วิกฤต “อินเดีย-ปากีสถาน” โลกระทึก…หวั่นแนวรบขยายวง

ข้อพิพาทขัดแย้งระหว่างปากีสถานกับอินเดียที่ปะทุขึ้นรอบใหม่ ทำให้นานาประเทศวิตกจะบานปลายกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ การเมืองโลก

ย้อนรอยวิกฤต “อินเดีย-ปากีสถาน” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1947 โดยแคว้นแคชเมียร์ และชัมมู กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกแย่งชิงของสองชาติมาตลอด ชนวนความขัดแย้งตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2562 จากเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในแคชเมียร์ กระทั่งยกระดับความรุนแรงขึ้น หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างโจมตีทางอากาศเพื่อแสดงความไม่พอใจ

สถานการณ์ดังกล่าวตึงเครียดหนัก ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในธุรกิจการบิน หลังรัฐบาลปากีสถานสั่งปิดน่านฟ้าชั่วคราว ส่วนทางการอินเดียก็สั่งปิดสนามบินทางตอนเหนือของประเทศทั้งหมด 9 แห่ง ชั่วคราวเช่นเดียวกัน

ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมทางอากาศ เนื่องจากสายการบินจำนวนมากต้องระงับการบินเข้าปากีสถาน และสั่งระงับเส้นทางบินไปยังประเทศในแถบเอเชียใต้ทั้งหมด ขณะที่สายการบินอีกบางส่วนต้องปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงน่านฟ้าอินเดีย-ปากีสถาน แต่การเปลี่ยนรูตการบินทำให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ล่าสุดบีบีซีรายงานว่า หลายประเทศทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียและปากีสถาน หันหน้ามาเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งโดยเร็วที่สุด

โดยสหรัฐอเมริกาเตือนให้หยุดปฏิบัติการทางทหารเพื่อโต้ตอบและข่มขู่กัน ขณะที่ทางการจีนแสดงความกังวลว่า ผลลัพธ์ที่ร้ายแรงจะไม่ใช่แค่ระหว่างพรมแดนเท่านั้น แต่อาจขยายเป็นวงกว้างในระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมของตุรกี และรัสเซีย ได้เรียกร้องให้พรมแดนของอินเดียกับปากีสถานมีความสงบ และมองว่าเอเชียใต้กำลังมีภัย เพราะทั้ง 2 ชาติต่างก็เป็นผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

นางเฟดเดอรีกา โมกรีนี หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวถูกสะสมมานาน และไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และชี้ว่า ความขัดแย้งนี้กำลังบั่นทอนภาพลักษณ์ต่อนานาชาติ


ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน แม้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาของเอเชียใต้ แต่เนื่องจากถูกสั่งสมมานาน ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะข้อพิพาทเกี่ยวกับพรมแดน จึงอาจทวีความรุนแรงกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ทั่วโลกต้องเฝ้าระวัง