคาดว่าในปี 2020 จำนวนผู้อพยพอาจมากถึง 4 ล้านคนหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐยืนยันว่า ปัจจุบันชาวเวเนซุเอลาที่เข้ามาติดต่อเพื่อทำ “พาสปอร์ต” เพิ่มขึ้นมาก เฉลี่ยวันละ 5,000 ราย นับตั้งแต่ที่รัฐบาลเปรูเพิ่มมาตรการความเข้มงวดรับผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาที่พยายามข้ามพรมแดน ต้องระบุตัวตนด้วยการแสดงพาสปอร์ตเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้วิธีการแสดงบัตรประชาชนได้ อีกทั้งรัฐบาลชาติเพื่อนบ้าน เช่น สเปนและชิลี เตรียมจะประกาศใช้มาตรการนี้เช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจากนิวยอร์ก กล่าวว่า สิ่งที่บ่งชี้ได้ชัดว่าประชาชนไม่ต้องการจะอยู่ในประเทศอีกต่อไปคือ จำนวนผู้ที่ต้องการทำพาสปอร์ตที่มากขึ้น ซึ่งพาสปอร์ตกำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญและมีค่าที่สุดของชาวเวเนซุเอลาในเวลานี้ แม้ว่าการรอรับเอกสารจะต้องรอคอยถึง 3 เดือน หรือนานสุดเกือบ 1 ปี เพราะขาดวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเอกสาร ทั้งหมึกพิมพ์ กระดาษ อีกทั้งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะปรับเพิ่มราคาอีก 10 ล้านโบลิวาร์สำหรับพาสปอร์ตลอตใหม่เร็ว ๆ นี้

พร้อมเตือนว่า รัฐบาลมาดูโรต้องเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นรัฐล่มสลาย โดยให้เลือกใช้สกุลเงินต่างชาติเข้ามาช่วยหนุนระบบการเงินประเทศให้มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ปัญหาของเวเนซุเอลาคือ รัฐบาลมีแนวคิดสังคมนิยม และมองว่าระบบตลาดเสรีเป็นความจ้องเอาเปรียบ